ก่อนจะถึง 30 ปี : เครือข่ายหมอปฏิวัติลุ่มน้ำแม่จัน

ก่อนจะถึง 30 ปี : เครือข่ายหมอปฏิวัติลุ่มน้ำแม่จัน

กลางฤดูฝนเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ผมเริ่มเดินเส้นทางเดินป่าจากหน่วยพิทักษ์ป่า “กะแง่สอด” บริเวณจุดกึ่งกลางพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกเพื่อเดินเท้าต่อไปยังหมู่บ้านแม่จันทะ ร่วมกับคณะของเจ้าหน้าที่ อนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หลังจากคณะของเราเดินทางด้วยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อมาสุดทางรถที่นี่ จากต้นทางที่ทำการเขตที่เรียกชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “กะแง่คี”

เส้นทางเดินป่าวกวนไต่ความลาดชันขึ้นลงเขายืดระยะเพียงสิบกว่ากิโลเมตรในแผนที่ภูมิประเทศที่ผมใช้เดินทางออกไปอีกหลายกิโลเมตร ทำให้คณะเดินทางที่เป้ข้าวของนับสิบยี่สิบกิโลกรัมใช้เวลาเกือบทั้งวันในการพากันไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่า “ซ่องแป๊ะ” ท้ายหมู่บ้านทิบาเกที่พอข้ามห้วยแม่กลองไปก็จะถึงบ้านแม่จันทะตามจุดหมาย

ผมเป็นแขกรับเชิญจากหน่วยงานภายนอก เพียงคนเดียวที่ร่วมมาจึงได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องแบกเสบียงใดๆ และมีเพียง ย่ามใหญ่ใบเดียวที่ใส่ข้าวของติดมาด้วย จึงสามารถนำตัวเองมาถึงเป้าหมายได้โดยไม่มีปัญหามากนัก แต่นั่นไม่ใช่สำหรับแขกคนสำคัญของขบวนที่เป็นข้าราชการอาวุโสวัยใกล้เกษียณอายุที่อุตส่าห์รับคำชวนมาประชุมชี้แจงเรื่องข้อมูลแนวเขตที่จัดทำร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชนที่เพิ่งทำเสร็จตามข้อมูลตั้งแต่ต้นฤดูฝน และมาร่วมเดินทางเพื่อเป็นพยานตามข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันของชาวบ้านในป่า กับชาวป่าไม้ที่เป็นเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทางราชการผู้อาวุโสของเราได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่า หลังจากเดินลงทางลาดชันจากภูเขามาที่หมู่บ้าน ซึ่งต้องเกร็งกระแทกหัวเข่า ในระยะตลอด 4-5 กิโลเมตร

งานประชุมข้อมูลแนวเขตระหว่างหัวหน้าเขตและชุมชนผ่านไป อย่างราบรื่น นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ชาวชุมชนแม่จันทะ ทิบาเก ตะละโค่ง และช่องแปะ ในกลุ่มบ้านนี้สามารถทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่ตกลงอยู่ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างปกติสุข หลังจากที่มีความขัดแย้งเรื่องไร่หมุนเวียน หรือ เลื่อนลอย ที่มองต่างกันมายาวนาน จนกระทั่งในที่สุดเกิดข้อตกลงและมีคณะกรรมการชาวบ้านร่วมกันเดินลาดตระเวนตามแนวเขตเพื่อควบคุมพื้นที่ร่วมกัน

นอกจากแจกชุดลาดตระเวนสีดำร่วมกับท่านผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว ผมก็ไม่มีงานอื่นใดที่ต้องทำอีก นอกจากตระเวนเดินเยี่ยมชาวบ้านที่รู้จักกันหลังเริ่มทำงานในพื้นที่มากว่า 2 ปี และจากการสนทนาระหว่างผมกับหนุ่มชาวบ้านที่คนเรียกว่า “หมอโหว่” อาสาสมัคร สาธารณสุขที่เพิ่งถูกชาวบ้านส่งไปอบรมมาเป็นหมอประจำสุขศาลา ทำให้ผมได้รายชื่ออดีตสหายปฏิวัติที่ได้ทำหน้าที่เป็นหมอและพยาบาลในสงครามเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ยังมีอยู่ในทุกหมู่บ้าน และกว่าครึ่งก็ยังทำหน้าที่ช่วยเหลือคนอยู่ตามมีตามเกิดโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่มีอุปกรณ์เพิ่มเติมใดๆ นอกจาก ความรู้ในการแนะนำหยูกยา ทำคลอด ปฐมพยาบาล ฝังเข็ม ให้น้ำเกลือ หรือ กระทั่งรักษามาลาเรียกันอยู่ตามความรู้และบทบาทดั้งเดิม บางคนก็ถูกแต่งตั้งเป็น อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ป่าลึกมรดกโลกแห่งนี้ยังรักษาห้วงเวลาอดีตไว้จากโลกภายนอกได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว

กระดาษสมุดนักเรียนที่ผมขอมา ถูกขีดเป็นตารางแยกแยะชื่อ หมอ-พยาบาลปฏิวัติ หมอสมุนไพร อาสาสมัครสุขศาลารุ่นใหม่ หมอตำแย และอาสาสมัครมาลาเรีย ของชุมชนต่าๆ ที่เรียกว่า “ป็อกบ้าน” ตามข้อมูลจากการบอกเล่าของหมอโหว่ บุตรชายของอดีตพยาบาลในสมัยโน้นคนหนึ่งเช่นกัน รายชื่อเหล่านั้นมีทั้งชื่อภาษากะเหรี่ยง อย่างเช่น โซงเงีย, หน่อโพ่ไล่, หน่อว้าย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นชื่อจัดตั้งในสมัยนั้น เช่น ภราดร ท้าทาย สุนี วินิจ สดใส หรือ ชื่อไทยๆ อย่าง มะลิ และป้าเตี้ย กระดาษแผ่นนั้นถูกผมพับเก็บไว้ในย่าม อย่างกระหยิ่มใจในแผนงานที่ผุดขึ้นในความคิดกลางป่า

จากอาการบาดเจ็บนั้นของข้าราชการอาวุโสที่ร่วมขบวน ทำให้ผม พบตัวเองอยู่ในขบวนเรือล่องตามลำน้ำแม่จัน จากสบห้วยแม่กลองย้อนทวน น้ำขึ้นมาด้วยเรือ 2 ลำโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีทางที่จะพาผู้อาวุโสบาดเจ็บเดินกลับผ่านทางชันลาดเขาย้อนเส้นทางที่มาได้ จึงเปลี่ยนแผนเดินทางให้คณะส่วนหนึ่งรวมทั้งผม แบ่งขบวนมาเดินทางโดยเรือทวนน้ำแม่จันกลับมาอีกทางหนึ่ง มีเป้าหมายที่จะขึ้นฝั่งที่บ้านพอกะทะ และวนรถมารับจากอุ้มผางไปต่ออีกทีหนึ่ง

นั่นเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมในการนั่งเรือยนต์เล็ก 2 ลำตามกันผ่านแก่งน้ำน้อยใหญ่ จากสบแม่จันทะ ผ่านบ้านเกริงโบ มายังจุดสกัดทีชอแม โชคดีมากที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ว่ายน้ำไม่เป็นขอแยกตัวเดินต่อไปยังจุดสกัดเองบนเส้นทางเดินก่อนแล้ว หลังจากแวะกินข้าวกลางวันที่บ้านยูไนท์

ลุงเหล่าเก๊า อดีตสหายปฎิวัติผู้ผ่านการฝึกการรบจากประเทศเวียดนามและเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านของบ้านแม่จันทะขับเรือสิบห้าแรงม้า พาคณะของผู้อาวุโสที่ได้รับบาดเจ็บผ่านไปได้พร้อมหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนเรือลำผมที่มีชายวัยห้าสิบกว่าที่เราเรียกแกว่า “หมอมะลิ” หนึ่งในอดีตหมอปฏิวัติสมัยอุดมการณ์ครั้งกระโน้นเป็นคนขับ ไม่สามารถพาเรือขนาดเจ็ดแรงม้าผ่านแก่งน้ำไปได้ เรือลำผมถูกน้ำพัดหัวกลับทิศร้อยแปดสิบองศาให้ไหลตามน้ำ คลื่นลูกใหญ่จากแก่งพัดน้ำเข้ท้ายเรือจมไปถึงเอวของหมอมะลิคนขับที่นั่งท้าย หัวเรือเชิดขึ้น เมื่อผมที่นั่งกลางลำทำหน้าที่วิดน้ำตลอดทางที่ผ่านมาหันไปตามเสียง “แย่แล้วๆ”ของหมอมะลิ พลันผู้โดยสารหัวเรือที่บังเอิญเป็นคนเชียวชาญทางน้ำคว้าแผ่นกระดานเรือแผ่นใหญ่จ้วงน้ำให้เรือหมุนกลับหันเข้าหาฝั่ง เครื่องยนต์ที่หมอมะลิควบคุมทำหน้าที่สุดท้ายของมันในการส่งแรงน้ำพุ่งเรือเข้าหาฝั่งก่อนที่จะค่อยๆจมลงพร้อมเครื่องยนต์ที่หลุดออกไป พวกเราต่างสละเรือว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง

โชคดีที่น้ำไม่ลึกมาก ผมกระโจนออกจากเรือพร้อมๆกับชูย่ามขึ้นเหนือน้ำได้ ไม่ไกลฝั่งนักน้ำตื้นพอที่จะยืนถึงพอดีเมื่อผวาร่างพุ่งเข้าไปพร้อมกับหมอมะลิและผู้โดยสารหัวเรืออย่างปลอดภัย เรืออีกลำผ่านแก่งไปได้และจอดรออยู่ที่ฝั่ง รอให้เราเดินเลียบตลิ่งขึ้นไปสมทบ และเรือลำที่ผ่านแก่งไปยังพอมีที่นั่งเหลือให้เราสามคนนั่งไปด้วยในระยะที่อีกไม่ไกลก็จะถึงที่ท่าน้ำจุดสกัดทีชอแม แต่เป็นไปไม่ได้ที่เรือที่มีผู้โดยสารเต็มเอียดแบบนี้จะล่องทวนน้ำต่อไปให้ถึงบ้านพอกะทะ ซึ่งเป็นจุดหมายจริงๆของเรา

คณะของเราขึ้นฝั่งมารับประทานอาหารเย็นมื้ออร่อยจากฝีมือผู้พิทักษ์ป่าจุดสกัดทีชอแมและตัดสินใจเดินทางต่อในยามเริ่มพลบ อาการบาดเจ็บของผู้อาวุโสดีขึ้นหลังผ่านเวลามาสองวัน เราหารือกันว่าน่าจะเดินทางต่อไปจนถึงบ้านม่องคว๊ะที่ระยะทางอีกสิบกว่ากิโลเมตรข้างหน้าเป็นทางเกือบราบได้ โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาสักสามชั่วโมง

กลางฝนพรำ ทางป่าเริ่มมืด เราเดินไม่ไกลนักผู้อาวุโสของเราก็ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมจากกิ่งไผ่และหนามที่เกี่ยวขอบตาจนเลือดไหลมาตามน้ำฝนที่ตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ทางรกไปด้วยกิ่งไม้และหญ้าเนื่องจากไม่มีรถวิ่งผ่านมาหลายเดือนตั้งแต่เริ่มเข้าฝน เส้นทางเดินรถในป่าซึ่งเราคาดว่าจะเดินสบายๆสร้างปัญหาให้เราเพิ่มมากขึ้น

 

 

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นผู้นำการเดินทางปรับแผนโดยการขอเดินเร็วไปกับลูกน้องคนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน เพื่อไปเอารถลุยป่าเข้ามาสักคันให้ใกล้ที่สุดเพื่อรับพวกเราออกไป ทิ้งให้ผู้นำทางของเราเป็นเด็กหนุ่มพิทักษ์ป่าที่เป็นคนกะเหรี่ยงบ้านอยู่ในหมู่บ้านแถวนี้ถือปืนเอชเคเดินนำขบวนพวกเราตามไป

หัวหน้าเขตและลูกน้องเดินสวบๆทิ้งเราหายไปในความมืด คนนำทางเราชื่ออุดร ไม่พูดอะไรกับเรามากนักเดินนำไปอย่างเงียบให้ผมเดินตามช่วงที่เขาเริ่มเดินเร็วผมต้องคอยตะโกนฝ่าฝนให้รอผมและผู้อาวุโสที่เริ่มเจ็บเข่าอีกครั้งและเลือดไหลเข้าตาพร้อมๆกับน้ำฝนเปียกชุ่มได้เดินตามให้ทัน

อุดรพาเราตัดป่าออกนอกเส้นทางไปทะลุทุ่งนาของชาวบ้าน ผมรู้สึกว่าการตัดสินใจของอุดรไม่ถูกต้องนักเนื่องจากแม้จะใกล้กว่าแต่ทางลุยป่าและเดินประคองตัวไปตามคันนาเล็กๆบนโคลนแฉะยิ่งยากลำบากกว่าเดินบนถนนที่แม้จะรกบ้างก็ตามที

แต่การนำและการตัดสินใจอยู่ที่เขา ผมเดินตามไปเงียบๆ บางครั้งก็พูดคุยกับเจ้าหนิงพิทักษ์ป่าหนุ่มผู้ถือเอชเคอีกกระบอกอารักขาท้ายขบวน ผมมาทำงานในหมู่บ้านแถวนี้บ่อยๆก็จริงแต่ในทุ่งนาสลับป่าละเมาะแบบนี้ผมไม่รู้เลยว่าเราอยู่ตรงไหน ยิ่งพื้นที่นี้ไม่ไหลนักจากชายแดนพม่า ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าเราอาจจะหลงทางออกไปนอกประเทศเมื่อไหร่ก็ได้ ผู้อาวุโสผู้บาดเจ็บมากขึ้นจะขอนอนกลางป่าตามขนำนาของชาวบ้านที่ไม่สามารถคุ้มฝนได้หลายครั้งแต่อุดรก็ไม่ยอมเกรงว่าหัวหน้าย้อนมาจะไม่พบแล้วจะยุ่งวุ่นวายตามหา

คณะเราหกคนทุลักทุเลมาอย่างสะบักสะบอม เปียกชุ่มรองเท้าหนัก ลื่นไถลตกคันหน้าบ้าง สะดุดรากไม้บ้าง ผมคุยกับน้องผู้พิทักษ์ป่าที่เป็นหนุ่มกะเหรี่ยงเดินอยู่ใกล้ๆผมถามเขาว่าเขาหม่องคว๊ะอยู่ไหน ทำไมขนาดฝนเริ่มพรำและเดือนหงายแบบนี้ทำไมไม่เห็นยอดเขาที่มักใช้เป็นหมุดหมายให้มองทิศทางเสียที เด็กหนุ่มผู้ซึ่งพูดไทยไม่คล่องกลับตอบผมด้วยไวยากรณ์ไทยที่ไม่แข็งแรงนักว่า “เขาหม่องคว๊ะไม่มีแล้ว เขาหายไปแล้ว” ซึ่งจริงๆหมายถึงว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าภูเขาที่ว่าอยู่ตรงไหน แต่ผมพาลคิดไปว่าเขาบอกว่าภูเขาหายไปแล้วเราหลงทางกันแล้วอะไรทำนองนั้น ทำให้หัวใจเริ่มเต้นแรงว่าเราอาจจะหลุดออกไปนอกชายแดน และพบกับอันตรายอะไรดังเช่นกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงพม่าหรือไม่ก็ได้

แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากเดินตามอุดรผู้ไม่พูดจาอะไรทำหน้าที่ผู้นำเดินอย่างเดียว

แต่ในที่สุดผมก็พบตัวเองยืนอยู่ข้างภูเขายักษ์สูงตระหง่านห่างออกไปจากเส้นทางที่ทะลุออกมาไม่เท่าไหร่ เหมือนกับอยู่ดีๆก็เห็นยักษ์ใหญ่สองเขาปรากฏตัวอยู่หลังเมฆฝนลอยพ้นดวงจันทร์เต็มดวงที่ส่องแสงนวลสว่างไปทั่วทุ่งนากลางป่าลึก นาฬิกาที่ข้อมือบอกเวลาว่าพวกเราเดินทางด้วยเท้ากันมาล่วงเวลาเที่ยงคืนมาเกือบชั่วโมง และนั่นหมายถึงเราประคองผู้บาดเจ็บอาวุโสตรากตรำมาด้วยกันถึงเจ็ดชั่วโมงทีเดียว

เราเดินทะลุหมู่บ้านมาขอนอนที่โรงอาหารโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหม่องคว๊ะ ไม่พบใครที่อยู่ที่โรงเรียน ผมไล่หมาที่เห่ากรรโชกไปก่อนจะไปค้นได้ผ้าห่มนวมมาหลายผืนจากห้องเก็บของที่มืดสนิท ผมฉายไฟฉายหาอะไรที่พอจะปูนอนได้มาหลายผืนแม้จะรู้ว่าจะแย่งมันมาจากหมาที่เห่าผมอยู่เมื่อครู่ก็ตาม

ผู้อาวุโสที่ได้รับบาดเจ็บถอดรองเท้าได้ก็นอนไปกับพื้นโต๊ะไม้กระดานทั้งเสื้อกันฝนและหลับไปทันที ผมเอาผ้าห่มไปห่มให้ทั้งเปียกๆ ก่อนจัดการกับตัวเองให้แห้ง และเอาผ้าห่มห่อตัวหลับไป ผมจำได้ว่าหลับๆตื่นๆรอเผื่อหัวหน้าเขตจะพาคณะมารับ จนถึงเช้ามืด ก็มีคนมาเรียกพบว่าเป็นผู้พิทักษ์ป่าคนหนึ่งที่หัวหน้าให้เดินกลับมาจากหมู่บ้านพอกะทะให้มารับเราเดินต่อไปเนื่องจากรถไม่สามารถบุกมารับได้จากสภาพเส้นทางที่ขาดจากน้ำป่าหลายจุด

เราออกเดินทางต่ออีกสองชั่วโมงก็ถึงหมู่บ้านพอกระทะในช่วงสายๆ และได้กินอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่งก่อนจะขึ้นรถเดินทางต่อไปยังสำนักเขตอีกสามชั่วโมงแม้ว่าจะใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นพาหนะ

ตอนนั้น ผมยังไม่รู้ว่าแผ่นกระดาษที่รวบรวมรายชื่อหมอปฏิวัติซึ่งยังอยู่ดีในย่ามหลังจากออกเดินทางออกจากป่ามาได้ จะทำให้ผมต้องผูกพันกับงานเรื่องนี้มาอีกกว่าสิบปี

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ

บันทึกเพิ่มเติมจากข้อเขียนในนิตยสาร ต.คน 88 | มีนาคม 2556 คอลัมน์ ไอ้พวกนักอนุรักษ์ และรวมเล่มในหนังสือ จากหัวใจจรดปลายเท้าสำนักพิมพ์พิมพ์บูรพา ตุลาคม 2556