ทำไมปัญหา “คนกับช้าง” ถึงไม่หมดไป แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ?

ทำไมปัญหา “คนกับช้าง” ถึงไม่หมดไป แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ?

ช้างป่าในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด 69 แห่ง จาก 189 แห่ง คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งประเทศ

กลุ่มป่าที่มีจำนวนช้างป่ามากที่สุดคือกลุ่มป่าตะวันตก รองลงมาคือ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรีและกลุ่มป่าตะวันออก  

ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 3,168-3,440 ตัว อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง และมีแนวโน้มว่าประชากรช้างป่าในภาพรวมจะเพิ่มจำนวนมากขี้น ประมาณร้อยละ 8.2 ต่อปี ซึ่งสวนทางกับพื้นที่ป่าที่แนวโน้มลดลง 

โดยเฉพาะพื้นที่ราบ ที่เป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของช้างป่าถูกคนเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม ยิ่งบีบให้พื้นที่อยู่อาศัยของช้างป่ายิ่งน้อยลง

รากเหง้าของปัญหา “คนกับช้าง” มาจากการจัดการป่าที่ผิดพลาดและการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ถ้าหากย้อนไปทิศทางของปัญหาของ คนกับช้าง เริ่มต้นตั้งแต่การ ‘เปิดป่าสัมปทาน’ มหกรรมถางป่าครั้งใหญ่ของประเทศไทย ป่าถูกเจาะ ถูกตัด คนตั้งรกรากถิ่นฐานในป่า ตัดเส้นทางลำเลียงไม้ขนไม้ขนาดใหญ่ นอกจากจะทำให้สูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารแล้ว ยังนำไปสู่การลักลอบล่าช้าง เอางาเอาหนัง เอามาใช้ประโยชน์ นำมาเป็นช้างเลี้ยง ส่งผลให้ประชากรช้างในช่วงนั้นหดตัวลง 

และในปี 2531 ประเทศไทยได้ปิดสัมปทานไป แต่ผลกระทบไม่ได้จบลง ป่าบางส่วนถูกเปลี่ยนไปถาวร คนเริ่มจับจองพื้นที่ประชิดขอบป่า ช้างจึงถูกผลักดันเข้าป่าไปในขณะนั้น แต่จำนวนช้างในขณะนั้นยังไม่ถือว่าเป็นปัญหามากนัก

“รักษาช้าง แต่ไม่รักษาป่า”

แม้ที่ผ่านมาอาจบอกได้ว่าเราประสบความสำเร็จในการเพิ่มประชากรช้างป่า แต่เรากลับไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของช้าง การบริหารจัดการป่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช้างอยู่ในป่าไม่ได้ เมื่อช้างมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ป่าลดลง อาหารในป่าไม่รับรองประชากร บวกกับพืชเกษตรที่หากินง่ายกว่าและเป็นพื้นที่ราบ การปลูกป่าทดแทนสัมปทานและการปลูกสวนป่าด้วยไม้ป่าเศรษฐกิจและไม้โตเร็วที่ช้างไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทุ่งหญ้าธรรมชาติแทบทั้งหมดกลายเป็นแปลงปลูกป่า ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้เกิดปัญหา “คนกับช้าง” ยิ่งขึ้น

อีกทั้งการก่อสร้างอาคารสำนักงานและสิ่งก่อสร้างของหน่วยราชการต่างๆในป่า รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ เหล่านี้ล้วนกระทบต่อช้างป่า ทำให้พื้นที่กิจกรรมทางสังคมของช้างทั้งการรวมโขลงและการแยกฝูงก็หมดไปด้วย 

และผลกระทบอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การแตกกระจายของกลุ่มป่าด้วยถนนขนาดใหญ่ ถนนได้ทำให้เส้นทางช้างมากมาย เกิดการทับซ้อนระหว่างด่านช้างกับเส้นทางของคน ยิ่งทำให้ช้างต้องใช้พื้นที่ร่วมกับคนมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ พื้นที่ภาคตะวันออกที่เกิดปัญหาช้างป่าออกมารบกวนประชาชนมากที่สุด อย่างเขาอ่างฤาไนที่มี ‘ด่านลอยช้าง’ เกิดขึ้น

ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าเป็นเรื่องที่มีมิติหลายมุมมอง ประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง 

แต่รากเหง้าของปัญหาอย่างหนึ่งมาจากการจัดการป่าที่และการพัฒนา เราไม่อาจชี้แบบถูกผิด แต่เป็นปัญหาร่วมของทั้งช้างป่าและชาวบ้านบางส่วนที่มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทับซ้อนกัน เป็นปัญหาของช้างชายขอบและคนชายชอบด้วยกัน และปัญหาการระหว่างช้างกับคนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน เพราะอย่าลืมว่างบประมาณที่ลงไปสนับสนุนจัดการส่วนหนึ่งมาจากภาษีที่ทุกคนต้องจ่ายทุกปี ทว่าปัญหายังคงคารังคาซังอยู่ทุกวันนี้ ไล่แก้กันไปเรื่อยๆ 

แม้ชาวบ้านจะพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่นานช้างซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดก็แก้ไขเอาตัวรอดได้ ยิ่งใช้วิธีการขับไล่รุนแรงจนทำให้ช้างบาดเจ็บ เสียชีวิต ช้างก็ยิ่งดุร้ายจนทำร้ายคน การปล่อยให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับช้างป่าแก้ปัญหากันเองโดยขาดการมีส่วนร่วมจึงเกินความสามารถของเขา เรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาระดับชุมชนก็เป็นปัญหาระดับชาติและปัญหาที่องค์กรนานาชาติห่วงใย


เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล

ภาพประกอบ เครือข่ายมิตรช้างป่า