ตรวจสุขภาพขมิ้นชัน พัฒนาสมุนไพรอินทรีย์ พัฒนาประโยชน์ให้ชุมชนรักษาป่าตะวันตก

ตรวจสุขภาพขมิ้นชัน พัฒนาสมุนไพรอินทรีย์ พัฒนาประโยชน์ให้ชุมชนรักษาป่าตะวันตก

ต้นเดือนกุมภาพันธุ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ส่วนงานพัฒนาวิสาหกิจุชมชนในผืนป่าตะวันตก และเจ้าหน้าที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพขมิ้นชันของกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ในพื้นที่อำเภออุ้มผางจังหวัดตาก

การลงพื้นที่ตรวจสุขภาพสมุนไพร เป็นภารกิจประจำปีที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ส่วนงานพัฒนาวิสาหกิจุชมชนในผืนป่าตะวันตก และเจ้าหน้าที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะต้องตรวจสอบคุณภาพในเรื่องการปลูกและกระบวนการแปรรูปของสมุนไพรชนิดต่างๆ ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจสมุนไพรฯ ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ส่งเสริมให้ชุมชนหันมาปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยสารเคมี โดยมีมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นผู้รับซื้อสมุนไพรในโครงการเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์อภัยภูเบศร

การตรวจคุณภาพมุ่งเน้นไปที่ขมิ้นชันซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีความละเอียดอ่อนในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การปลูกไปจนการแปรรูป และเป็นพืชสมุนไพรที่พบปัญหามากกว่าพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในโครงการ

ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เล่าว่า นอกจากคุณภาพที่สามารถวัดด้วยสายตา คือสีของขมิ้นชันแล้วยังต้องดูกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่แปลงเพาะปลูก การตาก การแปรรูป ดูว่ากลุ่มไหนมีปัญหาเรื่องอะไร แล้วหาทางแก้ไขให้ผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน

ปัญหาที่พบบ่อย เช่น เรื่องเวลาของการเก็บผลผลิตที่อาจไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด อุปกรณ์ในการหั่นขมิ้นชันชำรุดแล้วแก้ปัญหากันเฉพาะหน้าแต่ผิดหลักวิธี ทำให้ได้ขนาดชิ้นเล็กไปหรือใหญ่เกินไป การตากผิดวิธีทำให้สีของขมิ้นไม่ตรงตามที่ผู้รับซื้อต้องการ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรในฐานะพี่เลี้ยงก็ต้องช่วยดู ช่วยตรวจสอบ ทำอย่างไรให้เขาสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของตลาดและผู้รับซื้อ เรื่องไหนเราช่วยทางตรงได้เราก็ช่วย เช่นการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมด้านความรู้ ให้ความรู้หรือพาไปศึกษาดูงานอันไหนทำได้ก็ทำ

ผู้จัดการโครงการฯ สรุปสั้นๆ ว่า หากสามารถช่วยชุมชนพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ประโยชน์ก็จะตกเป็นของชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ แต่หากผลิตไม่ได้คุณภาพเขาก็จะเป็นคนที่เสียผลประโยชน์ตรงนี้เอง

การกั้นรั้วรอบพื้นที่ตากสมุนไพรเพื่อป้องกันการรบกวนของสัตว์

นอกจากที่กล่าวมายังพบว่าปัญหาบางส่วนก็เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น สภาพภูมิอากาศ ฝนฟ้าที่ไม่ตกตามฤดูกาล รวมถึงปัญหาหมอกควันจากการเผาไร่จากที่อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม ต้องอาศัยไหวพริบในการแก้ปัญหาซึ่งอาจแตกต่างไปตามเหตุการณ์ สถานที่และช่วงเวลา

รวมถึงสภาพปัญหาที่มาจากปัจจัยเรื่องที่ตั้งชุมชน เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากเมือง การเดินทางต้องใช้เวลานาน การแก้ปัญหาในบางครั้งอาจจะล่าช้ากว่ากลุ่มสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ แต่ผู้จัดการโครงการฯ รับปากว่าจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือตรงนี้อย่างเต็มกำลังที่สุด

ปัจจุบันโครงการพัฒนาวิสาหกิจสมุนไพรในพื้นที่อุ้มผาง มีกลุ่มผลิตสมุนไพรอยู่ทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ทั้งหมดเป็นกลุ่มชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประกอบด้วย กลุ่มบ้านช่องแป๊ะ กลุ่มบ้านทิบาเก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก กลุ่มบ้านหม่องกลั๊วะ กลุ่มบ้านพอกะทะ และกลุ่มบ้านกุยเลอตอ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และนอกจากพื้นที่อุ้มผางแล้วยังมีชุมชนในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายจังหวัดรอบป่าตะวันตกเข้าร่วมโครงการ (จะแนะนำในโอกาสต่อไป)

นอกจากขมิ้นชันแล้ว โครงการพัฒนาวิสาหกิจสมุนไพรยังสนับสนุนส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด ประกอบไปด้วย รางจืด อัญชัน กระเจี๊ยบ ฟ้าทลายโจร และเพชรสังฆาต เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการตามความถนัดและความเหมาะสมของพื้นที่

สำหรับโครงการพัฒนาวิสาหกิจสมุนไพรเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตกที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำข้อตกลงโครงการร่วมกันกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553

ในส่วนโครงการพัฒนาวิสาหกิจสมุนไพรนั้นจะเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการทำงานที่มากกว่าแค่การเพาะปลูก เช่น เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าแค่เป็นวัตถุดิบสำหรับขายส่ง ไปจนถึงการเรียนรู้เรื่องการทำตลาดสินค้าเอง ตลอดจนการทำงานในรูปแบบกระบวนการกลุ่ม โดยมีหัวใจสำคัญเพื่อลดปัญหาการผลิตพืชเคมีเชิงเดี่ยวและปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่โดยรอบป่าอนุรักษ์

ทั้งนี้การดำเนินโครงการฯ อยู่ภายใต้การทำข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจน ว่าคนที่เข้ามาร่วมโครงการจะต้องงดใช้สารเคมีอย่างไร้ข้อแม้ ต้องทำในพื้นที่ทำกินที่ได้รับอนุญาตจากการจัดทำแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันไม่ให้สมุนไพรอินทรีย์กลายเป็นพืชเชิงเดี่ยวชนิดใหม่แทนของเดิม รวมถึงมีการวางกฎกติกาที่กำหนดและยอมรับร่วมกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อย่างแข็งขัน

 

สามารถทำความรู้จักเรื่องราวของโครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก ได้ที่ วารสารสาส์นสืบ

ร่วมสนับสนุนกิจกรรมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านบัตรเครดิต

 


รายงาน ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก และ พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร