สถานการณ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมไทย 2566

สถานการณ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมไทย 2566

“ป่าไม้” กล่าวคือ สังคมของพืชทุกชนิดและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา แมลง สัตว์ป่าชนิดต่างๆ รวมถึงสิ่งไม่มีมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ดิน แม่น้ำ ภูเขา ซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดการหมุนเวียนและแลกเปลี่ยนของระบบนิเวศ หรือกล่าวอีกนัย สังคมของพืชและสิ่งมีชีวิตในป่ามีลักษณะคล้ายกับสังคมของมนุษย์ ที่มีทั้งการแก่งแย่งแข่งขัน (Competition) เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด มีการเกิดใหม่และทดแทน (Succession) เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตน มีการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ได้ประโยชน์เอื้ออำนวยต่อกัน จนก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศหนึ่งๆ ได้

ประโยชน์ของป่าไม้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ประโยชน์ทางตรง และประโยชน์ทางอ้อม

1. ประโยชน์ทางตรง เช่น เนื้อไม้ เชื้อเพลิง วัตถุทางเคมี อาหาร ยารักษาโรค เส้นใยจากเปลือกไม้หรือเถาวัลย์ ชันน้ำมันและยางไม้ อาหารสัตว์ ฝาดฟอกหนัง และสีธรรมชาติ รวมทั้ง การกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

2. ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ป่าไม้ทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยรักษาคุณภาพของอากาศ รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกได้

สถานการณ์ป่าไม้ไทย ปี 2566 – 2567

จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่

สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้แบ่งตามรายภูมิภาค มีดังนี้

1. ภาคกลาง มีพื้นที่ป่าไม้ 12,263,466.16 ไร่ หรือ 21.55% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 15,608,130.07 ไร่ หรือ 14.89% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 87,575.79 ไร่

3. ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้ 4,703,353.52 ไร่ หรือ 21.82% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 7,874.77 ไร่

4. ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้ 20,033,806.37 ไร่ หรือ 58.86% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 49,667.70 ไร่

5. ภาคใต้ พื้นที่ป่าไม้ 11,232,880.27 ไร่ หรือ 24.34% ของพื้นที่ภูมิภาค เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 8,395.32 ไร่

6. ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่

ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ ได้มีการนำเทคนิคการซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแต่ละปี โดยทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น 2. พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และ 3. พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลัก ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต

พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้

สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2566

จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2566 ได้มีการรายงานเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยในรอบปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกทั้งหมด 11 รายสาขา ดังนี้

1. ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พบว่า สถานการณ์ดีขึ้น มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตรลดลง 

2. ทรัพยากรแร่ พบว่า สถานการณ์ดีขึ้น มีปริมาณการผลิต การใช้ การส่งออก และการนำเข้าทรัพยากรแร่ลดลง

3. พลังงาน พบว่า การผลิตพลังงานขั้นต้นลดลง มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มีการนำเข้าพลังงานขั้นต้น (สุทธิ) เพิ่มขึ้น มีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานลดลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม

4. ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พบว่า มีการประกาศพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพิ่มขึ้น ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม ได้แก่ พื้นที่ป่าได้รับผลกระทบจากไฟป่าเพิ่มขึ้น สัตว์ป่าออกหากินนอกเขตป่าเพิ่มขึ้น เช่น ช้างป่า กระทิง ลิง เป็นต้น

5. ทรัพยากรน้ำ พบว่า ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีลดลง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลาง มีปริมาตรน้ำใช้เพิ่มขึ้น

6. ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า สถานการณ์ที่ดีขึ้น ได้แก่ ความสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเพิ่มขึ้น แนวปะการังส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ดี ด้านสถานการ์ที่ควรเฝ้าติดตาม ได้แก่ พื้นที่การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงเพิ่มขึ้น

7. ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่า มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ของโลกในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

8. สถานการณ์มลพิษ พบว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กรายปีลดลง คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินภาพรวมดีขึ้น ด้านสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าติตาม ได้แก่ ปริมาณขยะมูลฝอย/ขยะพลาสติก/ขยะติดเชื้อ และของเสียอันตรายชุมชนเพิ่มขึ้น

9. สิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน พบว่า สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น

10. สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม พบว่า สถานภาพแหล่งธรรมชาติที่ควรเป็นแหล่งอนุรักษ์อยู่ในระดับดี และอุทยานธรณีในระดับท้องถิ่นได้รับการรับรองเพิ่มขึ้น

11. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ พบว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ และสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม ได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและเพิ่มขึ้น

โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตไว้ 2 ระยะ ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระยะสั้น และการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น มีการคาดการณ์ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า 

1. จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน:  จากการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างในเมืองหลัก และแหล่งท่องเที่ยว อาจส่งผลทำให้ดินเสื่อมโทรม เกิดการชะล้างพังทลายของดิน ฝุ่นควันจากการเผาวัสดุทางการเกษตร ขยะ และน้ำเสีย ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายภาคเกษตรกรรมแนวโน้มลดลง และมีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรบางชนิด จะเป็นโอกาสในการฟื้นฟูและรักษาคุณภาพดิน

2. การผลิตและการใช้แร่จะลดลง: จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้าง จะทำให้มีการใช้แร่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้หินปูนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมซีเมนต์ ดังนั้น การผลิตแร่เพื่อใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาการใช้น้ำ และการปนเปื้อนของมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ 

3. การพึ่งพิงพลังงานจากภายนอกประเทศจะเพิ่มขึ้น: เนื่องจากการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเดินทางที่เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาการจราจรขนส่งและการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ การใช้พลังงานมีโอกาสจะขยายตัวช้าลงจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของภาครัฐ รวมถึงความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนที่จะกลับมาเพิ่มขึ้น  

4. ปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มมากขึ้น: โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว บรรจุภัณฑ์จากบริการส่งสินค้าและอาหาร การใช้พลาสติกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 และปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีการคัดแยกขยะ ทำให้ขยะพลาสติกจะถูกนำไปทิ้งรวมกันในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งมีโอกาสถูกพัดพาออกสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งน้ำ และลงสู่ทะเล

5. ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและในทะเลถูกคุกคาม: จากการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ปัญหาไฟป่า การกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า การจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวที่เข้าสู่ภาวะปกติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนการคุกคามจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานจะทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองมีจำนวนลดน้อยลง  

6. ความแปรปรวนของสภาพอากาศจะชัดเจนมากขึ้น: ทั้งในด้านอุณหภูมิ ปริมาณฝน ความชื้น และระดับน้ำทะเล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่า จะกระทบต่อการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ และกระทบต่อกลุ่มที่เสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ เกษตรกร ชุมชนชายฝั่ง ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว มีการคาดการณ์ในช่วง 10 ปี ข้างหน้า

1. ด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการขยายตัวของเมือง: จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ทำให้มีปริมาณขยะจากการบริโภคของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แหล่งกำเนิดขยะชุมชนจะกระจายตัวตามเมืองต่าง ๆ เป็นบริเวณกว้าง แทนการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ขยะจะเพิ่มขึ้นจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ความรุนแรงของปัญหาขยะจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการคัดแยกขยะของประชาชนและประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2. ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: มีผลต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของพืชและสัตว์ การดำรงชีวิตของปะการังและสัตว์ทะเล และผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งได้นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ และจูงใจให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น

3. ด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม: มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานสะอาดและการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การนำวัสดุหรือของเสียแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ และการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอาจทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำไปใช้ในอัตราที่เร็วขึ้น และเกิดซากชิ้นส่วนอุปกรณ์หลังการใช้งานและขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นตามมา

4. ด้านการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ: ในอนาคตการเติบโตด้านเศรษฐกิจอาจมีความไม่แน่นอน จะขึ้นอยู่กับการส่งออกราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ จะมีผลต่อการใช้ที่ดิน การใช้ทรัพยากรและพลังงาน การเกิดขยะ ของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจนมาโดยตลอด แต่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อความตกลงปารีสในการลดก๊าซเรือนกระจก ความต้องการของคู่ค้าและเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

5. ด้านทิศทางนโยบายระดับประเทศและระหว่างประเทศ: ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการชี้นำและกำกับดูแลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) การมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาและความตกลงในระดับโลกและระดับภูมิภาค ช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะจากการใช้พลังงานและการขนส่ง แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต อาจมีผลต่อการสนับสนุนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง