IRFเผยสถิติผู้พิทักษ์ป่าเสียชีวิตทั่วโลก 10 ปี 1,038 คน – และชวนอ่านความเห็นส่วนหนึ่งจากประชาชนอยากสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่าด้านใดบ้าง

IRFเผยสถิติผู้พิทักษ์ป่าเสียชีวิตทั่วโลก 10 ปี 1,038 คน – และชวนอ่านความเห็นส่วนหนึ่งจากประชาชนอยากสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่าด้านใดบ้าง

International Ranger Federation (IRF) หรือสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า เผยตัวเลขสถิติการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วโลกตั้งแต่ปี 2552 – 2562 มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 1,038 คน โดยปี 2562 ภูมิภาคที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ เอเชีย 410 คน รองลงมาคือ แอฟริกา 327 คน จากสถิติดังกล่าว คนทำงานด้านอนุรักษ์ให้ความเห็นต่อนัยยะสำคัญว่า จำนวนการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ในแต่ละภูมิภาคของโลกพื้นที่ที่มีตัวเลขสูงจะเป็นภูมิภาคที่มีแหล่งทรัพยากรยังคงเหลืออยู่มาก แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่แต่ภูมิภาคนั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบท

 

 

พลวีร์ บูชาเกียรติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม World Congress Ranger ในปีนี้ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเนปาล ช่วงเดือนพฤศจิกายน ได้ให้สัมภาษณ์กับเราว่า นัยยะของการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ขึ้นอยู่กับบริบทและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ อย่างเช่นแอฟริกาสาเหตุเกิดจากการปะทะจากการล่า ส่วนประเทศไทยเท่าที่ดูสถิติปีที่ผ่านมามีจำนวนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตทั้งหมด 13 คน สาเหตุเกิดจากช้างทำร้าย การเข้าจับกลุ่ม และอุบัติเหตุ อย่างเช่น ตกเขาซึ่งสามารถป้องได้ด้วยการฝึกฝน ฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเผชิญเหตุการณ์ต่างๆได้เมื่อปฏิบัติหน้าที่และมีกรณีเรื่องโรคประจำตัวอีกบ้าง

 

พลวีร์ บูชาเกียรติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง

หากคุณเป็นผู้มีอำนาจรัฐ คุณจะสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่าด้านใดบ้าง?

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 62 (เมื่อวาน) ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรโพสต์ข้อความร่วมแสดงความคิดทาง Fanpage โดยมีโจทย์ร่วมกันว่า หากคุณเป็นผู้มีอำนาจรัฐ คุณจะสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่าด้านใดบ้าง? ซึ่งหลังจากโพสต์ไปเพียงหนึ่งวันมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากเราได้รวบรวมตัวอย่างความคิดเห็นที่หลากหลายเหล่านั้นมาให้อ่านกัน

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่fanpage : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หรือร่วมตอบแบบสอบถามความคิดเห็นได้ที่ : แบบสอบถามความคิดเห็นเพื่อผู้พิทักษ์ป่าของไทย

แบบสอบถามชุดนี้ทางมูลนิธิสืบฯ จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการทำแผนยุทธศาสตร์การทำงานของมูลนิธิสืบฯ ในปี 2563-2566 เท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรภาครัฐแต่อย่างใด

ทางด้านหัวหน้าหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าการสนับสนุนความจำเป็นพื้นฐานที่ควรให้ความสำคัญอยู่เเล้วเช่นเรื่องเครื่องแบบ รายได้ ถ้าเรามีการคัดเลือกที่ดี ค่าจ้างที่ดี ก็กรองคนที่มีใจรักเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องกองทุนต่างๆสำหรับผู้พิทักษ์ป่ามองว่าประเทศไทยยังดีกว่าหลายประเทศที่ลองเปรียบเทียบกันแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องมีการยกระดับด้านอื่นๆอีก เช่นการฝึกอบรมเพราะจะช่วยลดการสูญเสียได้ การฝึกอบรมของประเทศไทยมีอยู่แล้วคือการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตะเวนเชิงคุณภาพ หรือ smart patrol ในอนาคตต้องผลักดันให้เป็นหลักสูตรเดียวกันแต่โดยส่วนตัวผมเองอยากให้มีโรงเรียนพิทักษ์ป่าเลย มีอาจารย์เฉพาะด้าน ซึ่งเรื่องนี้เราคงต้องช่วยกันผลักดัน อาจจะต้องปรับระบบโครงสร้าง ปรับศูนย์อบรมของเราที่มีอยู่ทั่วประเทศให้ตรงกับความต้องการของผู้พิทักษ์ป่าโดยเฉพาะเรื่องของความรู้พื้นฐาน การปฏิบัติงาน การเดินป่า smart patrol การป้องกันตัวเองจากสัตว์ และอื่นๆ

พลวีร์ บูชาเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะมีสวัสดิการที่ดีอย่างอเมริกาเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียจะคัดเลือกผู้พิทักษ์ป่าคุณสมบัติจะต้องเรียนจบระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมาย มีโรงเรียนPark ranger school หลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนด้านนี้โดยเฉพาะ ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้และทำงานร่วมกับโรงเรียนกฎหมายเป็นระยะเวลา 4 เดือน และจะต้องฝึกงานกับหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศอีก 4 เดือน จึงจะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการ ทางด้านประเทศแถบแอฟริกา เขาก็จะเอาทหารที่เป็นหน่วยรบพิเศษเข้ามาทำ ส่วนไทยอย่างที่ทราบกันคือใช่ระบบลูกจ้างชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตามทุกประเทศก็มีปัญหาคือการที่ผู้พิทักษ์ป่าเป็นเสาหลักของครอบครัว หากมีกรณีเสียชีวิต คนข้างหลังได้รับผลกระทบ

ถามถึงการประชุม World Congress Ranger ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ว่ามีความสำคัญอย่างไร พลวีร์ ตอบกับเราว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีโอกาสเข้าร่วม คิดว่าการประชุมครั้งนี้สำหรับประเทศไทยคงจะมีเรื่องของการผลักดันให้ไทยเข้าภาคีสมาชิก เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ กับผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลก ก็นำมาปรับใช้ในการทำงานของพวกเราได้ แล้วเราจะได้ถ่ายทอดให้ผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกรู้ถึงการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าไทยในส่วนงานด้านสวัสดิการณ์ การฝึกอบรม เครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับการทำงาน

ทุกภาคส่วนพยายามเข้ามาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ความคิดเห็นมากมายสะท้อนว่าสังคมยังโอบกอดพวกเขาไว้ สิ่งที่เราอยากสนับสนุนผู้พิทักษ์ดูแลผืนป่าให้มากขึ้นเท่าที่เขาควรจะได้รับจะเกิดขึ้นได้จริงส่วนหนึ่งคือเเรงผลักดันของสังคม ให้ความสำคัญกับหน้าที่ที่เขากำลังทำอยู่ วันนี้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย เราสามารถป้องกันได้ด้วยเครื่องมือการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเราเยียวยา ดูแลพวกเขาได้ด้วยสวัสดิการที่ชอบธรรม

 


บทความ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร