หน่วยเเพทย์เคลื่อนที่เพื่อผู้พิทักษ์ป่า เเละชุมชนรอบป่า สภากาชาดไทย X มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หน่วยเเพทย์เคลื่อนที่เพื่อผู้พิทักษ์ป่า เเละชุมชนรอบป่า สภากาชาดไทย X มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สุขภาพดี’ เป็นบ่อเกิดของพลังการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

สำหรับการดูเเลรักษาผืนป่า ผ่านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพก็ต้องใช้ปัจจัยทางกายภาพเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นเเล้วผืนป่าเเละสัตว์ป่าคงสูญสิ้นไป

หลายครั้งเมื่อได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปัญหาสุขภาพหนึ่งที่มักพบคือ อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่ว่าจะหลัง เอว หรือขา ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการแบกของหนักในการเดินลาดตระเวน

การเข้าป่าในเเต่ละครั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องแบกเป้สนามร่วม 20 กิโลกรัม ต่อการลาดตะเวนครั้งละ 5-7 วัน (ปัจจุบันพื้นที่อนุรักษ์มีภารกิจลาดตระเวนเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 15-20 วัน) 

ซึ่งภายในเป้สนามประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในป่าเเละเครื่องมือสำคัญในการลงบันทึกข้อมูล เช่น แผนที่ เข็มทิศ GPS แบบบันทึกข้อมูล อาวุธปืน รวมถึงเสบียงอาหาร เครื่องนอน (เปล, ถุงนอน, ฟลายชีท) เเละเสื้อผ้า

แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่รวมน้ำหนักในส่วนของน้ำดื่ม ซึ่งจะสามารถหาใช้ดื่มกินได้ในป่า 

ลองคิดดูว่าหากจะต้องนำน้ำดื่มไปให้เพียงพอกับการใช้ของแต่ละคน ในเเต่ละวันเเล้วนั้น… ในเป้สนามจะต้องเพิ่มน้ำหนักไปอีกเท่าใด

ปัญหาสุขภาพที่พบรองลงมาคือ ความเจ็บป่วย จากโรคต่างๆ ที่เกิดจากยุง เเละเเมลง ที่แม้จะระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี เเต่บางครั้งก็อยู่นอกเหนือจากการควบคุมจริงๆ

เจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามหน่วยพิทักษ์ป่าในป่าลึกถึงคราวเจ็บป่วยมักไม่ค่อยอยากออกไปรับการรักษา เพราะระยะทางค่อนข้างไกลเเละถนนหนทางไม่ได้สะดวกสบายนัก หากเป็นช่วงฤดูฝนด้วยเเล้ว ถ้าไม่มีความจำเป็นใดๆ หลายคนก็เลี่ยงที่จะเดินทางเข้าออก เพราะบางทีอาจเสียเวลาเป็นวัน หรืออาจมากกว่านั้น

อย่างบางครั้งกว่าจะได้ออกมา พอถึงโรงพยาบาลก็พบว่าคิวเต็มเสียเเล้ว หรือไม่ก็ต้องรอคิวการรักษาในวันถัดไป ในส่วนของสวัสดิการในการเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว จึงไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จะมีก็เพียงสิทธิบัตรทองที่ตนถืออยู่เท่านั้น

ด้วยภารกิจหนึ่งของงานพิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพผู้พิทักษ์ป่าเเละชุมชนรอบป่า โดยมีสภากาชาดไทยเป็นหัวเเรงหลัก เเละได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเหล่ากาชาดเเละหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานี เเละจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมเเรงกันให้โครงการฯ นี้เกิดขึ้นเเละสำเร็จได้ด้วยดี ด้วยเห็นร่วมกันว่า สุขภาพของผู้พิทักษ์ป่าเเละคนในชุมชนโดยรอบนั้น มีความสำคัญ และโอกาสในการเข้าถึงการรักษาก็จำเป็นไม่เเพ้กัน

ในครั้งนี้เป็นการร่วมงานกันเป็นครั้งที่ 3 ของมูลนิธิสืบฯ กับสภากาชาดไทย ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำนักงานบรรเทาทุกข์ เเละประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เพื่อผู้พิทักษ์ป่า เเละชุมชนรอบป่าจังหวัดอุทัยธานี เเละจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2566 

การออกหน่วยเเพทย์ครั้งนี้ประกอบไปด้วยการรักษาโรคทั่วไป พร้อมจ่ายยา หน่วยทันตกรรม ให้การบริการด้านการอุดฟัน ถอนฟัน เเละขูดหินปูน หน่วยการให้บริการด้วยวิธีฝังเข็มประยุกต์ เเละการให้ความรู้ด้านสุขศึกษา รวมทั้งมีการมอบชุดของขวัญสภากาดไทยวันละ 100 ชุด ตู้ยาสามัญประจำบ้าน รถเข็นผู้พิการให้กับผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ละ 2-3 คัน ต่อวัน

ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินการตามภารกิจหลักของสำนักงานบรรเทาทุกข์ เเละประชานามัยพิทักษ์ คือการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารให้เข้าถึงการบริการทางการเเพทย์เเล้ว ยังถือเป็นการขอบคุณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่ไฟป่า เเละประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบผืนป่า ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ในเรื่องการรักษาป่า เพื่อลดการเกิดภัยพิบัติ เเละรักษาชนิดพันธุ์พืชเเละสัตว์ป่าให้คงอยู่ต่อไป 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรในนามตัวเเทนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เเละชุมชนรอบผืนป่า ขอขอบคุณทีมงานหน่วยเเพทย์เคลื่อนที่สภากาชาดไทย ที่มาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจ เเละหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสในการจัดกิจกรรมดีๆ อย่างนี้โดยขยายผลไปยังพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ต่อไป

ภาพประกอบ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ คชาณพ พนาสันติสุข

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส