สาส์นสืบ – 22 ปี หลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร

สาส์นสืบ – 22 ปี หลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร

ป่าห้วยขาแข้งก่อนการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร (2506-2533)

ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่รับรู้กันในหมู่คนเดินป่า ล่าสัตว์ และทำไม้ ว่าเป็นป่าดิบที่แทบไม่มีร่องรอยมนุษย์ตั้งถิ่นฐาน มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ต่อเนื่องกับป่าทุ่งใหญ่เมืองกาญจน์ เมืองตาก ออกไปถึงพม่า เป็นฉากสำคัญในมหานิยายผจญภัยเรื่องเพชรพระอุมา (คุณพนมเทียนเขียนเพชรพระอุมาตั้งแต่ช่วง 2507 ซึ่งอยู่ในช่วงการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาจบภาคสองในปี 2533 นี่เอง) มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก แต่โดยรอบก็มีการให้เป็นพื้นที่สัมปทานไม้หลายพื้นที่

วันที่ 29 สิงหาคม 2508 2508 คุณอุดม ธนัญชยานนท์ สามารถนำภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มาเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ การสำรวจพบควายป่า สัตว์ที่ทุกคนเชื่อว่าหมดไปแล้วจากเมืองไทย (นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เขียนไว้ในนิตยสารนิยมไพร เมื่อ 2501 ว่า ควายป่าตัวสุดท้ายอาจจะถูกยิงที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2451 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว) ทว่าได้เพียงภาพซากของมัน เพราะพรานเพิ่งจะเด็ดชีพมันไปเสียก่อน

คุณอุดมได้เขียนรายงานสำรวจแก่กรมป่าไม้ว่า “สัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนและปริมาณมาก มีสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก เช่น แรด จากการสอบถามได้ความว่ายังอาจมีอยู่ ส่วนสัตว์ที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง ควายป่า กระจง สมเสร็จ หมี ชะนี ลิง ค่าง เสือ หมูป่า ไก่ผ่า ไก่ฟ้า นกเงือก ฯลฯ”

ซึ่งในรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาการล่าสัตว์ โดยแบ่งนายพรานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มล่าสัตว์เป็นอาชีพ ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดใกล้เคียง ใช้รถยนต์หรือช้างเป็นพาหนะ ทำให้สามารถล่าเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ นิยมล่าในฤดูแล้ง อีกกลุ่มเป็นพรานสมัครเล่น เป็นพ่อค้า คหบดี ใช้อาวุธคุณภาพสูง ยิงสัตว์ป่าเพื่ออวดฝีมือ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นชาวบ้านล่าสัตว์เป็นอาหาร

ใน พ.ศ. 2513 คณะสำรวจกรมป่าไม้ นำโดย คุณผ่อง เล่งอี้ พร้อมทั้งช่างภาพชื่อ คุณชวลิต เนตรเพ็ญ เข้าสำรวจ และสามารถถ่ายภาพยนต์ควายป่าทั้งฝูง รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ทั้งฝูงวัวแดง นกยูง กวาง นำมาฉายให้คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าดู

ตัวคุณผ่องเคยกล่าวว่า “…ตื่นเต้นมากที่เห็นฝูงควายป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต ตัวของมันใหญ่มาก เวลามันวิ่งแผ่นดินสะเทือน…”