การพบนกกระสาคอขาวปากแดงในประเทศไทย

การพบนกกระสาคอขาวปากแดงในประเทศไทย

ในป่าดิบชื้นลุ่มต่ำที่คลองมอญซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของคลองพระแสงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผมพบนกกระสาคอขาวปากแดงคู่หนึ่งกำลังทำรังอยู่ จึงทำการบันทึกสภาพรังและข้อมูลเกี่ยวกับลูกนก เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ซึ่งเป็นผืนป่าดิบชื้นลุ่มต่ำผืนใหญ่และผืนสุดท้ายในประเทศไทย กำลังถูกน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จึงน่าวิตกว่านกกระสาพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบในประเทศไทยอาจต้องสูญพันธุ์ไปจากถิ่นนี้


การพบนก

กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ได้มอบหมายให้ผมดำเนินโครงการจับและย้ายสัตว์ป่าที่ติดค้างอยู่ในอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางตอนใต้ของไทย ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเริ่มเก็บน้ำแล้ว โดยให้ผมเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2529 อ่างเก็บน้ำดังกล่าวเมื่อกักน้ำเต็มจะท่วมพื้นที่ 165 ตารางกิโลเมตร ในระดับความสูง 95 เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ที่น้ำท่วมคือแถบคลองแสงและลำธารที่เป็นสาขา ซึ่งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง (1,236 ตารางกิโลเมตร) และอุทยานแห่งชาติเขาสก (645.5 ตารางกิโลเมตร) การสร้างเขื่อนได้รับอนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525 ตามรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การกักน้ำจะใช้เวลา 4 ปี โดยเริ่มในเดือนเมษายน 2529 และมีการตัดไม้ในพื้นที่ป่าไม้ที่มีระดับต่ำกว่า 100 เมตร ปัจจุบันขั้นตอนเหล่านี้ยังดำเนินการอยู่

ผมและผู้ร่วมงานนั่งเรือยนต์ไปเกือบทั่วอ่างเก็บน้ำ ไปตามเกาะต่างๆ ที่เกิดเพราะการกักน้ำจำนวน 241 แห่ง เพื่อจับและย้ายสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลาน วันที่ 27 กันยายน 2529 ผมเห็นนกตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่ต้นยางซึ่งโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ตอนแรกผมคิดว่าเป็นนกเงือก แต่เมื่อใช้กล้องส่องทางไกลส่องมองแล้วผมแน่ใจว่านกตัวนั้นเป็นนกกระสาที่มีปากสีส้มสด มันกระโดดจากกิ่งไม้ไปยังง่ามใหญ่และนั่งหมอบลงบนรังขนาดใหญ่ นกตัวที่สองหลังจากบินวนแล้วก็ร่อนลงยังต้นรังอีกต้นซึ่งถูกน้ำท่วมเช่นกัน โดยอยู่ห่างออกไป 70 เมตร เมื่อค้นในหนังสือของคิง (King) และคณะแล้ว ก็บอกได้ว่านกตัวนี้เป็นนกกระสาคอขาวปากแดงเพราะปากของมันมีสีส้มสดและมีแถบขนสีดำขึ้นที่ข้างคอ

 

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

 

ผมไปที่นั่นอีกในวันต่อมา และพบรังนกอีกรังหนึ่งที่ต้นยางห่างจากต้นแรก 200 เมตร เป็นรังเก่าร้างแล้ว ดังนั้นผมจึงไปบริเวณนั้นอีกในวันที่ 15 วันที่ 17 และ 21 ตุลาคม โดยใช้เวลาเฝ้าดูครั้งละไม่เกิน 15 นาที เพื่อเลี่ยงการรบกวน ทุกครั้งจะเห็นนกตัวหนึ่งกำลังกกไข่อยู่ แม้ว่าระดับน้ำกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ใบของต้นยางยังเขียวและให้ร่มเงาแก่รังนกได้เป็นอย่างดี เมื่อผมกลับไปดูรังนกอีกในวันที่ 24 ตุลาคม (คือ 27 วันหลังจากเริ่มเห็นรังนก) ก็เห็นลูกนกสองตัว คิดว่าคงจะฟักออกจากไข่ช่วงระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม ผมเอาเรือหลบโดยจอดไว้ใต้ร่มไม้ห่างจากรังแรกประมาณ 100 เมตร รังนกสูงจากระดับน้ำไม่เกิน 15 เมตร และผมก็สามารถใช้กล้องติดเลนส์เทเลขนาด 1200 มม. ถ่ายภาพลูกนกและพ่อแม่นกที่เฝ้าลูกอยู่ได้หลายภาพ

