“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 2

“สืบ นาคะเสถียร” เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 2

“พ่อผมไม่เคยโกงใครกิน…
ทำไมผมถึงดีใจและภาคภูมิใจกับพ่อผมมาก
เพราะพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร”


เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ สืบ นาคะเสถียร ตั้งใจสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมตามประสาคนชอบวาดรูป เคยวาดการ์ตูนเป็นเล่มให้เพื่อนักเรียนอ่านกัน เล่าลือกันว่าฝีมือลายเส้นเฉียบขาดมาก แต่สุดท้ายเขาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบเล่าให้ฟังว่า

“ตอนแรกผมไม่อยากเรียนวนศาสตร์ ผมไม่อยากเป็นป่าไม้ เพราะผมไม่อยากเป็นป่าไม้ เพราะผมไม่ชอบป่าไม้ แต่ผมเลือกไปอย่างนั้นเอง ผมเลือกอันดับ 5 พอผมติด ผมบอกแม่ว่า ผมไปเรียนดีกว่านะ อายุมันก็มากแล้ว รอปีหน้าก็ไม่รู้จะสอบสถาปัตย์ได้รึเปล่า ถ้าปีหน้าสอบไม่ได้อีกก็แย่ต้องเกาะแม่กินไปเรื่อยๆ”

นพรัตน์ นาคสถิตย์ เพื่อนสนิท ร่วมรุ่น วน. 35 ได้ถ่ายทอดชีวิตสมัยเป็นนักศึกษาให้ฟังว่า

“สืบเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนตัวสูงกว่าเพื่อน แต่เวลานั่งฟังเล็กเชอร์มักไปนั่งข้างหน้าห้อง เขาจดงานลงสมุดอย่างละเอียดเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็วาดรูปประกอบด้วย ตอนอยู่ปี 4 ผมเคยพักห้องเดียวกัน มีเพื่อนอยู่ด้วยกันสามสี่คน ทุกวันกลับจากกินข้าวเย็น พวกเราก็นั่งคุยกันเฮฮา แต่สืบจะอ่านหนังสือทุกวัน อ่านจนกระทั่งพวกเราต้องเงียบเสียงกันไปเอง จนพวกเราเข้านอนแล้วก็ยังเห็นสืบอ่านหนังสืออยู่ เขาเป็นคนทำอะไรจริงจัง ขนาดเวลาเล่นฟุตบอลก็เล่นแบบจริงจังในตำแหน่งแบ็ก ยากที่พวกเราจะพาลูกผ่านไปได้ เพราะขายาวๆ มารบกวน และสืบว่ายน้ำเก่งมากจนได้เป็นนักกีฬาโปโลน้ำของมหาวิทยาลัยด้วย”

สลับ นาคะเสถียร บิดาของสืบ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้น แต่สืบก็ไม่เคยอ้างชื่อบิดาเพื่อใช้อภิสิทธิ์ใดๆ แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหาร สืบก็ไม่ได้บอกสัสดีจังหวัดว่าเขาเป็นลูกผู้ว่าฯ

สืบเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมกลับไปที่บ้าน ผมไม่เคยขออะไรจากพ่อ ผมไปติดต่อธุระที่อำเภอ ผมไม่เคยบอกเจ้าหน้าที่ว่าผมเป็นลูกใคร ผมไปเกณฑ์ทหารที่ปราจีนฯ ผมก็ไม่ได้บอกพ่อว่า พ่อช่วยหน่อย เพราะผมเห็นใจคนอีกเยอะที่ไม่มีโอกาสในสังคมแบบนี้ บังเอิญผมโชคดีจับได้ใบดำ”

เมื่อเรียนจบคณะวนศาสตร์ สืบไม่ยอมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรด้วยเหตุผลที่ว่ายังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะรับปริญญา

สืบว่างงานอยู่สองปีเพราะกรมป่าไม้ไม่มีตำแหน่งว่าง เขาจึงไปทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ประจำฝ่ายส่วนสาธารณะ มีหน้าที่ปลูกต้นไม้ตามหมู่บ้านจัดสรร ทำงานอยู่ไม่นานก็ลาออกมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ เขาให้เหตุผลว่า “ไหนๆก็แหย่ขาเข้าไปในป่าไม้แล้ว” ระหว่างที่เรียน สืบสามารถสอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับ 3 ซึ่งในเวลานั้นคนที่สอบได้อันดับ 1-10 มีสิทธิ์เลือกบรรจุกองไหนก็ได้ ซึ่งส่วนมากมักจะเลือกเป็นป่าไม้ เพื่อมีโอกาสจะก้าวไปเป็นป่าไม้จังหวัด หรือป่าไม้เขตในอนาคต แต่สืบกลับเลือกอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ จังหวัดชลบุรี ในปี 2518 โดยให้เหตุผลว่า

“ผมเลือกที่นี่เพราะเกลียดพวกป่าไม้ แม้มาเรียนป่าไม้ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่าไม่ชอบป่าไม้ เรื่องที่ว่าป่าไม้มันโกง พวกป่าไม้มันร่ำรวยมาจากการโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกนี้ดี เพราะสมัยนั้นพ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมันผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้”

ในบรรดาศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น 35 จำนวนทั้งหมด 120 คน มีคนสนใจงานด้านอนุรักษ์เพียงห้าคนเท่านั้น

ที่เขาเขียว สืบ นาคะเสถียร เริ่มอาชีพข้าราชการกรมป่าไม้เต็มตัว เขาทุ่มเทให้แก่การทำงานด้านปราบปรามลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่าหรือพรานที่มาส่องล่าสัตว์กลางคืนได้นับร้อยคน

“ผมมีหน้าที่ลุยอย่างเดียว จะใหญ่มาแค่ไหนผมจับหมด”

การที่สืบดำรงตนเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ อาจเพราะได้แบบอย่างมาจากพ่อของเขาซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น ลูกชายคนโตคนนี้ภูมิใจในตัวพ่อมาก เขาเคยพูดว่า “พ่อผมไม่เคยโกงใครกิน ทำไมผมถึงดีใจและภาคภูมิใจกับพ่อผมมาก เพราะพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร”

ปีนี้เอง สืบส่งบทกลอนเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยคณะวนศาสตร์ และได้รางวัล กลอนบทนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกของสืบที่มีต่อสัตว์ป่าได้ชัดเจนที่สุด

“สัตว์ป่า”
เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน

สืบทำงานที่เขตฯ เขาเขียวได้พักหนึ่ง ก็สอบชิงทุนของบริติสเคาน์ซิลไปเรียนปริญญาโทด้านอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ แต่ทำได้ไม่นานก็ขอย้ายตัวเองมาทำงานวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมา และรู้สึกว่างานวิจัยเป็นงานที่ตัวเองสนใจมากที่สุด

สืบให้สัมภาษณ์ว่า “ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆจับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่า กฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา เหมือนกับไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่คนในสังคมในฐานะที่ผมมีหน้าที่ที่ต้องรักษาป่า ผมก็เลยขอไปทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าแทน”

ดูเหมือนว่างานวิชาการเป็นสิ่งที่เขาชอบและมีความสุขที่จะทำมากที่สุด งานนี้เหมาะกับอุปนิสัยส่วนตัว ที่เป็นคนช่างสังเกต ชอบจดบันทึก สเก็ตช์รูป ถ่ายรูป ซึ่งทำให้งานวิจัยสัตว์ป่าของเขามีคุณค่ามากขึ้น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายากไม่ว่าจะเป็นกวางผา เลียงผา นกกระสาคอขาวปากแดง ไปจนถึงภาพการบุกรุกทำลายป่าทุกรูปแบบ รวมไปถึงภาพจากวีดีโอหลายสิบม้วนที่สืบลงทุนแบกเข้าไปถ่ายในป่าเอง และหิ้วเทปมาเช่าห้องตัดต่อเองในกรุงเทพฯ ข้อมูลทุกชิ้นถูกจัดใส่แฟ้มเป็นหมวดหมู่เรียบร้อย และไม่เคยปฏิเสธเลยเมื่อมีคนขอผลงานของเขาไปเผยแพร่

เอิบ เชิงสะอาด เพื่อร่วมรุ่นคนหนึ่งเคยพูดว่า “สืบเหมาะจะเป็นนักวิชาการ แต่ไม่เหมาะจะทำงานคุมกำลัง เพราะงานปราบรามบางอย่างอาจจะยอมได้ แต่สืบเป็นคนไม่ยอมคน”

งานวิจัยชิ้นแรกของเขาคือ การศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ระหว่างปี 2523-2524 แต่งานวิจัยที่สร้างความสะเทือนใจให้เขามากที่สุดคือเมื่อครั้งเขาได้ร่วมเดินทางไปศึกษาชีวิตของกวางผากับ ดร.แซนโดร โรวาลี ซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร National Geographic ที่ดอยม่อนจอง ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงชันมาก ในปี ๒๕๒๘

กวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวนซึ่งหายากมาก ชาวเขาเผ่ามูเซอตั้งฉายาว่า “ม้าเทวดา” อาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชันทางภาคเหนือของไทยบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงเท่านั้น และในการเดินทางสำรวจครั้งนั้นได้เกิดอุบัติเหตุจากไฟป่าจนมีผู้เสียชีวิต

ดร.ชุมพล งามผ่องใส แห่งคณะวนศาสตร์ ผู้ร่วมเดินทางไปครั้งนั้นได้บันทึกไว้ว่า

“จนกระทั่งพักเที่ยง เราหยุดกินข้าวกัน ระหว่างนั้นคุณสืบ นาคะเสถียรและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชื่อ คำนึง ณ สงขลา แยกตัวขึ้นไปบนยอดสูง เพราะมองเห็นกลุ่มควันพลุ่งขึ้นมาจากป่าใกล้ๆ เข้าใจว่ากำลังเกิดไฟป่า พวกเขาจะปีนขึ้นไปสังเกตการณ์และถ่ายภาพ ผมจึงตามไปสมทบ เราอยากศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ที่ตื่นหนีไฟ …ทันใดนั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ลมกรรโชกพัดลูกไฟจากหุบเขาที่กำลังลุกไหม้รุนแรงอยู่มาทางที่พวกเรายืน เสี้ยววินาทีเดียว เราก็ถูกลูกไฟประลัยกัลป์นั้นซัดวูบจนล้มระเนระนาด สะเก็ดไฟลุกไหม้เนื้อตัวเราปวดแสบไปหมด…ชั่วพริบตาเท่านั้นที่ทันได้เห็นคุณคำนึงพลาดตกลงซอกเขาไป โดยที่ในมือยังกระชับกล้องวีดีโออยู่…กว่าจะตั้งสติได้เราก็รู้ว่าไม่มีทางจะช่วยชีวิตคุณคำนึงได้เสียแล้ว”

สืบเองก็เขียนบันทึกไว้ว่า “เราทั้งคู่ต่างมองหาคำนึง เมื่อไม่เห็นจึงตะโกนเรียก แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ พวกที่เดินกลับไปก่อนย้อนมาดูพวกเราและช่วยกันหาคำนึง ผมพบหมวกที่คำนึงเคยสวมอยู่ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ยังคงรูปเป็นหมวกให้เห็นก่อนที่จะถูกลมกรรดชกให้แตกสลายไป…ประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น ขณะที่ผมใช้กล้องส่องทางไกลส่องลงไปตามลาดผาตรงจุดที่คาดว่าเขาพลาดล้มและกลิ้งตกลงไป ผมได้พบร่างของคำนึงที่ไหม้เกรียมติดค้างอยู่ตรงลาดผาช่วงกลาง ซึ่งไม่มีทางลงไปหรือขึ้นมาจากข้างล่างได้ …คืนนั้น เราทำพิธีเคารพศพของคำนึงด้วยสิ่งของเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น ขอให้ดวงวิญญาณของเขาผู้ได้อุทิศตัวเพื่องานที่เขารับผิดชอบ จงไปสู่ที่สุคติด้วย”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สืบซาบซึ้งเป็นอย่างดีว่า งานวิจัยสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก และที่สำคัญคือทำให้เขาเริ่มเห็นถึงปัญหาความยากลำบากของพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันที่ไม่มีสวัสดิการใดๆช่วยเหลือแม้กระทั่งจากกรมป่าไม้เอง

สืบยังคงทำงานวิจัยสัตว์ป่าต่อไป นพรัตน์ นาคสถิตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า “เขาอยากจะเป็นนักวิจัยที่ทำงานวิจัยสัตว์ป่าเป็นเรื่องๆ ไม่อยากไปเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยตามที่ต่างๆ” งานสำคัญในช่วงนี้คือศึกษาการกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยของเลียงผา ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากการที่สืบเห็นพ่อค้าเอาน้ำมันเลียงผาที่ทำจากหัวเลียงผามาขาย จนน่าเป็นห่วงว่าเลียงผาอาจสูญพันธุ์ได้ และรวมไปถึงศึกษาเก้งหม้อ ควายป่า และเป็ดก่าซึ่งทำให้เขามีโอกาสเข้าป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น

รุ่นน้องคนหนึ่งเขียนถึงเขาว่า “พี่สืบมีความผูกพันกับป่าที่นี่มาก การเดินทางที่เราจดจำได้ดีก็คือ การเดินทางจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรข้ามมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผ่านโป่งสายสอ และทะลุผ่านมาถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในที่สุด ซึ่งใช้เวลาเดินทางถึงห้าวัน การเดินทางสำรวจสัตว์ป่าบนเส้นทางในระยะไกลอีกครั้ง ได้แก่ การเดินทางในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านจังหวัดตาก จากบริเวณห้วยปล่อยช้าง มายังหุบแม่จัน ผ่านบ้านยู่ไน้ไปยังบ้านม่องควะ และไปพักแรมระยะยาวที่บึงละกะตู เพื่อสำรวจประชากรเป็ดก่า เราเดินทางข้ามภูก่องก๊องเข้าสู่เขตจังหวัดกาญจนบุรี พักค้างคืนที่บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเดินทางสู่บริเวณสบห้วยดงวี่ เพื่อตรวจสอบบริเวณด่านช้างข้ามแม่น้ำแควใหญ่ พี่สืบใช้เวลาเดินป่าครั้งนี้นานกว่าสองสัปดาห์ เราได้เห็นธาตุแท้ของความทรหด แม้ว่าเท้าทั้งสองจะเจ็บเดินล้มลุกคลุกคลานถูกหนามเกี่ยวตามลำตัวและหู ดูเหมือนว่าพี่สืบจะไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้ แคมป์ที่พักนอนในป่าก็ใช้ผ้าพลาสติกปูลงบนพื้นดิน และมุงผ้าพลาสติกผืนใหญ่เพื่อกันน้ำค้าง อาหารที่เตรียมไปแม้ว่าจะไม่พอเพียง ความลำบากต่างๆ ที่ประสบ ดูเหมือนว่าพี่สืบก็ไม่เคยปริปากบ่นด้วยคำพูดใดๆเลย”

ในระหว่างที่สืบมาทำวิจัยที่ป่าห้วยขาแข้ง เขาได้ยินเสียงปืนของนักล่าสัตว์เป็นประจำ เขาพยายามถามเจ้าหน้าที่ในนั้นว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมมีการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ไม่มีใครยอมพูดอะไร สืบบอกกับตัวเองว่าวันหนึ่งเขาจะหาคำตอบให้ได้

 

อ่านต่อ สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ตอนที่ 3


บทความโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าวที่ PPTV ได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2535- 2543) และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (2550-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร