หิ่งห้อย กำลังจะสูญพันธุ์ เหตุเพราะการสูญเสียที่อยู่อาศัย ยาฆ่าแมลง และแสงไฟยามค่ำคืน

หิ่งห้อย กำลังจะสูญพันธุ์ เหตุเพราะการสูญเสียที่อยู่อาศัย ยาฆ่าแมลง และแสงไฟยามค่ำคืน

หิ่งห้อย ทั่วโลกได้สร้างแสงสีงดงามในยามค่ำคืนด้วยการเปล่งประกายแสงออกจากร่าง แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การแสดงอันสุดแสนมหัศจรรย์นี้กำลังถูกคุกคาม โดยมีสาเหตุจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การใช้ยาฆ่าแมลง และแสงไฟกลางราตรีที่เกิดจากมนุษย์

การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่นำไปสู่การลดลงของสัตว์ป่าหลายชนิด ในขณะที่หิ่งห้อยเองก็ต้องพบกับความทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน เพราะแมลงปีกแข็งชนิดนี้มีความต้องการสภาพแวดล้อมบางอย่างเพื่อให้วงจรชีวิตสามารถดำเนินไปจนครบกระบวนการ Sara Lewis ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) และผู้ทำวิจัย อธิบาย

นักวิจัยยกตัวอย่าง หิ่งห้อยมาเลเซีย (Pteroptyx tener) ต้องการป่าชายเลนและพืชที่เหมาะแก่การใช้เป็นที่ขยายพันธุ์ แต่พื้นที่ป่าชายเลนของมาเลเซียปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นปาล์มน้ำมันและฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปเสียเป็นส่วนใหญ่

ขณะเดียวกัน นักวิจัยพบว่าแสงไฟในยามค่ำคืนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงอันดับสองของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้

แสงไฟในที่นี้ หมายรวมทั้งแสงไฟบนถนน ป้ายโฆษณา และแสงสว่างที่กระจายไปทั่วท้องฟ้ายามค่ำคืน ซึ่งความสว่างสไวนี้ได้แผ่กระจายออกไปถึงนอกเขตเมืองหลวง นักวิจัยเปรียบว่า แสงเหล่านี้สว่างยิ่งกว่าแสงจันทร์วันเพ็ญเสียอีก

Avalon Owens นักศึกษาปริญญาเอกทางชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ และผู้ร่วมวิจัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “มลพิษทางแสง นอกจากจะเป็นการรบกวนวัฏจักรตามธรรมชาติและชีวิตมนุษย์แล้ว มันยังมีผลต่อการพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยด้วย”

 

หิ่งห้อย จำนวนมาก จำเป็นต้องพึ่งพาการเรืองแสง

ปฏิกิริยาเคมีภายในร่างกายช่วยทำให้หิ่งห้อยสามารถส่องแสงออกมาได้ และแสงที่ว่าก็มีส่วนช่วยในการค้นหาและดึงดูดหิ่งห้อยตัวอื่นๆ ทว่าแสงไฟที่มีมากเกินไปในปัจจุบันกำลังรบกวนพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของแมลงชนิดนี้ ซึ่งแม้ว่าเราจะเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED ที่ประหยัดพลังงานมากกว่าและไม่ให้แสงสว่างที่มากเกินไปก็อาจไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นสักเท่าไหร่ Avalon Owens กล่าว

ในงานศึกษาตั้งข้อสังเกตจากการประมาณการว่า มีพื้นผิวโลกมากกว่า 23% ที่สัมผัสกับแสงสว่างระดับหนึ่งในเวลากลางคืน

อย่างไรก็ตามประเด็นการลดลงของหิ่งห้อยนี้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในระยะยาว เพื่อทำความเข้าใจถึงประเด็นที่ว่าจำนวนหิ่งห้อยนั้นลดลงในระดับใดกันแน่ เพราะที่ผ่านมาหลักฐานเกี่ยวกับตัวเลขของหิ่งห้อยล้วนมากจากการบอกเล่าเป็นเสียส่วนใหญ่

หิ่งห้อย มีความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลง

Dave Goulson ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ (University of Sussex) ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอันดับแรก แต่เรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็เป็นเรื่องรองที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน และประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลที่เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนแมลงโดยทั่วไปลดน้อยลงอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ กล่าวต่อว่า แน่นอนว่าหิ่งห้อยเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อมลภาวะทางแสงมากกว่าแมลงกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่แสงสว่างยามค่ำคืนคือประเด็นสำคัญ ทว่า “การล่มสลายของแมลงที่ไม่มีใครสังเกตเห็น” ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มประชากรแมลง มีแมลงมากถึง 41% ชนิดที่กำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์ ตามรายงานล่าสุดเกี่ยวกับการลดลงของแมลง

ในส่วนของหิ่งห้อยมีความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลงจำพวกนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids) ซึ่งมีใช้กันมากที่สหรัฐอเมริกาในกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดและเมล็ดถั่วเหลือง

ภัยจากการท่องเที่ยวชม หิ่งห้อย

นอกเหนือจากที่กล่าวมา อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการลดลงของหิ่งห้อย ซึ่งผู้วิจัยเรียกว่า “การท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย” ในสถานที่ต่างๆ เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย เป็นกิจกรรมสันทนาการที่พานักท่องเที่ยวเดินทางไปชมแสงสีอันน่าประทับใจของหิ่งห้อยบางสายพันธุ์ และตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยนี้ สามารถดึงดูดผู้สนใจได้กว่า 200,000 คนต่อปี ก็เป็นสาเหตุอีกประการที่ส่งผลกระทบมากมายต่อชีวิตหิ่งห้อย

นักวิจัยกล่าวว่า กิจกรรมแล่นเรือยนต์ตามลำน้ำของป่าชายเลนในประเทศไทยได้นำไปสู่การโค่นต้นไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพังทลายของตลิ่งและแหล่งที่อยู่อาศัย หรือในพื้นที่นอร์ทแคโรไลนา ประเทศเม็กซิโก ก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน

นักวิจัยอธิบายว่ามีความจำเป็นต้องสร้างแนวทางเพื่อการจัดการสถานที่ท่องเที่ยวให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด เพื่อปกป้องหิ่งห้อยนอกเหนือจากภัยคุกคามด้วยมลพิษทางแสงและยาฆ่าแมลง

“เป้าหมายของงานวิจัยคือสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าของพื้นที่ ผู้กำหนดนโยบาย และกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบหิ่งห้อยในทุกๆ แห่งหน” Sonny Wong หนึ่งในทีมวิจัยและสมาชิกสมาคมธรรมชาติแห่งมาเลเซีย กล่าว “เราต้องการให้หิ่งห้อยยังคงส่องสว่างในยามค่ำคืนต่อไปอีกนานเท่านาน”

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง Fireflies are facing extinction due to habitat loss, pesticides and artificial light