รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 2 ทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง บนเส้นทางสู่พื้นที่มรดกโลก

รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 2 ทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง บนเส้นทางสู่พื้นที่มรดกโลก

ผู้เขียนได้ชักชวนสืบให้เข้ามาช่วยกันสำรวจ ศึกษาและจัดทำข้อมูล เสนอต่อคณะกรรมการอนุสัญญามรดกโลก หลังจากที่สืบกลับเข้ามาทำงานที่ฝ่ายวิชาการเมื่อ พ..2526 ซึ่งสืบก็ได้พยายามเจียดเวลาและเดินทางไปปฏิบัติงานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งบ่อยขึ้น

ปีพ..2528 เริ่มมีผู้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการอนุสัญญามรดกโลกเดินทางเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปประกอบในการพิจารณาที่ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา พร้อมรายชื่อพื้นที่ซึ่งจะเสนอขึ้นทำเนียบมรดกโลกแนบไปด้วย ในการนี้ UNEP ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลีย 2 คน คือ นาย Dan Prince และ Bill Jones เดินทางมาประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2528 และนายไพโรจน์ สุวรรณกร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ สั่งให้ดำเนินการนำผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเข้าพื้นที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ ในการนี้ผู้เขียนได้นำผู้เชี่ยวชาญเดินทางโดยรถยนต์ ไปถึงห้วยขาแข้งและพบสืบ ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำก่อน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ได้มีการบรรยายข้อมูลของพื้นที่และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ รวมทั้งวางแผนการบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ เข้าไปในทุ่งใหญ่ในระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2528

วันที่ 19-20 มีนาคม เป็นช่วงเวลาสำคัญที่อยู่ในความทรงจำของผู้เขียนมาโดยตลอด เมื่อมีการนำผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนเดินทางไปยังห้วยขาแข้งโดยเฮลิคอปเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 19 โดยสืบรอรับอยู่ที่ สำนักงานเขตฯห้วยขาแข้ง และนำขึ้นบินพร้อมกับบรรยายประกอบให้ผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนที่ไปรออยู่แล้ว รวมทั้งหมดประมาณ 10 คน โดยบินผ่านสถานที่สำคัญของห้วยขาแข้งหลายแห่งคือขึ้นไปทางกะปุกกะเปียง แล้วลงมาตามลำห้วยขาแข้ง ผ่านโป่งนายสอ เขาบันได กรึงไกร จนถึงบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์แล้วกลับมาทางห้วยไอ้เยาะและเขานางรำ ส่วนเที่ยวที่ 2 เป็นคณะเจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์ รวม 9 คน ขึ้นไปบินสำรวจพื้นที่
.

นกยูง บริเวณสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ l Photo สืบ นาคะเสถียร

.
วันที่ 2 ของการบินคือวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งเป็นการบินเข้าทุ่งใหญ่นั้น นักบิน (กัปตันกำจิตต์) พาบินข้ามเขาหินแดงเข้าไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตอนเหนืออันเป็นส่วนที่เข้าถึงยากเพื่อถ่ายภาพแอ่งน้ำที่เกิดจากหลุมยุบบนภูเขา แต่เมื่อไปถึงจุดหมายตามแผนที่ ไม่สามารถหาแอ่งน้ำดังกล่าวได้ แม้จะบินวนอยู่หลายรอบก็ไม่พบ จนเกรงว่าจะหลงเข้าไปในเขตพม่า จึงตกลงจะบินเข้าทุ่งใหญ่แทน ผู้เขียนเป็นเพียงผู้เดียวในคณะที่เคยเข้าทุ่งใหญ่ทางรถยนต์มาก่อน จึงขออาสาเป็นผู้นำทาง โดยขึ้นไปนั่งคู่กับนักบินแทนนักบินผู้ช่วย นำบินตัดมาทางตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์และเห็นลำน้ำแควใหญ่ จึงบินเลียบแควใหญ่ผ่าน บริเวณหัวงานที่เคยได้มีการปรับพื้นที่เตรียมการสร้างเขื่อนน้ำโจน แล้วจึงลัดเลาะไปตามเส้นทางขนแร่ ผ่านที่ทำการเขตฯทุ่งใหญ่ (ห้วยซ่งไท้) ในขณะนั้น ผ่านห้วยดงหวี่ที่งดงาม ขึ้นบนที่ราบสูงผ่านศาลพระฤาษี ซึ่งเป็นทางผ่านเข้าตัวทุ่งใหญ่ที่มีต้นปรงขนาดใหญ่อายุเกินร้อยปี ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในทุ่งจนไปถึงบริเวณกลุ่มภูเขาที่ผู้เขียนเคยเดินเท้าจากบริเวณนี้ที่เรียกว่าไรชิกง เข้าไปพักแรมในทุ่งใหญ่และพบฝูงกระทิงมาก่อนแต่ไม่สามารถถ่ายรูปได้

