โครงการเชื่อมป่าฯ หรือเชื่อเต็ม ‘โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ เป็นหนึ่งภารกิจที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2564
เป้าหมายใหญ่ของโครงการ คือ สร้างสะพานเชื่อมระบบนิเวศ ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ที่ถูกกั้นด้วยถนนสาย 1116 และพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน ให้มีระบบนิเวศร้อยถึงกันอีกครั้ง
และหวังว่าในสักวันหนึ่ง สัตว์ป่าจากทั้งสองพื้นที่สามารถไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างกันได้
มากไปกว่านั้นยังหวังถึงการสร้างโมเดลงานพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า ในรูปแบบการปลูกป่าเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนบริเวณนั้น ให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ และก่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ทุกชีวิต
ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการที่ผ่านมา จวบจนวันนี้ยังมีอีกหลายภารกิจที่ต้องทำต่อไปอีกหลายปี เรื่องราวของโครงการเชื่อมป่าฯ มีรายละเอียดใดเกิดขึ้นแล้วบ้าง เรากำลังจะทำอะไรกันต่อ ชวนทำเข้าใจเรื่องราวนี้ไปด้วยกัน
(1) เชื่อมรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง
แม้ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง’ จะถูกนับรวมเป็นกลุ่มป่าตะวันตก แต่โดยสภาพพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้เปรียบได้กับเกาะเล็กเกาะน้อย ไม่ได้มีอาณาเขตเชื่อมติดกับกลุ่มป่าใหญ่ เพราะมีถนน (สาย 1116) ที่ดินทำกินราษฎร ที่พักอาศัยกั้นขวางอยู่ หากวัดเป็นระยะทางจากแนวขอบป่าเขาสนามเพรียงถึงป่าอนุรักษ์ที่ใกล้ที่สุดอย่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีช่องว่างห่างกันเป็นระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร

(2) สัตว์ป่าในเขาสนามเพรียง
‘ป่าเขาสน-เขาสนามเพรียง’ ถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2528 ตามข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด นก 54 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 2 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด เป็นที่อยู่ของสัตว์มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์อย่างหมีควาย แม้พื้นที่อนุรักษ์จะได้รับการคุ้มครองจากภัยคุกคามเรื่องการล่าและกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างผลกระทบทางตรง แต่อนาคตของสัตว์ป่ายังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดชิดจากการผสมพันธุ์กันเองในวงแคบเพราะขาดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับสัตว์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำมาสู่ ‘โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’
(3) แนวเชื่อมป่า 5,000 ไร่ กับ 5 โซนการจัดการ
พื้นที่ดำเนินงานโครงการเชื่อมป่าฯ คิดเป็นพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ในขั้นตอนการดำเนินงานจริงๆ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างแนวเชื่อมผืนป่า (ปลูกไผ่ซางหม่น) ได้ครบทั้ง 5,000 ไร่ ในโครงการจึงแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 5 โซน หรือเรียกว่าเส้นทางเชื่อมป่า 5 สายก็ได้ โดยโครงการจะประเมินความพร้อมว่าพื้นที่โซนไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุด โซนไหนควรดำเนินการก่อนหลัง เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายชักชวนประชาชนในท้องที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานสร้างเส้นทางเชื่อมผืนป่าทั้งสองแห่ง

(4) Stepping Stone
หลักการ ‘Stepping Stone’ เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้ในการเชื่อมผืนป่าทั้งสองแห่งเข้าไว้ด้วยกัน โดย Stepping Stone คือ การสร้างหย่อมป่าขึ้นเป็นจุดๆ อย่างมีกลยุทธ์และแบบแผน เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงที่สัตว์ป่าสามารถเข้าใช้ประโยชน์เป็นแหล่งหากิน และที่พักอาศัยระหว่างการเดินทางจากป่าหนึ่งไปยังอีกป่าหนึ่งได้
(5) ไผ่ซางหม่น พืชเชื่อมป่า
โครงการเชื่อมป่าฯ ได้เลือกเอา ’ไผ่ซางหม่น’ มาใช้เป็นพืชตัวแทนการเชื่อมระบบนิเวศ และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ เช่น เป็นไม้ค้ำยันในสวนผลไม้ หรือการแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญไปกว่านั้น ไผ่ยังเป็นพืชที่สัตว์ป่าหลายชนิดใช้ประโยชน์เป็นอาหาร เช่น หมูป่า เม่น อ้น เก้ง กวาง กระทิง ที่ชอบกินรากไผ่
(6) ปลูกไผ่ไปแล้วกว่าสองหมื่นต้น
ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการปลูกไผ่เชื่อมป่าทั้งสิ้น 84 ราย เป็นประชาชนจากบ้านหนองบัวสามัคคี บ้านไร่พิจิตร และบ้านหนองแอน อ.โกสัมพี และบ้านปางขนุน อ.เมืองกำแพงเพชร ปลูกไผ่รวมไปแล้ว 18,787 ต้น และเมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2567) ปลูกเพิ่ม 1,800 ต้น รวมทั้งหมดปลูกไปแล้วกว่า 20,000 ต้น อย่างไรก็ดี ใช่ไผ่ทั้งหมดจะเจริญงอกงามเติบโตสำเร็จทุกต้น ด้วยเพราะขาดการดูแล สภาวะอากาศที่แห้งแล้ง รวมถึงปัญหาไฟป่า ทำให้สูญเสียที่ปลูกไปในบางส่วน แต่ในภาพรวมถือว่ามีอัตรารอดสูง

(7) กองทุนเพื่อการจัดการ
ในโครงการได้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อแนวเชื่อมต่อป่า เพื่อใช้ในการดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางของกองทุน โดยระเบียบกองทุนส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อให้เกิดรายได้ และอาชีพที่มั่นคงให้กับสมาชิก และเพื่อเป็นกองทุนทรัพย์สินส่วนกลางในการดูแลรักษาทรัพยากร
(8) งานลาดตระเวน
กิจกรรมนี้ เป็นงานสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างหน่วยงานอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และคณะกรรมการป่าชุมชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและกับประชาชน ขณะเดียวกันเมื่อกล่าวถึงลาดตระเวนแล้วย่อมหมายถึงการป้องปรามการกระทำความผิด และการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญๆ เพื่อนำมาออกแบบแผนการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการลาดตระเวนในพื้นปลูกไผ่นั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลนิเวศวิทยาสัตว์ป่าในทางวิชาการอีกด้วย

(9) เพิ่มมูลค่าให้กับไผ่ และงานพัฒนาวิสาหกิจชุมน
ในแผนงานโครงการเชื่อมป่าฯ ที่กำลังจะดำเนินงานในปี พ.ศ. 2568 จะมีเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งกิจกรรม ในแผนงานนี้จะดำเนินงานในเรื่องการสร้าอาคารสถานที่ เรือนเพาะชำ การออกแบบลานรับซื้อ และการจัดทำโครงการกลุ่มวิสาหกิจ หวังผลักดันให้ไผ่ที่ปลูกสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ประกอบกับเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับคนทำงานในรูปแบบกระบวนการกลุ่มที่มีระบบการจัดงานอย่างมืออาชีพ
(10) การสนับสนุนโครงการ
โครงการเชื่อมป่าฯ ได้รับการสนับสนุนการทำงานจากหลายภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานอนุรักษ์อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กรมป่าไม้ หน่วยงานปกครองถิ่น ภาคประชนในท้องที่ ในการประสานความร่วมมือให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ตลอดจน กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่ง และบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนงานระยะยาว มานับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม