สาส์นสืบ – คุณค่าป่าตะวันตก

สาส์นสืบ – คุณค่าป่าตะวันตก

“ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ 20 แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึงเก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่างๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหารหรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน”

 

ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งของคำสัมภาษณ์ของสืบ นาคะเสถียร ให้กับนิตยสารสารคดี ก่อนที่จะยิงตัวตายเพียงไม่นาน แสดงเจตนาของสืบอย่างชัดเจนว่าเขาต้องการให้เราเก็บพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต่างๆ ของประเทศเอาไว้ให้ได้ร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศ

แม้ในปัจจุบันจะมีข้อมูลว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าปกคลุมอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ประเทศ แต่หากพิจารณาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทั้งที่ประกาศแล้วและเตรียมประกาศ ทั้งหมดมีพื้นที่ประมาณร้อยละ 18 เพียงเท่านั้น

การทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พยายามจำกัดพื้นที่ในงานรณรงค์เคลื่อนไหว และสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้อยู่ในพื้นที่ป่าตะวันตก 17 พื้นที่อนุรักษ์ โดยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติอยู่ใจกลาง จึงมักเกิดคำถามขึ้นกับบุคคลทั่วไปถึงเหตุผลว่าทำไมมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงจำเพาะเจาะจงการทำงานในผืนป่าตะวันตกอย่างเข้มข้นกว่ากลุ่มป่าอื่นๆ ไม่ใช่เพราะแค่เพียงการสืบทอดเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียรในการรักษาป่าผืนใหญ่ที่สุดของไทยเอาไว้เท่านั้น แต่ผืนป่าตะวันตกยังมีคุณค่านานัปการ

ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้รวบรวมข้อมูลคุณค่าป่าตะวันตกอย่งเป็นรูปธรรมเพื่อให้เข้าใจง่าย โดยแบ่งเป็น 4 คุณค่าสำคัญที่ได้รับจากป่าตะวันตก คือ แหล่งต้นน้ำ แหล่งเก็บกักคาร์บอน แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ และสถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติที่สำคัญรอบผืนป่าตะวันตก