เฮลิคอปเตอร์บินเหนือภูเขาไปตามเส้นทางเดินเท้าไม่นานก็ถึงบริเวณที่หัวหน้าเขตฯทุ่งใหญ่ (นายวีรวัฒน์ ธีรประสาท) เคยนำผู้เขียนมากางเต็นท์พักแรมหน้าเขาไรชิกง เมื่อมีนาคม 2524 ตอนแรกมีความตั้งใจจะนำผู้เชี่ยวชาญดูความกว้างใหญ่ไพศาลของบริเวณทุ่งใหญ่ แต่พอบินไปได้สักพักก็สังเกตเห็นวัตถุดำๆ ในทุ่งที่มองเหมือนตอไม้มีการเคลื่อนไหวได้ เมื่อเข้าไปใกล้จึงเห็นเป็นกระทิงฝูงใหญ่เริ่มรวมฝูงมาเป็นกลุ่มเดียวกันและวิ่งหนีเครื่องบิน จึงขออนุญาตนักบินเพื่อขอให้ผู้เชี่ยวชาญคือนาย Bill Jones ได้ขึ้นมานั่งข้างหน้าแทน เพราะเป็นจุดที่ดีที่สุดในการบันทึกภาพ ส่วนคนอื่นๆ ก็พยายามหาจุดที่เหมาะสมของตนเองและอุปกรณ์ประจำตัว สืบนั้นมีกล้องวิดีโอเล็กๆ เป็นคู่มือ ส่วนผู้เขียนใช้กล้องถ่ายรูปติดซูม หลังจากนักบินได้พยายามบินตีอ้อมให้บันทึกภาพไปหนึ่งรอบ ก็เห็นว่าการบันทึกภาพผ่านกระจกหน้าต่างคงไม่ได้ภาพที่ดี จึงขอให้ผู้ช่วยนักบินช่วยเปิดประตูเครื่องบินเพื่อจะได้ภาพที่ชัดเจนกว่า แต่ก็ยังมีปัญหาจากการบันทึกภาพด้วยมือข้างเดียว เพราะจำเป็นต้องใช้อีกมือคอยยึดตัวเองไว้เพื่อไม่ให้ตกจากเครื่องบินสักพักหนึ่งสืบก็บอกกับผู้เขียนว่าผมช่วยพี่ดีกว่า
.

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร l Photo สืบ นาคะเสถียร

.
ด้วยความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ผู้เขียนจึงนอนคว่ำลงกับพื้นเครื่องบิน ตรงบริเวณประตู ใช้ขาขวาเกี่ยวไว้กับขาที่นั่งในเครื่องบินด้านขวา และขอให้สืบช่วยจับข้อเท้าซ้ายไว้ ตัวสืบจึงนั่งบนพื้น ใช้ขาเกี่ยวไว้กับขาที่นั่งด้านซ้าย โน้มตัวใช้มือทั้งสองคอยจับข้อเท้าซ้ายผู้เขียนไว้แน่น ด้วยอุ้งมือที่แข็งแรงของสืบ ทำให้ผู้เขียนมีความมั่นใจ สามารถใช้สองมือกับกล้องถ่ายรูป และบันทึกภาพได้โดยไม่ต้องกังวลมาก แม้บางครั้งเครื่องบินจะบินตีวงเพื่อให้เห็นภาพที่ดีที่สุด และพื้นเครื่องบินที่นอนคว่ำอยู่จะเอียงมากๆ ก็ เพียงแต่คิดในใจว่าถ้ากล้องหลุดมือก็จะไม่ไขว่คว้าหรือพยายามตะปบโดยจะปล่อยให้ตกไปแต่กล้อง เป็นการเตือนสติตัวเอง

ระหว่างที่ทำการบันทึกภาพก็ได้สังเกตพฤติกรรมของกระทิงฝูงนี้ซึ่งมีประมาณ 50 ตัวไปด้วยตั้งแต่ถูกเครื่องบินขับไล่ตาม กระทิงจะวิ่งหนีไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีตัวใหญ่ๆ ผลัดกันเป็นผู้นำฝูง บรรดาลูกๆ หรือตัวเล็กๆ จะวิ่งอยู่บริเวณกลางฝูง โดยมีตัวโตล้อมไว้เมื่อเครื่องบินผ่านไปก็จะหยุดพักเหนื่อยในรูปฝูงเช่นเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปและโดนขับหลายรอบจะแสดงอาการเครียด บางตัวเริ่มวิ่งทำท่าจะออกนอกกลุ่ม ตัวโตๆ ที่อยู่ข้างๆ ก็ต้องรีบวิ่งออกไปสกัดต้อนมาเข้าฝูงใหม่ พวกเราจึงหยุดการบันทึกภาพและไปเชิญผู้เชี่ยวชาญกลับไปนั่งที่เดิม เพื่อให้ผู้ช่วยนักบินเข้าประจำที่ นำกลับไปที่ทำการเขตห้วยขาแข้ง ก่อนเดินทางกรุงเทพฯ ในเวลาเดียวกัน
.

.
ในช่วงเวลาต่อจากนั้นสืบสามารถสร้างทีมงานในการศึกษา สำรวจ รวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายที่สำคัญของทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นวนศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในบริเวณนั้น คือ นพรัตน์ นาคสถิตย์ วีรวัธน์ ธีรประสาส์น และ เอิบ เชิงสะอาด รวมทั้งนักวิชาการที่มีงานวิจัยอยู่ในท้องที่ เช่น ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ นริศ ภูมิภาคพันธ์ รวมทั้ง Belinda Steward Cox นักวิจัยชาวอังกฤษ ทำให้มีการเดินป่าสำรวจหาข้อมูลในบริเวณป่าทั้งสองแห่งอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการเดินสำรวจไปมาระหว่างป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่หลายคณะและหลายรอบทำให้ได้ภาพสัตว์ป่าที่หายาก เช่น ควายป่า เสือชนิดต่างๆ รวมทั้งธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นหลายแห่ง ก็ได้มีการสำรวจและบันทึกภาพไว้ได้มากมาย แม้ว่าในปี 2529 สืบจะมีภารกิจที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ทีมงานชุดนี้ก็ยังคงทำการศึกษาและเก็บข้อมูลต่างๆในพื้นที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง

.
อ่าน รำลึกถึง สืบ(ยศ) นาคะเสถียร ตอนที่ 3 การช่วยเหลือสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน

 


ผู้เขียน นายจิระ จินตนุกูล เกิดเมื่อเดือนมกราคม 2487 และศึกษาระดับประถม / มัธยมที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ปริญญาตรี (วน.บ.) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ.2510)
ปริญญาโท (M.S.) จาก University of Tennessee U.S.A. (พ.ศ.2517)
นักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติไทย (พ.ศ.2508 – 2514)
รับราชการ (พ.ศ.2510 – 2547)
หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยสัตว์ป่า สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจ และพัฒนาการจัดการป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้