ปาฐกถา 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘ความท้าทายบทบาทใหม่ของงานอนุรักษ์บนเส้นทางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ ศศิน เฉลิมลาภ

ปาฐกถา 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘ความท้าทายบทบาทใหม่ของงานอนุรักษ์บนเส้นทางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ ศศิน เฉลิมลาภ

ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในวาระ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘ความท้าทายบทบาทใหม่ของงานอนุรักษ์บนเส้นทางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ ที่ได้มีการบันทึกเทปและถูกนำมาออกอากาศใน วันสืบ นาคะเสถียร 1 กันยานยน 2563 กลายเป็นอีกหนึ่งเสียงในการแสดงจุดยืนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งในเมืองไทย และระดับสากล ที่จะออกมารณรงค์ให้มนุษยชาติตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้เป็นองค์ปาฐก ได้หยิบยกเรื่องราว ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’ หรือ The 6th extinction มาเป็นประเด็นหลักในการสื่อสารกับผู้คน โดยมีเนื้อหาสำคัญที่พูดถึงปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนโลก ในยุคที่มนุษยชาติได้กลายปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงที่มาและลำดับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในรอบที่ผ่านมา 

ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรต้องให้ความสำคัญ ถือเป็นความหวังที่มนุษยชาติทุกคนต้องมองร่วมกัน เพื่อให้ผู้คนและสรรพชีวิตสามารถอาศัยอยู่ด้วยร่วมกันได้อย่างสันติสุข ซึ่งในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หลาย ๆ องค์กรสากลได้มีหมุดหมายในการต่อสู้ เพื่อผลัดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในเรื่องสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การจะชะลอการเกิดปรากฏการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้เอาไว้ ด้วยเทคโนโลยี ด้วยพลัง และด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตามสิ่งที่ทุกคนสามารถผสานความร่วมมือได้

“โจทย์ใหญ่หลังจากนี้ก็คือมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สาธารณชน องค์กรสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นมาในรุ่นใหม่ ๆ กับองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลก จะทำยังไงให้โลกมองไปในทิศทางเดียวกัน และร่วมไม้ร่วมมือกัน อาจจะไม่ได้เกิดจากงานเครือข่าย แต่ทุกคนทำงานเรื่องเดียวกันครับ ทำงานเพื่อที่จะเตรียมตัวเข้าสู่ยุคสมัยของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ตามหน้าที่ของคนที่เกิดในรุ่นเรา”

ในช่วงทศวรรษแรกมูลนิธิสืบฯ ได้ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานของการทำงานอนุรักษ์ มีผลงานประจักษ์ชัดเจนได้แก่การสร้างอาคารอนุสรณ์สถานและรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร บริเวณบ้านพักของคุณสืบ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อก่อร่างสร้างฐานให้ออกมาในเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณ รวมไปถึงการผลักดันให้เกิดกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า และการสร้างส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา

ทศวรรษที่สองเป็นการขยายการทำงานสู่ผืนป่าตะสันตก ศศิน อธิบายว่าเป็นการทำงานภาคสนาม เพื่อแก้ไขปัญหาอนุรักษ์ที่ภาครัฐไม่สามารถจัดการได้ อาทิ เรื่องความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ผ่านการสร้างหมายแนวเขตให้ชุมชนกับป่าอนุรักษ์สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี จนปัจจุบันสามารถบอกได้ว่า มูลนิธิสืบฯ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนามาสู่กฎหมายอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องปัญหาการเกิดโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ไม่คำนึงผลที่จะกระทบต่อระบบนิเวศและผืนป่า เราก็เป็นผู้เฝ้ามองและจับตาอยู่ตลอด และการสนับสนุนการลาดตระเวนแบบเข้มข้น ซึ่งปัจจุบันกาลถูกพัฒนามาเป็นการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

“มาถึงตรงนี้เราก็มีความหวังว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และผืนป่า จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุข และเราจะพัฒนาแนวกันชนป่าอนุรักษ์ (Buffer Zone) ให้เกิดเป็นป่าชุมชนได้หรือไม่ “

สำหรับทศวรรษที่สามมูลนิธิสืบฯ ได้มีภารกิจสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น และการต่อสู้เรียกร้องแบบเข้มข้นต่อโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นใจกลางป่าใหญ่ อาทิ การออกมาเรียกร้องกับองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยการเดินเท้าคัดค้านจากจังหวัดนครสวรรค์มายังกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทางกว่า 388 กิโลเมตร เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า ที่กำลังจะถูกทำลาย พร้อมเปร่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้เห็น ว่ามีอีกหลายวิธีในการพัฒนาโดยไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม 

โดยเรื่องใหญ่ที่มูลนิธิสืบฯ เฝ้ามองและคอยติดตามเสมอคือ ‘ธรรมาภิบาล’ ในการดูแลรักษาผืนป่าของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือรัฐบาลในอนาคต ซึ่งต้องมีการใช้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลจากสาธารณชน พี่น้ององค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่อเข้ามาจับตามอง ว่ารัฐบาลที่เข้ามาดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ดีมากน้อยเพียงใด เพื่อยับยังไม่ให้เกิดการนำไปสู่การทำลายธรรมชาติ และเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“ในช่วงหลัง 30 ปีนี้ เราและองค์กรอนุรักษ์อื่น ๆ ทั่วโลก เข้าสู่แอนโทรโปซีน (Anthrophocene) หรือเดินเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 อย่างห้าวหาญ ด้วยการทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะเต็มที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ต่อไป” ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวทิ้งท้าย


เรียบเรียงเนื้อหา ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
บันทึกวีดีโอ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร