นกเงือกไทย 13 ชนิด

นกเงือกไทย 13 ชนิด

นกเงือก (Hornbills) เป็นสัตว์โบราณถือกำเนิดมาเมื่อประมาณ 50-60 ล้านปี และประเทศไทยเองก็มีแหล่งที่สำคัญของ นกเงือกไทย มากถึง 13 ชนิด

วันรักนกเงือกตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี ก่อนวันวาเลนไทน์เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ด้วยพฤติกรรมการครองรักและผสมพันธุ์กับคู่เดิม จนกว่าคู่ของมันทำหน้าที่ได้ไม่ถูกใจแล้วจึงค่อยหาคู่ใหม่ พวกเราจึงยกย่องนกเงือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก ในประเทศไทย มีนกเงือกอยู่ด้วยกัน 13 ชนิด ทั้ง 13 ชนิดมีอะไรบ้าง ก่อนที่พวกเราจะเห็นแค่ภาพถ่ายของมัน ชวนไปทำความรู้จักกันในเรื่องราวต่อไปนี้

 

นกเงือกคอแดง ชื่อภาษาอังกฤษ: Rufous-necked Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aceros nipalensis
ขนาด: 110-120 ซม.
ตัวผู้: หัว คอ อกสีสนิมเหล็ก ใต้ท้องมีสีน้ำตาลเข้ม
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 800-2,000 ม.
สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์

 

นกเงือกปากดำ หรือ กาเขา ชื่อภาษาอังกฤษ: Bushy-crested Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anorrhinusgaleritus
ขนาด: 80-90 ซม.
ตัวผู้: ปากและโหนกสีดำ
ตัวเมีย: ปากและโหนกสีเหลืองแซมดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบชื้นทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุกคาม

 

นกเงือกสีน้ำตาล ชื่อภาษาอังกฤษ: Brown Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ptilolaemus tickelli
ขนาด: 74 ซม.
ตัวผู้: ขนคอและอกสีน้ำตาลแดง ปากสีน้ำตาล
ตัวเมีย: สีน้ำตาลดำ ปากสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัง
สถานภาพ: มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

ความพิเศษของนกเงือกสีน้ำตาล คือ เป็นนกเงือกที่มี ‘ผู้ช่วยเลี้ยง’ กล่าวคือ ลูกนกตัวผู้รุ่นแรกของครอบครัวหรือนกเงือกสีน้ำตาลตัวผู้ที่ยังไม่มีคู่ผสมพันธ์ุ จะคอยช่วยเหลือพ่อนกหาอาหารเลี้ยงดูแม่และลูก กระทั่งย่างเข้าฤดูฝน ลูกนกเงือกเติบโตพอที่จะโผบินออกสู่โลกภายนอกพร้อมครอบครัว และเรียนรู้การเป็นนกเงือกหาอาหารต่อไป

 

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว ชื่อภาษาอังกฤษ: White-throated Brown Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ptilolaemus austeni
ขนาด: 74 ซม.
ตัวผู้: ขนคอและอกสีขาว
ตัวเมีย: สีน้ำตาลดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงมากกว่า 700 ม.
สถานภาพ: มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว มีความคล้ายกับ นกเงือกสีน้ำตาล แต่ต่างกันที่ถิ่นอาศัย นกเงือกสีน้ำตาลจะอาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตก แต่นกเงือกตัวนี้ จะอาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันออกนั่นเองค่ะ

 

นกเงือกดำ ชื่อภาษาอังกฤษ: Black Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros malayanus
ขนาด: 75-80 ซม.
ตัวผู้: ปากและโหนกสีงาช้าง หนังรอบตาสีดำ
ตัวเมีย: ปากและโหนกสีดำ หนังรอบตาสีชมพู
ถิ่นอาศัย: ป่าที่ราบต่ำ และป่าพรุทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

พวกมันมักอาศัยบริเวณป่าที่ราบต่ำ ซึ่งป่าพื้นที่ราบต่ำนี้เองเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแผ่วถางง่าย ทำให้นกเงือกดำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์ุอย่างยิ่ง

 

นกเงือกหัวหงอก ชื่อภาษาอังกฤษ: White-crowned Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Berenicornis comatus
ขนาด: 90 ซม.
ตัวผู้: ขนใต้คอถึงลำตัวสีขาว ขนบริเวณก้นสีดำ
ตัวเมีย: ขนบนหัวมีสีขาว ขนใต้คอถึงลำตัวสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบชื้น
สถานภาพ: มีแนวโน้มสูญพันธุ์

พวกเขามักอาศัยรวมกันเป็นฝูงขนาดเล็ก ราว 4-7 ตัว บินด้วยความเงียบ หากเขาร้องเราจะได้ยินเสียง “อุ๊…อุ๋” ภายในป่าดิบชื้น ลักษณะที่เหมือนผู้เฒ่าทรงภูมิทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนหนึ่ง

 

นกแก๊ก ชื่อภาษาอังกฤษ: Oriental Pied Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros albirostris
ขนาด: 70-80 ซม.
ตัวผู้: ปากและโหนกสีงาช้าง หน้าและโหนกมีสีดำ
ตัวเมีย: ปากและโหนกมีสีดำแต้ม
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุมคาม

พบพวกเขาได้ทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พวกมันสามารถปรับตัวได้ดีทำให้มีประชากรมากที่สุด พวกมันชอบโหวกเหวกโวยวาย จึงเป็นที่มาของชื่อ มันมักจะร้อง “แก๊ก แก๊ก แก๊ก” เสียงดังลั่น ก่อนที่เราจะเห็นตัวเสียอีก

 

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ชื่อภาษาอังกฤษ: Plain-pouched Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros subruficollis
ขนาด: 90 ซม.
ตัวผู้: หน้าและคอสีขาว กระหม่อมถึงท้ายทอยสีน้ำตาลเข้มถุงใต้คอสีเหลือง ไม่มีขีดสีดำ
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ ถุงใต้คอสีฟ้า ไม่มีขีดสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผสมผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์
ละโหนกมีสีดำแต้ม
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุมคาม

พวกเขาเป็นนกที่บินเก่งและบินได้ระยะทางไกลๆ มีถิ่นอาศัยอยู่ผืนป่าตะวันตก ช่วงนี้เป็นระยะปิดรังเพื่อฝักไข่และเลี้ยงดูลูกพอดิบพอดี และพอปลายเดือนพฤษภาคมจะเริ่มอพยพลงใต้รวมกลุ่มกันที่อุทยานฯบางลางและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา

 

นกเงือกกรามช้าง ชื่ออังกฤษ: Wreathed Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros undulatus
ขนาด: 100-110 ซม.
ตัวผู้: หน้าและคอสีขาว กระหม่อมถึงท้ายทอยสีน้ำตาลเข้มถุงใต้คอสีเหลืองมีขีดสีดำ
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ ถุงใต้คอสีฟ้ามีขีดสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุกคาม

พวกเขาจะทำรังงวางไข่ในโพรงรังที่เป็นไม้ยืนต้นลักษณะขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในป่าที่้ต้องมีความอุดมสมบูรณ์ นั่นคือความเปราะบางของเหล่านกเงือกซึ่งหมายถึงหากป่าถูกบุกรุกทำลาย พวกเขาก็จะไม่มีที่อยู่ และต้องลาจากไปในที่สุด

 

นกเงือกปากย่น ชื่อภาษาอังกฤษ: Wrinkled Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros corrugatus
ขนาด: 75-90 ซม.
ตัวผู้: ส่วนหน้าและคอสีขาว โหนกสีแดง ถุงใต้คอสีขาวแกมน้ำเงิน
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ ถุงใต้คอสีฟ้ามีขีดสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าที่ราบต่ำทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

พวกนกเงือกจะกินผลไม้เป็นอาหาร พฤติกรรมการกินก็คือจะกลืนผลไม้ทั้งเมล็ดลงไป คงนึกภาพตอนถ่ายมูลออกใช่ไหมคะ พวกเขาก็จะถ่ายมูลออกมาทั้งเมล็ดที่มีสภาพสมบูรณ์

ดังนั้นตลอดระยะทางการบิน พวกเขามันก็จะถ่ายมูลไปเรื่อยตามประสานก เมล็ดพรรณที่นกเงือกกินเมื่อหล่นสู่ผืนดินที่เหมาะสม ก็จะทำให้เมล็ดนั้นงอกกลายเป็นกล้าไม้ เจริญโต และอยู่รวมกันเป็นผืนป่า คงไม่ใช่การเกินเลยที่ฉันจะบอกว่า อนุรักษ์นกเงือก = ปลูกป่า

 

นกกก ชื่อภาษาอังกฤษ: Great Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros bicornis
ขนาด: 130-150 ซม.
ตัวผู้: มีม่านตาสีแดง และโหนกมีสีดำทางด้านหน้าและด้านหลัง
ตัวเมีย: ม่านตาสีขาว ไม่มีสีดำบริเวณโหนก
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผสมผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุกคาม

ข้อจำกัดหลายอย่างทำให้พวกมันเพิ่มประชากรได้น้อย หากป่าไม่อุดมสมบูรณ์และนกเงือกยังตกเป็นเป้าหมายของการล่าอยู่ ก็คงไม่แคล้วที่จะต้องสูญพันธุ์ไป

 

นกเงือกหัวแรด ชื่อภาษาอังกฤษ: Rhinoceros Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros rhinoceros
ขนาด: 110-130 ซม.
ตัวผู้: ม่านตาสีแดง ขอบโหนกด้านล่างมีเส้นสีดำตลอดแนวปากและโหนกสีดำ
ตัวเมีย: ม่านตาสีขาว ขอบโหนกด้านล่างมีเส้นสีดำตลอดแนวปากและโหนกไม่มีสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบชื้นทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์

 

นกชนหิน ชื่อภาษาอังกฤษ: Helmeted Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoplax vigil
ขนาด: 127 ซม. (รวมหางยาวพิเศษ 50 ซม.)
ตัวผู้: หนังเปลือยบริเวณสีคอแดงคล้ำ
ตัวเมีย: หนังบริเวณคอสีฟ้า
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ
สถานภาพ: ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code