ประชากร เพนกวิน ชินสแตรป อาจลดลงเกินครึ่งหนึ่งบนเกาะในแอนตาร์กติก

ประชากร เพนกวิน ชินสแตรป อาจลดลงเกินครึ่งหนึ่งบนเกาะในแอนตาร์กติก

ทางเหนือของแหลมแอนตาร์กติก มีเกาะที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งรูปร่างคล้ายหัวช้าง ทุกๆ ปี ถึงแม้ว่าจะมีลมแรง และภูมิทัศน์ที่เต็มไปด้วยหินแหลม หน้าผา และธารน้ำแข็ง เพนกวิน ชินสแตรป (Chinstrap penguin) กว่าแสนชีวิตก็จะมาทำรังกันที่ชายฝั่งแห่งนี้ ทำให้เกิดภาพทะเลที่เต็มไปด้วยจุดสีขาวและดำ

 

NG MAPS

 

“พวกมันเหมือนนักปีนเขาตัวน้อยๆ” โนอาห์ สไตรกเกอร์ (Noah Strycker) นักปักษีวิทยาปริญญาโทมหาวิทยาลัยสโตนีบรุ๊คในนิวยอร์กกล่าว “บางครั้งพวกมันปีนขึ้นไปสูงถึง 90 – 120 เมตร” หลังจากที่สไตรกเกอร์และทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เวลา 11 วันในการนับจำนวนรังของเพนกวินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาพบว่าเพนกวินหลายหมื่นตัวหายไป

“หากเทียบกับจำนวนที่สำรวจเมื่อ 50 ปีก่อน เราพบว่าจำนวนรังของเพนกวินชินสแตรปลดลงถึง 56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตะลึง” เขากล่าว

เนื่องจากสถานที่ค่อนข้างอยู่ห่างไกล และสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การสำรวจประชากรเพนกวินชินแสตรปบนเกาะดังกล่าวครั้งล่าสุดคือเมื่อ พ.ศ. 2513 โดยพบรังจำนวน 123,000 รัง แต่ทีมของสไตรกเกอร์กลับพบจำนวนรังที่น้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวราวครึ่งหนึ่ง

ในขณะที่การเดินทางครั้งล่าสุดยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ทำให้จำนวนรังลดลงอย่างน่าตื่นตะลึง นักวิจัยทีมอื่นๆ ได้พบความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ดังกล่าวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลที่ค้นพบจะน่าตื่นตระหนก แต่สไตรกเกอร์ก็ย้ำว่าผลดังกล่าวยังเป็นงานศึกษาเบื้องต้นเท่านั้นและยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ เขาเสริมว่าเกาะดังกล่าวยังคงเต็มไปด้วยเจ้านกตัวเล็กน่ารัก และสถานะของชนิดพันธุ์ยังคง “ต้องกังวลน้อยที่สุด” ตามเกณฑ์ของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature)

“แต่ว่า สถานะดังกล่าวก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาครั้งนี้”

 

 

คิดแบบเพนกวิน

การทำสำมะโนประชากรบนเกาะรูปช้าง ขั้นแรกจำเป็นต้องมีเรือที่ทนต่อความเหี้ยมโหดของทะเลแอนตาร์กติก ซึ่งทีมของสไตรกเกอร์ได้ใช้เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซ แต่เนื่องจากเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าใกล้เกาะดังกล่าวได้ ทีมงานจะต้องใช้เรือยางเข้าเทียบจุดหนึ่งของเกาะที่ไม่ใช่หน้าผา

“เราจำเป็นต้องกระโดดลงจากเรือยาง ปีนป่ายไปบนหินลื่นที่เต็มไปด้วยสาหร่าย แล้วค่อยๆ กระถดตัวขึ้นไป” สไตรกเกอร์กล่าว คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องทำตัวไม่ต่างจากเพนกวินชินแสตรป

เมื่อเข้าถึงฝั่ง ทีมนักวิทยาศาสตร์จะแบ่งงานกันทำโดยเริ่มนับจำนวนรังของเพนกวินแต่ละรัง “มันฟังดูง่ายมาก แต่มันเป็นงานที่ต้องอดทดอย่างยิ่ง” สไตรกเกอร์กล่าว เหตุผลหนึ่งที่การเดินทางสำรวจต้องทำในช่วงเดือนมกราคม เนื่องจากเป็นช่วงที่เพนกวินชินแสตรปจะอายุประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งทำให้การนับรังที่มีการใช้งานเป็นเรื่อง่ายขึ้นมา “ในอีกไม่กี่สัปดาห์ ลูกนกจะโตพอที่จะรวมตัวเป็นก้อนกลม ซึ่งทำให้ยากที่จะนับจำนวน”

 

ผู้ปกป้องท้องทะเล

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นๆ ก็ทราบถึงการลดลงของชนิดพันธุ์นี้เช่นเดียวกัน พี. ดี เบอร์สมา (P. Dee Boersma) ผู้เชี่ยวชาญด้านเพนกวินได้ศึกษาเพนกวินในแอนตาร์กติกและได้ไปเยือนเกาะรูปช้างมาครั้งหนึ่ง ในฐานะนักสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนเรือท่องเที่ยว “ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่พบเพนกวินชินแสตรปจำนวนค่อนข้างน้อย” เธอกล่าว

เบอร์สมาเสริมว่า นี่อาจเป็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อแอนตาร์ติกาอุ่นขึ้นจะทำให้ฝนตกมากขึ้น ซึ่งฝนคือตัวการที่ฆ่าลูกนกเหล่านั้น เมื่อลูกนกตัวน้อยเปียกฝนจะทำให้เกิดภาวะตัวเย็น (Hypothermia) และเสียชีวิตลง โดยเธอเองได้บันทึกจำนวนฝนที่ตกลงและคร่าชีวิตลูกเพนกวินแมคเกลแลนกว่าครึ่งหนึ่งในอ่าวของประเทศอาร์เจนตินา

อย่างไรก็ดี จนกว่าจะมีข้อมูลชุดใหม่ตีพิมพ์ออกมา และมีการศึกษาเกี่ยวกับจำนวนประชากรเพนกวินชินแสตรปทุกสปีชีส์ เบอร์สมาเตือนว่าอย่าใช้ตัวอย่างเดียวเพื่อขยายความไปยังประชากรทั้งหมด “สิ่งที่ฉันต้องการจะบอกคือเราจำเป็นต้องมองในระดับประชากรอย่างระมัดระวัง” เธอกล่าว

เพนกวินคือ “ผู้ปกป้องมหาสมุทรและผืนแผ่นดินของเรา เมื่อคุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร เราควรให้ความใส่ใจ”

 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Chinstrap penguin numbers may have fallen by more than half on Antarctic island
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพประกอบบทความโดย  NOAH STRYCKER