ผมกลับไปยังบริเวณนั้นอีกครั้งในวันที่ 13 พฤศจิกายน แล้วไม่อาจกลับออกมาจนถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน เพราะผมพบว่ารังนกถูกทำลาย ไม่มีนกกระสาอยู่แถวนั้น ผมกำลังสงสัยว่าลูกนกอาจถูกพวกนกเหยี่ยวจับกินเสียแล้ว แต่ก็ฉุกคิดได้ว่าน่าจะเป็นชาวบ้านแอบลักไปมากกว่า ถึงแม้ผมจะระวังไม่ให้เรื่องพบรังกระโตกกระตากเป็นที่สนใจ แต่มีชาวบ้านแล่นเรือไปมาในอ่างเก็บน้ำไม่น้อย อาจจะบังเอิญพบรังเข้าก็เป็นได้

เช้าวันที่ 23 พฤศจิกายน ชายคนหนึ่งมาเล่าให้ผมฟังเรื่องจับสมเสร็จและกระทิงได้บนเกาะ ผมถามเขาเรื่องลูกนกกระสาที่หายไป เขาสัญญาว่าจะถามเรื่องนี้กับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้ๆ ที่ถูกย้ายออกจากบริเวณสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานไปอยู่รอบนอก เขากลับมาอีกครั้งในตอนเย็นและได้แจ้งแหล่งที่อยู่ของนก เขาพาเราไปยังบ้านของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บอกว่าจะคืนลูกนกให้แต่ขอให้เว้นโทษคนที่ขโมยลูกนกมา ลูกนกถูกปล่อยอยู่แถวลำธารเล็กๆ หลังบ้าน และตอนนั้นมืดแล้วเราจึงต้องใช้ไฟฉายส่องหา ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงจึงจะพบลูกนกทั้งสอง นกตัวหนึ่งปากด้านล่างหักระหว่างการจับจากรัง เพราะชาวบ้านที่จับนกมาใช้ไม้ไผ่ยาว 12 เมตร กระทุ้งนกและรังให้ตกจากต้นไม้ ถึงแม้นกทั้งสองจะเดินได้แล้วโดยต้องกางปีกช่วยทรงตัว แต่มันก็ยังเล็กมาก ถ้าเราปล่อยกลับเข้าป่าคงจะมีชีวิตรอดยาก คืนนั้นเราพามันกลับมายังศูนย์ศึกษาสัตว์ป่าและธรรมชาติที่เขาทำเพชร สุราษฎร์ธานี ให้อยู่ในกรงขนาด 6 ตารางเมตร มีกระจาดซึ่งบุด้วยขี้เลื่อยวางไว้ ลูกนกจะอยู่ในกระจาดแต่ถ้ามีใครเข้ามาใกล้จะยืนขึ้นและส่งเสียงร้อง นกทั้งสองสามารถเดินไปกินปลาน้ำจืดซึ่งคนดูแลตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ได้ ต่อมาจึงย้ายไปอยู่กรงที่ใหญ่ขึ้น


รังนก

รังนกตั้งอยู่บนง่ามกิ่งขนาดใหญ่ของต้นยางซึ่งสูง 27 เมตร โดยกิ่งที่ตั้งของรังนกสูงจากระดับน้ำท่วม 15 เมตร และอยู่ทางตะวันออกของลำต้น ต้นยางต้นนี้ขึ้นอยู่ริมฝั่งคลองมอญ ซึ่งเป็นสาขาของคลองพระแสง พื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 69 เมตรจากระดับน้ำทะเล (9 องศา 05 ฟิลิปดาเหนือ 98 องศา 60 ฟิลิปดาตะวันออก) ครั้งแรกที่พบ รังนกสูงจากระดับน้ำเพียง 15 เมตร รังนกประกอบด้วยพื้นราบ ลึก 15 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางแนบนอนของรังภายนอกมีขนาด 50 ซม. สร้างจากกิ่งไม้แห้งยาว 15.60 ซม. เป็นหลัก บางกิ่งดูเหมือนจะเป็นกิ่งไม้วงศ์อบเชย วงศ์ตันยางและวงศ์กระทุ่ม พื้นรังปูด้วยใบไม้แห้งและปุยฝ้าย

รังที่สองซึ่งเป็นรังร้าง มีลักษณะคล้ายกับรังแรกแต่อยู่บนกิ่งยอดสูงสุด 30 เมตร ข้อมูลเหล่านี้เป็นการบรรยายลักษณะรังของนกกระสาคอขาวปากแดงเป็นครั้งแรก

PHOTO สืบ นาคะเสถียร


ลักษณะของพ่อแม่นก

รูปร่างลักษณะของนกกระสาคอขาวปากแดงไม่เป็นที่รู้จักกันนัก และในอดีตความไม่รู้ทำให้เกิดการสับสนกันกับนกกระสาคอขาว ทั้งสองพันธุ์มีตัวและปีกสีดำตัดกับสีขาวของท้องและขนคลุมหางด้านล่าง แต่นกกระสาคอขาวปากแดงจะมีขนดำด้านข้างและด้านหน้าของคอด้วย ส่วนสีขาวที่หัวและคอจะปรากฏเฉพาะแถวแก้มและต้นคอ เป็นแถบรูปลิ่มแคบยาวต่อมาจากกลางเส้นคอด้านหน้าประมาณหนึ่งในสามของความยาวของคอ โดยบริเวณที่เป็นสีขาวนี้อยู่ส่วนบน ที่หางมีขนด้านนอกเป็นสีดำ ลักษณะเช่นนี้จะมองเห็นยากนอกจากเวลาบิน อย่างไรก็ดี ลักษณะเด่นที่สุดของนกชนิดนี้คือ ปากสีส้มสด และหนังรอบตาสีเหลืองกระจ่าง ส่วนขามีสีส้มอ่อนและหนังที่หน้าสีส้มจาง ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน


การเจริญเติบโตของลูกนก

วันแรกที่เห็นลูกนกคือวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งเชื่อว่าลูกนกเกิดมาแล้ว 1-3 วัน ทั้งสองตัวมีขนอ่อนสีขาวขึ้นทั่วตัว แต่จะงอยปากสีดำและหัวสีดำไม่มีขน ระหว่างการเฝ้าสังเกตเป็นเวลา 20 นาที เห็นพ่อหรือไม่ก็แม่นกตัวใดตัวหนึ่งคอยเฝ้าดูแลลูกนก ส่วนลูกนกมักจะเดินไปมา แต่เมื่อได้ยินนกเหยี่ยวรุ้งร้องลูกนกก็หมอบตัวลงและนั่งนิ่งอยู่บนพื้นรัง

วันที่ 13 พฤศจิกายน ลูกนกมีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณเท่าตัว และเห็นขนสีดำงอกแซมขึ้นระหว่างขนอ่อนสีขาวบริเวณคอหอย ปีก และลำตัว ปลายปากเป็นสีเหลือง หนังบริเวณใบหน้าจะเป็นสีเหลืองอ่อน และหนังใต้คางเป็นสีเหลืองสด บางครั้งนกจะยืนตรงและกางปีก ในระหว่างการสังเกตนั้น แม้เป็นช่วงที่พ่อแม่นกไม่ได้เฝ้าอยู่ ลูกนกก็ยังคงหมอบราบและไม่เคลื่อนไหวอยู่บนพื้นรังเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคย ที่น่าสังเกตคือลูกนกทั้งสองตัวโตไม่เท่ากัน ประมาณ 30 วัน หลังออกจากไข่บริเวณขนสีดำมีเพิ่มขึ้น และรวมทั้งขนที่หน้าอกและปีกเป็นมันเงาด้วยสีทองแดงและสีเขียว หลังจาก 45 วันไปแล้วลูกนกจะมีลักษณะคล้ายพ่อแม่นก ถึงแม้จะยังมีตัวเล็กกว่ามาก ปากก็สั้นกว่า ขนอ่อนยังขึ้นเป็นหย่อมเล็กในบางบริเวณ หนังที่หน้าเป็นสีเหลืองจางจะงอยปากเป็นสีส้มสดโดยส่วนปลายสีจะคล้ำ ส่วนที่ต่างจากพ่อแม่นกอีกประการคือ ลูกนกทั้งสองมีขนดำบริเวณหัวครอบคลุมถึงบริเวณใต้ตาและฐานปาก ขาตอนบนมีสีเทาเข้ม แต่ตอนล่างจะเปลี่ยนเป็นสีส้มออกแดงทึมๆ หลังอายุ 3 สัปดาห์ เมื่อลูกนกที่จับมาอายุ 90 วัน ก็บินได้ใกล้ๆ นกตัวที่ได้รับบาดเจ็บที่จงอยปากก็สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และตลอดเวลาที่ศึกษาลูกนกร้องเสียงแหบดังแครกแครก

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

 

ก่อนจะมีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน บริเวณที่เป็นแอ่ง คือ ตามฝั่งแม่น้ำไม่เกิน 100 เมตร นั้นถูกหักร้างถางพง ตั้งเป็นถิ่นฐานของชาวบ้าน 283 ครอบครัว ไม่เกิน 21 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นกึ่งป่าเขตร้อนผลัดใบ ประกอบด้วยเรือนยอดของต้นไม้ 3 ระดับชั้น มีไม้ใหญ่มากมาย ได้แก่ ตะเคียน, มะค่า, ยาง, บุญนาค, ไทรหลายชนิด ต้นไม้ส่วนใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ที่ระดับอก ความหนาแน่นของต้นไม้ประมาณ 500-800 ต้นต่อ 6.25 ไร่ และพื้นที่ที่มีพืชขึ้นปกคลุมเป็นร้อยละ 80-90 ของพื้นที่ทั้งหมด เรือนยอดชั้นล่างประกอบด้วยหวาย ปาล์ม ไผ่ ไม้พุ่ม และไม้เลื้อย ดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ บริเวณหุบเขาซึ่งเป็นที่ต่ำที่สุดสูงเพียง 13.5 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และมีความกว้างตั้งแต่ 5 กม. ถึงไม่เกิน 100 เมตร ในบางลำห้วยที่อยู่ตอนบน

ก่อนการสร้างเขื่อน จำนวนนกกระสาคอขาวปากแดงในพื้นที่นี้ก็มีน้อยมากอาจจะค่อยๆ ลดจำนวนลงเพราะการล่ามาหลายสิบปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเคยอาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณที่พบรังเล่าว่า เขาเคยเห็นนกกระสาคอขาวปากแดงหากินอยู่ตามลำห้วยสาขาของคลองมอญก่อนที่เขาจะย้ายออกไปในปี 2528 ชื่อพื้นเมืองของนกชนิดนี้คือ นกกระสุ่ม มาจากวิธีการหาปลาของมันที่เดินย่างไปตามชายฝั่งแม่น้ำในป่าทึบ เขายังบอกด้วยว่านกพันธุ์นี้ยิงยากเพราะขี้อายมาก


การอนุรักษ์

หลังจากอนุมัติให้สร้างเขื่อนมีกิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นมากมายในบริเวณนั้น ชาวบ้านถูกย้ายออกไปอยู่นอกเขื่อน ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ (72 ตารางกิโลเมตร) ถูกถางจนเตียนโล่งแล้วเผาเสียเป็นพื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตร กระนั้นก็ดีบริเวณป่าลุ่มต่ำที่มีการตัดไม้แบบเลือกตัดและอยู่เหนือระดับน้ำท่วมขึ้นไปไม่เกิน 100 เมตร ยังมีนกป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ในระหว่างปี 2529-2530 นอกจากนกกระสาคอขาวปากแดงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับที่ลุ่มต่ำหลายคนยังได้บันทึกการพบสัตว์ชนิดอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกแว่นสีน้ำตาล นกเค้าหน้าผากขาว นกเงือกดำ และนกกินแมลงป่าสีน้ำตาลแดง กล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้กำลังถูกคุกคามในประเทศไทย

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานที่มีต่อนกในที่ลุ่มต่ำยังไม่เคยมีการประเมิน แต่มีการกล่าวว่า “เกี่ยวกับนก… รวมถึงไก่ฟ้าหน้าเขียวแล้ว ผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะนกส่วนใหญ่เคลื่อนไหวและบินหนีน้ำท่วมได้” รายงานดังกล่าวยังบอกด้วยว่า นกธรรมดาและนกที่มีความอดทนต่อสภาพนิเวศ เช่น นกยางกรอกพันธุ์จีน นกกระเด็นหัวดำ ซึ่งอาจจะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแต่ไม่ได้พูดถึงนกในป่าลุ่มต่ำหลายพันธุ์ที่จะต้องตายไปเลย แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นเขาสูงชัน ถึง 1,395 เมตร มีชะง่อนผาหินปูนที่ชันมาก ไม่เหมาะกับเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระสาคอขาวปากแดงและนกที่ลุ่มต่ำพันธุ์อื่นๆ รายงานการประเมินผลกระทบไม่ได้พูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเขื่อนอาจจะท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำที่สำคัญที่สุดของภาคใต้ของประเทศซึ่งเป็นป่าดิบที่อยู่ก้นหุบ

นับแต่เริ่มกักน้ำในเดือนเมษายน 2529 การเดินทางด้วยเรือสู่พื้นที่ที่เคยมีการควบคุมดูแลการกระทำได้ง่ายขึ้นและมีจำนวนเพิ่มอย่างมากด้วย ชาวบ้านจากสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียงพากันเดินทางเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ เพื่อจับปลาและตัดไม้ ตัดหวาย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2530 เพื่อนร่วมงานของผมคุยกับชาวบ้าน 298 คนที่อาศัยอยู่รอบอ่างเก็บน้ำ พบว่าในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดอื่นตั้งแต่มีการกักน้ำ มีการอนุญาตให้ตัดหวายในบริเวณอ่างเก็บน้ำแก่ชาวบ้านมากกว่า 200 คน ตามหลักการแล้ว ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับอนุญาตให้ตัดเฉพาะในเขตสัมปทานขึ้นไปถึงเส้นระดับพื้นดินที่ 100 เมตร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจากตัวอ่างเก็บน้ำเป็นแนวยาว กฎดังกล่าวจึงยากจะบังคับให้ปฏิบัติตาม และยังมีการล่าสัตว์และเก็บของป่าอย่างผิดกฎหมายทั้งในอุทยานแห่งชาติเขาสก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงอีกด้วย ดังนั้นแม้นกกระสาคอขาวปากแดงและนกป่าในเขตลุ่มต่ำจะสามารถหากินอยู่บริเวณ ขอบอ่าง แต่ก็ต้องเผชิญกับภัยร้ายแรงจากพรานล่านก

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

นกกระสาคอขาวปากแดงคงจะต้องเสี่ยงกับอันตรายทั่วพื้นที่หากินเนื่องจากมีการทำลายป่าในที่ลุ่มต่ำ มาตรการต่อไปนี้ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยหวังว่าพื้นที่ต่างๆ ของแอ่งคลองแสงนอกเขตน้ำท่วมหรืออาจจะที่อื่นๆ ด้วย จะสามารถเป็นที่พักพิงให้กับนกกระสาคอขาวปากแดงและนกในป่าเขตร้อนแถบที่ลุ่มต่ำได้

1. ควรจะมีการจำกัดและเข้มงวดกับการเข้าพื้นที่ของชาวบ้าน และห้ามกิจกรรมทั้งหลาย ยกเว้นการจับปลา ควรมีการบันทึกเกี่ยวกับผู้หาปลาแต่ละคนรวมทั้งสถานที่อาศัย

2. ควรจะเพิ่มคุณภาพและการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้

3. ควรมีการเพิ่มชื่อนกกระสาคอขาวปากแดงให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและได้รับการพิทักษ์จากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503

4. ควรจะมีการวิจัยเกี่ยวกับนกกระสาคอขาวปากแดงและนกในป่าเขตร้อนแถบที่ลุ่มต่ำ ในภาคใต้ของประเทศเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีการขยายอาณาเขตของอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ โดยรวมเอาพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำเข้าไว้ด้วย

5. ควรมีการกำหนดมาตรการสำหรับการหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้นกกระสาคอขาวปากแดงที่จับได้ทั้งสองตัว ถึงแม้ไม่อาจจะนำนกทั้งสองตัวกลับไปอยู่ในป่าได้อีกเพราะเชื่องแล้วก็ตาม

PHOTO สืบ นาคะเสถียร

 


เรื่อง / ภาพ สืบ นาคะเสถียร
ตีพิมพ์ใน : นิตยสาร Forktalk Journal of The Oriental Bird Club No.3 ประเทศอังกฤษ ธันวาคม 2530