“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 1

“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 1

สำหรับใครหลายคน เขื่อนเชี่ยวหลานอาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพแปลกตา เห็นเกาะหินปูนรูปร่างแปลกอยู่กลางอ่างเก็บน้ำราวกับทะเลสาบกุ้ยหลินของเมืองจีน

แต่สำหรับผมแล้ว การไปเขื่อนเชี่ยวหลานครั้งแรกของผมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เป็นภาพที่อยู่ในใจไปตลอดชีวิต เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ “สืบ นาคะเสถียร”

ผมดั้นด้นไปตามหาสืบ นาคะเสถียรกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน เมื่อได้ทราบว่า เขาเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นโครงการอพยพสัตว์ป่าครั้งแรกของประเทศไทย

ไม่กี่ปีต่อมา ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆผู้นี้ ได้กลายเป็นบุคคลในตำนาน ภายหลังการยิงตัวตายในป่าห้วยขาแข้ง และเหนืออื่นใด ความตายของเขาได้สั่นสะเทือนผู้คนในสังคมไทยที่ทราบข่าวอย่างรุนแรง

มีผู้คนมากมายพากันตั้งคำถามว่า เหตุใดหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงตัดสินใจยิงตัวตาย

วันที่ผมไปรอรับศพพี่สืบที่นำมาจากป่าห้วยขาแข้ง เอามาตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุ บางเขน ในความรู้สึกถึงเพื่อนและพี่ชายคนนี้ ผมเขียนบันทึกสั้นๆไว้ว่า

“หากมีวันหนึ่ง คุณถูกคนร้ายจับล่ามโซ่ ภรรยาคุณกำลังถูกคนร้ายข่มขืน คุณไม่สามารถช่วยเหลือคนรักของคุณได้ คุณดิ้นสุดขีด แต่ไร้ผล คุณตะโกนก้องเพื่อให้คนอื่นมาช่วย แต่คนเหล่านั้นแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน บางคนบอกว่าให้คุณช่วยตัวเองไปก่อน คุณดิ้นพล่านเมื่อเมียรักร้องด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่มีใครสนใจ”

“แล้วสุดท้ายคุณก็มิอาจทนกับสภาพอันบัดซบที่เกิดขึ้นต่อหน้าคุณ โดยที่คุณไม่อาจช่วยภรรยาอันเป็นที่รักยิ่งได้ และถึงเวลานั้น คุณแทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ คุณอาจเลือกทำร้ายตัวเองเพื่อบอกว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตคุณ”

คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง แต่สำหรับสืบ นาคะเสถียรแล้ว เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่ามากกว่าตัวเองและครอบครัวเสียอีก เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง เขาวิ่งพล่านไปทั่ว เพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์และทำลายป่าเมืองไทย

…ไม่มีใครสนใจ เสียงตะโกนของเขาไม่มีใครอยากได้ยิน

ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนหนึ่งนัดจึงดังกึกก้องขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง

สองอาทิตย์ต่อมา ห่วงจากบริเวณที่เกิดเสียงปืนไม่กี่สิบเมตร ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหารนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน ได้แห่กันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน

“สืบ นาคะเสถียร” รอวันนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง

หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมครั้งนั้นคงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

“เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน”

 


ธันวาคม 2542 อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานผลการสำรวจประชามติความคิดเห็นของคนไทยเพื่อสะท้อนภาพรวมสังคมในด้านต่างๆ ก่อนที่จะย่างเข้าสู่ปี 2000 หนึ่งในแบบสำรวจประชามติมีการตั้งคำถามว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด 10 อันดับ

ผลปรากฏว่า อันดับ 1 คือ หลวงปู่แหวน

อันดับ 2 คือ สืบ นาคะเสถียร

มีคะแนนนำ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, พุ่มพวง ดวงจันทร์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ท่านพุทธทาสภิกขุ,ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พุทธทาสภิกขุ

มีบางคนกล่าวว่า แม้สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะตายจากไปกว่ายี่สิบปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสืบได้กลายเป็นวีรบุรุษคนล่าสุดในดวงใจของคนไทยที่ให้การยอมรับมากที่สุด

ในชีวิตจริง สืบอาจจะไม่ใช่คนดีในนิยามของหลายคน เขาเป็นคนธรรมดาที่กินเหล้าสูบบุหรี่จัด และเคยทำอะไรผิดพลาดมาก่อน

สืบ นาคะเสถียร มีบ้านพักอยู่ในย่านฝั่งธนเป็นบ้านไม้เก่าแก่ของตระกูลที่เขาพักอาศัยอยู่กับน้องชาย บนฝาผนังบ้านมีภาพถ่ายกับซากเสือโคร่งที่ถูกยิงเพราะลงมากินชาวบ้านเมื่อประมาณ ๔๐ ปีก่อน และยังมีเขาละองละมั่งคู่หนึ่งอันเป็นสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานแล้ว เป็นเขาสัตว์เก่าแก่ที่นายพรานสมัยนั้นล่าได้และเป็นสมบัติตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน

สืบ นาคะเสถียร เคยพูดให้ผมฟังว่า  “เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน”

ในวัยเด็ก สืบก็เป็นนักยิงนกตัวยงคนหนึ่ง

สืบเป็นคนเมืองปราจีนบุรี มีนามเดิมว่า สืบยศ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2482 เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องสามคน

ตระกูลของแม่มีอาชีพทำนาและมีรายได้บางส่วนจากค่าเช่านา สืบ เคยเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า

“สมัยเด็กๆ แม่สอนผมทุกอย่าง แม่ยังคิดว่าจะเป็นลูกผู้หญิง ผมเย็บจักรได้ ผมทำกับข้าวเป็น ตื่นเช้าผมจะต้องถูบ้าน ต้องหุงข้าว ใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน กลับมาบ้านผมจะต้องไปเก็บกวาด แม่สอนผมทุกอย่าง”

บางครั้งสืบยังต้องช่วยแม่ทำนายามว่างมักชวนเพื่อนไปเที่ยวยิงนกตกปลาตามประสาเด็กบ้านนอก โดยมีไม้ง่ามหนังสติ๊กเป็นเพื่อนคู่ใจ

สืบ ได้รับการศึกษาชั้นประถมต้นในโรงเรียนประจำจังหวัด พอจบชั้นประถมสี่ สืบก็ย้ายจากปราจีนบุรีไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะพ่ออยากให้ลูกชายได้เรียนในโรงเรียนดีๆ นั่นเป็นการจากบ้านครั้งแรก เขาเริ่มรับผิดชอบตัวเอง มีผลการเรียนที่ดี ชอบวาดรูปและเล่นดนตรีเก่งจนได้เป็นนักทรัมเป็ดมือหนึ่งของวงดุริยางค์ประจำโรงเรียน พอปิดเทอมสืบก็นั่งรถไฟกลับบ้าน เอารูปที่ตัวเองวาดไปอวดพ่อแม่ บางครั้งสืบจะไปช่วยแม่ยกคันนา เพราะชาวบ้านข้างเคียงไถนาเข้ามาในที่นาของแม่จนที่นาเว้าเข้ามา สืบกับแม่ช่วยกันยกคันนาท่ามกลางแดดแผดกล้า ทำให้เขารู้รสชาติความยากลำบากของชาวนามาตั้งแต่เยาว์วัย แม้บางครั้งสืบและน้องชายจะเกเรไม่ยอมทำงาน แต่พอเห็นแม่ทำงานคนเดียวสองพี่น้องก็ละอายใจ

สืบ นาคะเสถียร คนกลาง นักทรัมเป็ดของวงดุริยางค์ โรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง สืบยังชอบไปเที่ยวเล่นกับน้องชายเหมือนเดิม ต่อมาเริ่มทำปืนเถื่อน ซึ่งนิยมกันมากในจังหวัดชายแดนสมัยนั้น ฝีมือการยิงเฉียบคมมากจนเป็นที่รู้กันในละแวกบ้านว่าสืบยิงปืนสั้นแม่นมาก จนพ่อที่เป็นนายอำเภอขู่ลูกชายทั้งสองให้เลิกเล่นปืนเถื่อน มิฉะนั้นจะจับไปโรงพัก สองพี่น้องต้องเอาปืนทิ้งคลอง

กอบกิจ นาคะเสถียร หรือโด่ง น้องชายผู้สนิทกับสืบที่สุดเล่าว่า “พวกเราทำปืนเถื่อนกันเองทั้งนั้น ใช้เหล็กมาเจาะเอา ดินปืนเราก็ตำเอง พี่สืบชอบใช้ปืนสั้น ส่วนผมถนัดปืนยาว มีอยู่ครั้งหนึ่งพี่เขาเสียใจมาก เพราะไปยิงลูกนกแม่นกตามลูกนก แต่เราไปพรากลูกพรากแม่ ตอนนั้นเรายิงด้วยความภาคภูมิใจ ยิงเอาสนุกจริงๆ ตอนเด็กเราก็ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก พี่เขารักป่าแต่เราก็ไปทำลายชีวิตนก อย่างสัตว์ป่าเราก็เคยเลี้ยง ชาวบ้านเอาค่างเอาชะนีมาให้ เราก็เลี้ยงตามมีตามเกิดแบบไม่ถูกวิธี ตายไปก็เยอะ บางทีเราเอาเชือกผูกคอ มันก็รัดคอจนตายเอง”

เมื่อเรียนถึงชั้น ม.ศ. 3 สืบก็เลิกยิงนกตกปลาล่าสัตว์โดยเด็ดขาด ตามนิสัยของคนที่ทำอะไรจริงจัง

“ผมกับน้องสาวจะใกล้ชิดกับครอบครัวมากกว่า เพราะพี่สืบจะจากบ้านไปเรียนตั้งแต่เด็ก จึงมักตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ตามประสาคนที่ต้องพึ่งตัวเองสูง แต่ใจร้อนมาก วัยเด็กถ้าทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ จะแสดงอาการโมโห ถ้าโกรธจะตอบโต้และพยายามเอาชนะให้ได้ แต่พอโตขึ้นก็ไม่ค่อยตอบโต้ โกรธใครก็จะไม่ว่า” โด่งเล่า

“แต่ผมก็รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในตัวแก กลางค่ำกลางคืนไปไหน ผมจะอุ่นใจ เขาจะคอยปกป้องน้องชายเสมอ ผมจำได้ว่าคราวหนึ่งเราไปตีผึ้งด้วยกันผึ้งมักจะอยู่บนยอดไม้ แกก็บอกให้ผมเอาควันรม ผมกลัวผึ้งจะมาต่อย แกบอกว่าไม่ต้องกลัว สองมือแกจับขาผมไว้มั่น ผมเชื่อมั่นว่าแกจะไม่ทำให้ผมหล่นจึงปีนขึ้นไป แล้วเราก็ได้รังผึ้งมาอย่างไม่น่าเชื่อ ผมมั่นใจคำพูดแก ผมไม่กลัวตกเลย”

นิสัยอีกประการหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก คือ หากจะทำอะไรต้องทำให้ได้ดี แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม

สืบมีฝีมือด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เขามักจะเอาไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมายละแวกบ้าน มาเหลาทำเป็นว่าว บางทีก็เอาดินมาปั้นเป็นรถเก๋งอย่างสวยงาม สืบจะรักษาสมบัติของตัวเองมาก แต่เมื่อน้องชายเอาเชือกมาลากรถไปจนพังหรือเอาว่าวไปเล่นจนขาด พี่ชายก็ไม่ได้ว่าอะไร

“ช่างมันเถอะ” สืบพูดสั้นๆ

 

อ่านต่อ สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 2


บทความโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวที่ PPTV ได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2535- 2543) และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2550-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร