“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 3

“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 3

“เราเคยช่วยชะนีแม่ลูกมาไว้ได้
แต่สิ่งที่เราทำไม่ได้คือไม่สามารถให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกินได้”


ในปี 2529 ได้มีโครงการใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้ป่าดงดิบผืนใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงจำนวนแสนกว่าไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นทะเลสาบ ความลึกเกือบ 100 เมตร บริเวณที่เคยเป็นเนินเขาและภูเขาก็ถูกตัดขาดโผล่พ้นน้ำกลายเป็นเกาะน้อยใหญ่จำนวนถึง 162 เกาะ ส่งผลให้มีสัตว์ป่าจำนวนมากกว่า 300 ชนิด อาทิ เลียงผา สมเสร็จ ชะนี ค่าง เสือลายเมฆ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า ที่หนีน้ำไม่ทันต้องติดตามเกาะ หรือหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามยอดไม้ รอวันตายเพราะขาดแคลนอาหาร

ภารกิจของโครงการฯ คือ อพยพสัตว์เหล่านี้ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย สืบ นาคะเสถียร  ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากกรมป่าไม้ให้เป็นหัวหน้าโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า

“โครงการอพยพสัตว์ป่าที่นี่ถือเป็นการทำครั้งแรกในเมืองไทย เราเริ่มตั้งแต่การสำรวจสภาพป่าและสัตว์ว่ามีอยู่กี่ชนิด ไปจนถึงเตรียมการอพยพสัตว์ซึ่งไม่เคยทำกันมาก่อน แต่ก็พยายามจะทำให้ได้มากที่สุด สมมุติว่ามีสัตว์ติดบนเกาะ 100 ตัว เราพยายามที่จะช่วยชีวิตมันไว้ทั้ง 100 ตัว ถ้าเราไม่ช่วย มันตายแน่ๆ …ไปไหนไม่ได้แล้ว สัตว์หลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ ยิ่งถ้าเราไม่ช่วยมัน พวกพรานมีปืนทั้งหลายต้องถือโอกาสล่ากันสนุกมือ …ผมเชื่อว่าการก่อสร้างเขื่อนในสมัยก่อน คงมีสัตว์ที่หนีน้ำไม่ทัน ตายเป็นจำนวนมากแน่ๆ”

เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย การช่วยชีวิตสัตว์จึงเริ่มต้นจากการคัดคนที่ใกล้ชิดกับสัตว์ ตั้งแต่สัตวบาลไปจนถึงนายพรานที่ชำนาญในการดักสัตว์ พาคนเหล่านี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และศึกษาว่าต่างประเทศจับสัตว์กันอย่างไร จากหนังสือและวิดีโอรายการ “ซิงเกอร์ เวิลด์” ซึ่งมีสารคดีการช่วยชีวิตสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนที่ประเทศเวเนซุเอลา

ในแต่ละวันภารกิจของพวกเขาคือนำเรือออกตระเวนไปตามต้นไม้สูงๆ ที่กำลังยืนต้นตายกลางทะเลสาบ หากเจอชะนีหรือค่างติดอยู่บนยอดไม้ พวกเขาจะนำเรือเข้าไปใกล้ ทำทุกอย่างตั้งแต่ส่งเสียง พุ่งเรือชนต้นไม้ ไปจนถึงเลื่อยต้นไม้ให้โค่นลงมา เพื่อให้สัตว์ตกใจกระโดดลงน้ำ จะได้ว่ายไปจับสัตว์เหล่านั้นได้

หากแล่นไปเจอเกาะก็ขึ้นไปข้างบนเกาะ เอาตาข่ายขึงพาดกลางเกาะแล้วแบ่งคนเป็นสองฝ่าย ส่งเสียงดังตั้งแต่ท้ายเกาะ เพื่อไล่ต้อนสัตว์ให้ตกใจวิ่งหนีมาชนตาข่ายที่ขึงไว้ ซึ่งมักได้สัตว์อย่างกระจง กวาง เลียงผา

ไสว วังหงษา หัวหน้าส่วนวิจัยสัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ลูกทีมคนหนึ่งเล่าเหตุการณ์เมื่อสิบกว่าปีก่อนให้ฟังว่า

“เรามีความกดดันหลายอย่าง เครียดมาก บางคนว่ายน้ำไม่เป็น บางครั้งไม่รู้พื้นที่ แต่อะไรที่คนงานทำ พี่สืบก็ทำ บางครั้งเราลอยคอไปจับสัตว์ด้วยกันในน้ำ พี่สืบจะมองตลอดเวลาว่า ในแต่ละวันที่ผ่านไป สัตว์มันทรมานทุกวินาที เพราะต้นไม้ที่เคยเขียว พอน้ำท่วมมันก็จะค่อยๆตาย สัตว์ที่ติดเกาะยิ่งวันน้ำยิ่งขึ้น พื้นที่ยิ่งบีบ ก็จะยิ่งอดอยาก เพราะฉะนั้นต้องทำงานทั้งกลางวันกลางคืน พี่สืบแกรับผิดชอบสูงเลยทำทั้งกลางวันกลางคืน แกมักพูดเสมอว่า เมื่อใดเราช้าไปชั่วโมงหนึ่ง สัตว์หลายตัวอาจจะตาย”

“มีครั้งหนึ่งผมจำได้แม่น มีค่างติดที่เกาะแห่งหนึ่ง พื้นที่ไม่ถึง 2 ไร่ เป็นภูเขา ต้นไม้ก็ตายไปเรื่อยๆ รากมันเน่า เราพยายามหลายครั้งที่จะจับค่าง บีบพื้นที่ให้เล็กลง เราเสียเวลาเกือบทั้งวัน ทำอย่างไรก็ไม่ได้ ผมเข้าใจว่าพี่สืบแกคงมองว่าถ้าปล่อยไว้ต่อไปมันต้องอดอาหารตาย วันนั้นแกเลยยิงค่างตัวนั้นตายด้วยมือของแกเอง ถ้าอยู่ไปก็ทรมาน แกเลือกที่จะให้มันไปสบาย ผมรู้ว่าแกเสียใจ พวกเราก็เสียใจ”

ครั้งหนึ่งผมได้ล่องเรือไปกับพี่สืบ  เพื่อสังเกตการณ์การอพยพสัตว์ป่าเมื่อปลายปี 2529 วันหนึ่ง ขณะที่เราผูกเรือกับตอไม้กลางทะเลสาบ เพื่อเข้าช่วยชีวิตชะนีตัวหนึ่ง ปรากฏว่างูจงอางสีดำมะเมื่อมขนาดข้อมือยาวร่วม 3 เมตร พุ่งทะยานออกมาจากโพรงในตอไม้ ทุกคนบนเรืออ้าปากค้างด้วยความตกใจ และโล่งอกเมื่องูจงอางพุ่งลงน้ำ

หากใครโดนงูกัดคงไม่มีทางรอดแม้งูจงอางไม่ใช่งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก แต่ปริมาณพิษของมันมากพอที่จะทำให้ผู้ถูกกัดตายได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง และระยะทางจากที่เกิดเหตุไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง

“ตามมันไป จับในให้ได้” หัวหน้าโครงการฯ สั่งการทันทีพร้อมเสียงสตาร์ตของเครื่องยนต์ที่เร่งเครื่องสุดกำลังดังกระหึ่มขึ้น งูเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเร็วมากโดยเฉพาะจงอางที่พลิ้วน้ำได้ดี เราขับเรือคู่ขนานไปกับจงอาง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งตวัดสวิงขนาดใหญ่ที่มีด้ามยาวเป็นพิเศษตักงูไว้ แต่ความยาวของงูก็ทำให้เกิดปัญหา ขณะกำลังจะยกสวิงเข้ามาในเรือ จงอางสะบัดตัวอย่างแรงพุ่งออกจากสวิงอีกครั้ง ตกลงน้ำเฉียดเรือไปนิดเดียว พวกเราทุกคนถอนหายใจอีกเฮือกหนึ่งกับการผจญภัยที่ใกล้ความตายเข้าไปทุกที

สืบไม่ละความพยายาม เขาบอกว่า หากไม่ช่วยชีวิตงูก็ตายเพราะไม่มีทางว่ายไปถึงฝั่งที่ห่างไกลได้ มันจะหมดแรงตายเสียก่อน คราวนี้เมื่อเรือแล่นไปทันมัน เราสามารถใช้สวิงจับมันขึ้นมาอยู่บนหัวเรือได้สำเร็จ

คราวนี้ทุกคนมองหน้ากันเลิกลั่กใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูพิษยัดใส่กระสอบ…ยังไม่ทันไรสืบก็ใช้มือกดหัวจงอาง เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดสวิงอย่างแรงพร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใสๆไหลเยิ้มออกมาจนหมด จากนั้นพวกเราช่วยกันจับงูออกจากสวิงยัดใส่กระสอบ ใช้เชือกมัดปากกระสอบไว้อย่างแน่นหนา

หลังจากนั้นไม่นาน สืบก็บอกพวกเรา “ผมก็เพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต”

สืบ นาคะเสถียร อาจจะใช้ลูกน้องในการทำงานเสี่ยงตายครั้งนี้ก็ได้ แต่เขาก็ไม่ทำเช่นนั้น ลูกน้องทุกคนรู้ดีว่า หากงานใดเป็นงานเสี่ยงอันตราย เขาจะเป็นคนแรกที่ลงมือ และเป็นเช่นนี้จนถึงการทำงานครั้งสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้ง

วาที เจ้าหน้าที่โครงการผู้หนึ่งพูดถึงหัวหน้าสืบว่า “เขาเป็นคนจริงจัง มีความตั้งใจ โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยของตัวเอง มีความรู้สึกว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำโดยไม่คำนึงถึงเวลา สถานที่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน มีความตั้งใจสูงเห็นความเดือดร้อนของสัตว์มากกว่าความเดือดร้อนหรือความลำบากที่ตนเองจะได้รับ งานแทบทุกงานเขาไม่เคยนั่งดูคนอื่นทำ เขามักจะเข้าไปทำเสมอ เจอสัตว์กำลังว่ายน้ำ พวกกระรอก ค่าง ชะนี เขากระโดดลงน้ำเอง สัตว์ที่อันตรายอย่าง เสือ งู เขาจะทำเอง เพราะเขาพูดว่าเขาเป็นผู้นำ เขาทำไม่ได้คนอื่นก็จะไม่มั่นใจ แต่ถ้าผู้นำทำงานหนัก ทำงานที่ลำบาก ทุกคนจะตั้งใจทำงาน มีกำลังใจมากขึ้น หัวหน้าเสียสละได้ ทุกคนก็เสียสละได้… ผมภูมิใจนะที่ได้ทำงานกับเขา เป็นผู้บังคับบัญชาที่ไม่เอาเปรียบลูกน้อง ไม่เคยเอาความดีความชอบใส่ตัว ไม่มีนายมีแค่เพื่อนร่วมงาน ไม่เลือกว่าคนนั้นจะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน ไม่มีใครจริงจังและจริงใจเท่าเขาเลย”

หน้าที่หลักของสืบในโครงการนี้คือการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่า แต่หลายครั้งที่ผมได้เห็นสืบเอาเรือออกไปลอยลำในอ่างเก็บน้ำ ฟังเสียงปืน คอยดักจับพวกล่าสัตว์ที่แฝงเข้ามาในรูปของนักจับปลา บางครั้งก็เข้าไปจับกุมพวกลักลอบตัดไม้ในบริเวณนั้น สืบพูดให้ฟังเสมอว่า เขาอยากทำงานช่วยชีวิตสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่พอมาเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายแล้วอดไม่ได้ เขาคิดเสมอว่างานคนอื่น แต่คนอื่นไม่ทำ เขาจึงต้องทำแทน บางครั้งก็ท้อใจว่าทำเพื่อส่วนรวม จับไม้อย่างเคร่งครัด แต่ถูกหาว่าไปล้ำเส้นหน่วยงานอื่น

สองปีผ่านไป โครงการอพยพสัตว์ป่าสามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้ 1,364 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าพอใจแต่เทียบไม่ได้กับสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่จมน้ำตาย อดอาหารตาย จากการสร้างเขื่อนครั้งนี้ และสัตว์จำนวนหนึ่งที่ช่วยมาได้ก็ตายระหว่างการรักษาพยาบาล

“เราเคยช่วยชะนีแม่ลูกมาไว้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้คือ ไม่สามารถให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกินได้ ลูกมันก็ร้อง แม่ชะนีพยายามเอาลูกออกจากนม ผมคิดว่าตัวเมียคงเครียด พี่สืบไปโรงพยาบาลไปขอนมเลี้ยงเด็กมาชงให้ลูกชะนีกินสุดท้ายลูกชะนีก็ตาย” ไสวเล่าให้ฟังต่อว่า

“พี่สืบมักจะบ่นเสมอว่า ทำอย่างไรเราจะช่วยสัตว์ได้มากกว่านี้ แต่แกไม่เคยพูดถึงปัญหาอะไรให้ฟัง ถ้ามีปัญหาอะไร สิ่งที่แกจะแสดงออกคือการเงียบ สูบบุหรี่มวนต่อมวน ไม่เคยโวยวายกับเพื่อนร่วมงานเลย”

สืบเขียนบันทึกการอพยพสัตว์ป่าไว้ว่า “นอกจากสัตว์ป่าที่น่าสงสารเหล่านี้จะต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมแล้วยังต้องเผชิญกับมนุษย์ที่เห็นแก่ได้บนความทุกข์ยากของสัตว์ป่า ที่คอยจ้องไล่ล่าสัตว์ป่าเหล่านั้นโดยไม่สำนึกถึงบาปกรรม เสียงปืนที่ดังก้องกังวานอยู่ในหุบเขาของอ่างเก็บน้ำคลองแสง มันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่า วันหนึ่งเราได้พบซากสมเสร็จแต่คราบสีแดงสดอยู่บนพื้นดิน ประกอบกับส่วนเครื่องในที่ถูกโยนทิ้งพร้อมกับอุ้งตีนอีกสี่ข้างที่ถูกโยนลงน้ำ พวกเราออกค้นเรือทุกลำในคลองแสง หวังจะได้พบซากสมเสร็จตัวนั้น จนรุ่งเช้าของวันใหม่ก็ยังไม่พบ เราไม่ย่อท้อ ตามไปถึงที่สุดที่จะเล่นงานพวกใจทราม…ใต้ท้องเรือลำนั้น มืดและสกปรก เราฉายไฟกราด ใช้มือล้วงลงไปควานหาหลักฐานที่น่าสงสัย แล้วเราก็พบไส้สมเสร็จที่ยาวกว่าหนึ่งเมตรปนคราบน้ำมันหลงเหลืออยู่ใต้ท้องเรือ…”

ผู้ใกล้ชิดรู้ดีว่า แววตาของสืบจะปวดร้าวมากเมื่อเห็นสัตว์ตายไปต่อหน้า หลายครั้งที่เขาพยายามเก็บพืชป่ามาให้ชะนีให้ค่างกิน แต่มันไม่ยอมกินเพราะความเครียด เขาโกรธจัดที่เห็นเนื้อสัตว์ป่าที่ชำแหละแล้วในเรือของพรานที่ตรวจพบ และหลั่งน้ำตาทุกครั้งที่พยายามผายปอดช่วยชีวิตเลียงผาและกวางที่ช่วยขึ้นมาจากน้ำ แต่ต้องตายไปต่อหน้าเพราะความหิวโหยและความอ่อนเพลีย

ประสบการณ์การทำงานครั้งนี้ทำให้สืบตระหนักดีว่า การอพยพสัตว์ป่าครั้งนี้ไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้เลย ยังมีสัตว์จำนวนมากที่ตายไปจากการสร้างเขื่อน เขาสรุปไว้ว่า

“ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรมตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาได้”

 

อ่านต่อ สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 4


บทความโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวที่ PPTV ได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2535- 2543) และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2550-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร