เตรียมความพร้อมสู่แผนการจัดการชุมชน (ภายใต้มาตรา 121 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562)

เตรียมความพร้อมสู่แผนการจัดการชุมชน (ภายใต้มาตรา 121 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562)

ปลายเดือนเมษายน วันที่ 29 และ 30 มีงานประชุมอย่างมีส่วนร่วมเล็กๆ งานหนึ่งจัดขึ้น ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 

หัวข้อการประชุมว่าด้วยเรื่องการเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรองรับการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.12 นายจิระเดช บุญมาก และเจ้าหน้าที่ส่วนฯ หน่วยงานภายใต้สังกัดอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และที่ขาดไม่ได้ ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำจากบ้านเขาเขียว ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

เนื่องด้วยพื้นที่ชุมชนบ้านเขาเขียวบางส่วน (เล็กๆ) จำนวน 5 ครัวเรือน ถือครองที่ดินที่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่เล็กๆ จุดหนึ่งของป่าขนาดหนึ่งล้านเจ็ดแสนไร่

แม้ที่ผ่านมาทั้ง 5 ครัวเรือนหาอยู่กินกันตามอัตภาพ ใช้ชีวิตอย่างพอดีมีกิน แต่เมื่อเทียบกับคนในแห่งหนตำบลอื่น หรือญาติพี่น้องในชุมชนเดียวกัน (ที่อยู่นอกป่า) ก็นับได้ว่ายังขาดโอกาสหลายประการ เช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายผูกมัด

เพียงแต่นับจากนี้ เรื่องราวตอนต่อไปจะไม่ฉายซ้ำฉากเดิม 

การประชุมการเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรองรับการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จึงเกิดขึ้น เพื่อถอดบทเรียนชีวิตที่ผ่านมาของทั้ง 5 ครัวเรือน ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดอกเอาหัวใจออกมาวางว่าชุมชนต้องการอะไร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร 

ช่วงหนึ่งของการประชุม จิระเดช บุญมาก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.12 อธิบายสรุปความว่า “งานนี้ทุกฝ่ายต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อก้าวไปข้างหน้า” ผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งกันทั้งสามฝ่าย ไม่ว่าจะรัฐ เอ็นจีโอ และประชาชน หาจุดกึ่งกลางความพอดีเพื่อร่วมเดินทางไปด้วยกันต่อไปในวันข้างหน้า

และที่สำคัญต้องทำงานอย่างมีส่วนร่วมทั้งรัฐและประชาชน รวมถึงมีหน่วยงานคนกลาง เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนส่วนที่ยังไม่ลงตัว ทำงานร่วมกันสามฝ่ายให้เกิดความสมดุลมากเท่าที่จะเป็นไปได้ ณ เวลานี้ 

นอกจากการหารือแนวทางการปฏิบัติของพื้นที่สำรวจถือครองที่ดินของประชาชนที่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วันประชุมดังกล่าวยังมีเรื่องการนำเสนอแนวทางอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การบรรยายหัวข้อ การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม และการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ดร.ณพล อนุตตรังกูร หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำเสนอแนวทางต่างๆ สำหรับการสร้างวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า รวมถึงยังมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่อย่างการมีส่วนร่วมกับองค์กรผู้ใช้น้ำและผู้นำชุมชนรอบบึงบอระเพ็ด ซึ่งเคยมีสถานะชุมชนไม่ต่างจากบ้านเขาเขียว แต่ด้วยการทำงานอย่างมีส่วนร่วมมาเนิ่นนานระหว่างรัฐกับประชาชนทำให้วันนี้ทั้งสองฝั่งสามารถอยู่อย่างพอดีและสมดุล ชุมชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ไปพร้อมๆ กับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ไปได้ในคราวเดียวกัน 

จากเวทีปลายเดือนเมษายน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำมาต่อยอด เตรียมพัฒนาเป็นแผนการจัดการพื้นที่ชุมชนบ้านเขาเขียว ตามพื้นที่ภายในมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีนัดหมายกำหนดการประชุมร่วม 3 ฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ที่บริเวณสำนักงานหน่วยพิทักษ์ป่าเขาเขียว

วาระสำคัญของการจัดทำแผนการจัดการฯ ในวันดังกล่าว ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลการวิเคราะห์ชุมชน ลักษณะชุมชน จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและข้อจำกัดในภาคเช้า และต่อด้วยการลงรายละเอียดแผนแม่บทการจัดการพื้นที่ตามหลักการดำรงชีพตามปกติธุระในภาคบ่าย

กิจกรรมข้อหลังแบ่งหมวดแยกย่อยไว้หลายวาระ ทั้งในเรื่อง (1) หลักเกณฑ์รายละเอียดการสร้างที่พัก การอยู่อาศัย รูปแบบและจำนวนการสร้าง การรื้อถอน ข้อจำกัดต่างๆ (2) แผนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและแนวทางการพัฒนา เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน แหล่งน้ำ (3) แผนการส่งเสริมและการพัฒนาอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจ (4) กติกาในการใช้ประโยชน์พื้นอื่นๆ เช่น ที่สาธารณประโยชน์ภายใต้พื้นที่มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ (5) การร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่าโดยชุมชน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่เกินสิทธิในการครอบครอง หรือที่เรียกว่าแปลฟื้นฟูพื้นที่ป่า ตลอดจนการพัฒนาหรือจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภายใต้โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติตามมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

เหล่านี้กำลังจะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันกลางเดือน และหลังจากนั้นจะนำไปสู่การจัดทำบทสรุปและหารืออย่างมีส่วนร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้แผนการจัดการพื้นที่ชุมชนบ้านเขาเขียวฯ มีความสมบูรณ์มากที่สุด เป็นไปตามความต้องการของชุมชนมากที่สุด สอดคล้องกับข้อกฎหมายมากที่สุด

และนำไปสู่การจัดทำแผนแบบเดียวกันในพื้นที่เป้าหมายการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรต่อไปในอนาคต 

อนึ่ง การประชุมการเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อรองรับการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมฯ และการจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชุมชนบ้านเขาเขียวฯ เป็นแผนงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยเรื่อง พัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เพื่อคงคุณค่าป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ เป็นแผนงานเรื่อง การจัดการชุมชนภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 มาตรา 121 

หมายเหตุ ขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ แบบสำรวจความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และกฎที่เกี่ยวข้อง

ภาพประกอบ

  • ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.12

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม