จุดเริ่มต้นชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่า ที่หมู่บ้านจะแก

จุดเริ่มต้นชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่า ที่หมู่บ้านจะแก

1

ในช่วงวันที่ 8-12 เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้รับนัดสำคัญจาก มนตรี กุญชรมณี หรือ ปลาน้อย เจ้าหน้าที่ภาคสนามประจำพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เพื่อเข้าร่วมประชุมกับทุกชุมชนในพื้นที่

การเดินทางหนนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจข้อมูลเพื่อพัฒนาอาชีพชุมชน สร้างทางออกในการอยู่ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างเป็นมิตรและยั่งยืน

การเดินทางในทริบนี้ มีเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง คือ น้องปุ้ย (กาญจนา จารุมาลัย – ผู้จัดการสำนักงานและการเงิน) และน้องตอง (กนกนุช จันทร์ขำ – เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ) ตามไปสนับสนุนการทำงาน พร้อมกับเจ้าหน้าที่งานพัฒนากาแฟ สมุนไพร และผ้าทอ ซึ่งเป็นแกนนำหลัก โดยเดินทางมาจากสำนักงานอุ้มผางเพื่องานนี้โดยเฉพาะ นำทางโดยปลาน้อยเจ้าของพื้นที่

เรามารวมตัวกันตั้งแต่วันที่ 7 และวันที่ 8 เราออกเดินทางกันตั้งแต่เช้า ซื้อสเบียงกันที่ตลาดอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่จะติดต่อกับผู้คนได้ด้วยโทรศัพท์ฉลาด

ตามแผนเราจะเดินทางเข้าไปตามเส้นทางหมู่บ้านสะเนพ่อง แล้วเริ่มประชุมจุดแรกที่หมู่บ้านจะแก ซึ่งอยู่หมู่บ้านสุดท้ายของเส้นทางนี้ แต่ก่อนสิ้นแสงตะวันในวันแรก เรามาถึงได้แค่หน่วยพิทักษ์ป่าเกาะสะเดิ่ง

ระหว่างทางแวะทักทายกับมิตรสหายที่ไม่ได้พบกันนานเกือบหลายปีหลายที่หลายคน

คืนแรกจบลงด้วยวงสนทนากับพี่ๆ ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าเกาะสะเดิ่ง ในเวลาใกล้ๆ เที่ยงคืน สารทุกข์สุกดิบ หน้าที่การงาน ความคิดอุดมการณ์ ขาดเสียไม่ได้คือกรณีเสือดำ บทสนทนาต่างๆ เต็มไปด้วยมิตรภาพที่น่าประทับใจ

วันรุ่งขึ้นการเดินทางยาวนานตามสภาพหนทางที่ยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ถนนหนทางเป็นถนนดิน ขึ้นเขาลงเขาเป็นเรื่องธรรมดา สลับกับการข้ามห้วยตลอดเส้นทาง ทางบางช่วงก็เป็นหลุมโคลนมีร่องลึกๆ อยู่สองสามแห่ง แต่ก็ผ่านกันไปได้อย่างไม่ยากลำบากนัก เพราะยังไม่เข้าช่วงฝน

 

2

หมู่บ้านจะแกคือเป้าหมายของแผนการเดินทางในวันที่สองหลังจากมาพักนอนเอาแรงที่หน่วยพิทิกษ์เกาะสะเดิ่ง ตามป้ายบอกระยะทาง บอกว่าจากหมู่บ้านสะเน่พ่องมาถึงหมู่บ้านจะแก มีระยะทางประมาณไม่เกิน 46 กม. อยู่ติดชายแดนไทยกับประเทศพม่า

เราจะเริ่มงานแรกที่นั่น…

ในแผนเราจะต้องผ่านหมู่บ้านทิไล่ป้าก่อน แต่ยังไม่จัดประชุม เพียงแต่จะแวะทานกลางวันกันที่นั่น สภาพหนทางก็ยังไม่ถึงขั้นสาหัสมากนัก

เราแวะทักทายพี่ๆ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้ากันตามปกติของการเดินทาง พี่ๆ มีมะม่วงเปรี้ยวจี๊ดจาดมาให้กินตบท้ายมื้อกลางวันพอได้ชื่นอกชื่นใจ

ตรงจุดนี้เป็นพื้นที่ที่เราสามารถเดินข้ามไปข้ามมาระหว่างประเทศไทยและพม่าได้เพียงก้าวเดียวเท่านั้น

ออกจากหน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้า เรามุ่งตรงสู่หมู่บ้านจะแก ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ที่ขึ้นกับหมู่บ้านจะแก คือ บ้านปางสนุก และบ้านพุจือ ระหว่างทางเร่เห็นวัยรุ่นกำลังเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ก่อนจะผ่านไปได้ก็รับการประพรมน้ำอบน้ำหอมกันพอหอมปากหอมคอ

ด้วยระยะทางไม่ยาวไกลเท่าใด เราใช้เวลามาถึงหมู่บ้านจะแกในเวลาบ่ายสี่โมงนิดๆ ตรงมาถึงสถานที่ประชุมคือวัดจะแกตามเวลานัดหมายคือบ่ายสี่โมง เราไม่พบใครในตอนแรก มีเพียงแม่ชีและหญิงสูงอายุคนหนึ่ง

เธอเดินมาถามว่ามาเที่ยวเหรอ น้องพัช (พัชราภรณ์ ต๊ะกู่) สาวปากะญอจากอุ้มผางเจ้าหน้าที่งานผ้าทอถูกส่งไปเจรจาคนแรก

ผมคิดว่าคงต้องมีอะไรผิดพลาดในการประสานงานเกิดขึ้น หลังจากป้าคนนั้นจากไปได้ปรากฏชายสูงวัยในบุคลิกผู้นำ ขับรถมอเตอร์ไซค์เข้ามา ถามไถ่เรื่องราวต่างๆ พูดคุยกันจนเข้าใจว่ามีการเลื่อนนัดโดยที่เราไม่ทราบ เพราะตรงกับงานสงกรานต์ของพี่น้องจะแก จึงได้ประสานและขอใช้เวลาหลังงานบุญในค่ำวันนั้นประชุมต่อเลยในทันที

ต่อมาจึงทราบว่าท่านที่มาคือรองนายกอบต.ตำบลไล่โว่ สุดท้ายก็เบาใจ พวกเราเดินทางไปเตรียมตัวกันที่หน่วยพิทักษ์ป่าจะแก และกลับมาที่วัดในเวลาค่ำอีกครั้ง

ช่วงค่ำเราเห็นพี่ๆ น้องๆ ชาวจะแกหลายร้อยคนกำลังจัดขบวนผ้าป่า พวกเราถือโอกาสไปรอบนศาลาวัดที่ใหญ่โตโอฬาร

และเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้คุยกับท่านผู้ใหญ่บ้านจะแก ทำให้หลายๆ อย่างเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

 

3

ค่ำคืนในงานบุญสงกรานต์ของวันสุดท้ายที่วัดจะแก คึกคักด้วยคนหนุ่มสาวที่ฟ้อนรำกันอย่างรื่นเริง คนอื่นๆ อีกทั้งลูกเด็กเล็กแดงขึ้นมาบนศาลา วิ่งเล่นกันครื้นเครง ทีมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของเราถูกเชิญเข้าไปนั่งด้านในสุด และผมได้รับเชิญให้ไปทำพิธีทางศาสนาพุทธร่วมกับเหล่าผู้เฒ่าและผู้นำชุมชน ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงจึงเสร็จพิธีกรรม

เมื่อทุกกิจกรรมของชุมชมเสร็จสิ้น รองนายกอบต.ได้แนะนำตัวทีมงานวิสาหกิจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และความประสงค์ที่เดินทางเข้ามาในการค่ำคืนนี้

หลังจากทักทายกันพอรู้ว่าจะทำอะไรกันบ้าง เราใช้วิธีแบ่งกลุ่มผู้ที่มีความสนใจในอาชีพต่างๆ ที่เราทำการบ้านมาบ้างแล้ว ประกอบด้วย ทอผ้าพื้นเมือง ตีมีด และด้านการเกษตรรวมไปถึงสมุนไพรต่างๆ คุยกันถึงรายละเอียด อะไรเป็นอย่างไร แล้วทีมเราจะหนุนเสริมพี่ๆ น้องๆ อย่างไร โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการร่วมคิดร่วมทำ มองไปที่การแข็งแรงด้วยตนเอง

พี่น้องสนทนากันอย่างออกรสจนลืมเวลา ผมหันไปเห็นท่านเจ้าอาวาสเริ่มเตรียมตัวจำวัดจึงได้รีบกราบลาออกมาในเวลา 5 ทุ่มเศษ

หลังจากสรุปรายระเอียดเราพบว่ากลุ่มทอผ้าจะแกมีความพร้อมมากในทุกเรื่อง ผู้นำกลุ่มเข้มแข็ง มีระบบ มีการจัดการ ขาดความรู้เรื่องสีธรรมชาติที่อยากทำเพิ่มเติม ทีมเราอาสาทำเรื่องการตลาดและบรรจุภัณฑ์ การบริหารกองทุนจัดซื้อด้าย

เรื่องอาชีพอื่นๆ มีความยากลำบากในการขนส่งเป็นอุปสรรคและเป็นต้นทุนที่ตึงมือ เราสนับสนุนได้ไม่มากนัก แต่ก็พยามรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างโอกาสให้มากที่สุด

ตัวอย่างลายผ้าทอผลงานพี่น้องหมู่บ้านจะแก
ตัวอย่างลายผ้าทอผลงานพี่น้องหมู่บ้านจะแก
ตัวอย่างลายผ้าทอผลงานพี่น้องหมู่บ้านจะแก

เรื่องราวจุดเริ่มเติมการพัฒนาอาชีพชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่า ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ส่วนงานพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ยังมีอีกหลายตอน จากอีกหลายๆ หมู่บ้านที่พวกเราแวะพูดคุย สามารติดตามตอนอื่นๆ ได้เร็วๆ นี้

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านการสมทบทุนทางบัญชีธนาคาร

 


รายงาน ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก