คู่มือการสำรวจกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์

คู่มือการสำรวจกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์

ช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์อย่างรวดเร็วมาพร้อมกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งความต้องการทางด้านปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย รวมทั้งความต้องการพัฒนาและขยายเมือง โดยมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นรากฐานในการพัฒนาและตอบสนองความต้องการของมนุษย์ 

กิจกรรมเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ถิ่นที่อยู่อาศัย และจำนวนประชากรสัตว์ป่า จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า (Human – Wildlife Conflict) ที่กระจายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน โดยมีสาเหตุหลักจากความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ จนกลายเป็นการรุกล้ำระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า เพื่อแย่งชิงแหล่งที่อยู่อาศัยและทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างจำกัดในการดำรงชีวิต

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมทางชีวภูมิศาสตร์ที่สำคัญ มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน โดยมีลักษณะภูมิประเทศตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลไปจนถึงยอดเขาสูงแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความหลากหลายของพืชพรรณและชนิดของสัตว์ป่า โดยการกระจายตัวของสัตว์ป่าทางตอนเหนือของประเทศจะอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์อินโดจีน (Indochinese Region) และสัตว์ป่าที่มีการแพร่กระจาย ทางด้านตอนใต้ของประเทศจะอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์ซุนดา (Sundaic Region) 

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพืชพรรณ มากกว่า 400 แห่ง ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่วนอุทยาน พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ และพื้นที่สวนรุกขชาติ พื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสำคัญทั้งสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งพืชพรรณต่างๆ

ในขณะเดียวกันพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนตั้งอยู่ด้านในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่มีความสัมพันธ์กับผืนป่า จึงส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่จากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การทำการเกษตร การขยายพื้นที่ทำกิน การบุกรุกพื้นที่ป่า การตัดไม้ การลักลอบล่าสัตว์ป่า การเก็บหาของป่า เป็นต้น โดยกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า หรือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน 

ปัจจุบันชุมชนที่มีพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์เป็นชุมชนที่มีกฎระเบียบและข้อปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดความสมดุลในการอยู่ร่วมกันระหว่างผืนป่า สัตว์ป่า และมนุษย์ ดังนั้น การสำรวจกิจกรรมมนุษย์และร่องรอยสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถอธิบายหรือหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมมนุษย์กับสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์แต่ละแห่งได้ และนำมาซึ่งการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งเป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ เอกชน และองค์กรอนุรักษ์