‘เสือโคร่งมลายู’ อาจสูญพันธุ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า

‘เสือโคร่งมลายู’ อาจสูญพันธุ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาแถลงว่าเสือโคร่งมลายูอาจจะสูญพันธุ์ในอีก 5 หรือ 10 ปี ข้างหน้า เนื่องจากตอนนี้ประชากรของเสือโคร่งในป่าของมาเลเซียเหลืออยู่เพียง 200 ตัว

แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่มีทีท่าว่าแผนการอนุรักษ์จะประสบผลสำเร็จมากนัก และหากยังไม่มีมาตรการใดใดออกมาช่วยเหลือ การนับถอยหลังสู่การสูญพันธุ์ของเสือโคร่งมลายูอาจจะเร็วขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ดร. Mark Rayan Darmaraj กล่าวว่า เสือโคร่งสายพันธุ์มลายูจะสูญพันธุ์ภายในระยะเวลาเพียง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากจำนวนประชากรเหลือน้อยเกินไป หรือกล่าวง่ายๆ ว่า เสือโคร่งมลายูอาจต้องสูญพันธุ์ภายในปี พ.ศ. 2565

คำแนะนำของ Darmaraj นักอนุรักษ์ผู้เฝ้าติดตามสถานะของเสือโคร่งในประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน บอกว่า นี่คือสถานะที่ต้องการความเร่งด่วนเพื่อช่วยให้สัตว์สายพันธุ์นี้สามารถอยู่รอดได้ต่อไป

นักอนุรักษ์คิดว่า รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่เชี่ยวชาญขึ้นมาดูแลงานด้านอาชญากรรมสัตว์ป่า เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนประชากรเสือโคร่งในประเทศมาเลเซียลดลงมาจากลักลอบล่าสัตว์

ในความหมายของ Darmaraj การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อทำงานทางด้านกฎหมายในทุกขั้นตอน ไล่มาตั้งแต่การรวบรวมหลักฐานไปจนถึงการดำเนินคดีต่อผู้ถูกจับกุม

ขณะเดียวกันต้องจัดการข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ลักลอบล่าสัตว์ด้วยเช่นกัน

เพราะการล่าเสือโคร่งในประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ต่างประเทศ อาทิ จากอินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นนายหน้าจัดหาสัตว์ป่าส่งขายตลาดในประเทศจีน ดังนั้นการติดตามข้อมูลของกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิดจึงเป็นอีกสิ่งที่ควรทำนอกเหนือเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ลักลอบล่าสัตว์ที่จับได้

 

PHOTO : Courtesy Lau Ching Fong/WWF Malaysia

 

ที่ผ่านมา มาเลเซียได้พยายามแก้ไขปัญหาการลักลอบล่าเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่นๆ โดยร่วมมือกับฝ่ายตำรวจและหน่วยงานทางภาคเอกชนเพื่อเพิ่มกองกำลังสำหรับจัดการพวกลักลอบล่าสัตว์ พร้อมประกาศให้การทำสงครามกับพวกลักลอบล่าสัตว์เป็นวาระแห่งชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียยอมรับว่า การขาดแคลนเจ้าหน้าที่เป็นหนึ่งในปัญหาของเรื่องนี้

ขณะที่ในทางตรงกันข้าม แรงจูงใจที่ทำให้การล่าเสือในประเทศมาเลเซียยังดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจากแรงหนุนของราคาในตลาดมืดที่คาดว่าสูงถึงเกือบ 200,000 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ในข้อเรียกร้องหนึ่งของ Darmaraj ยังเห็นว่าควรปรับโทษของการล่าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายเป็นโทษประหารชีวิต (เมื่อปีที่ผ่านมามาเลเซียเตรียมประกาศยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ปัจจุบันยังคงสถานะโทษประหารชีวิตเอาไว้ต่อไป)

อย่างไรก็ตามมูลเหตุที่ทำให้เสือโคร่งมลายูลดน้อยลงไม่ได้มาจากการล่าเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่ และการลดลงของอาหารอย่างกวางซามาร์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species) ตามบัญชีแดงของ IUCN

เมื่อปีที่ผ่านมาหลายภูมิภาคของมาเลเซียได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการทุเรียนในประเทศจีนมีมากขึ้น เมื่อความต้องการมากขึ้น ราคาก็เพิ่มสูงขึ้น การขยายพื้นที่เพาะปลูกก็เพิ่มขึ้นตาม และพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งก็คาบเกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์ที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่

ยิ่งพื้นที่ป่าเหลือน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งไม่เพียงแต่เสือโคร่งเท่านั้น ยังรวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ อีกหลายชนิด

และอีกประเด็นใหญ่คือความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ จากเสือป่วยและบาดเจ็บพลัดหลงเข้าไปในพื้นที่สวนยางของชุมชนที่อยู่ใกล้เขตอนุรักษ์ และนำไปสู่จุดหมายของการล่าเพื่อการค้าไปในที่สุด ก็ยังต้องเร่งแก้ไขกันต่อไป

มาเลเซียถือเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศบนโลกที่ยังคงมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติ ซึ่งตามแผนปฏิบัติการเสือแห่งชาติของมาเลเซียเมื่อปี 2552 กล่าวเอาไว้ว่าจะต้องเพิ่มจำนวนเสือโคร่งเป็นสองเท่าในปี 2563 แต่ปัจจุบันพบว่าข้อมูลจำนวนประชากรเสือโคร่งได้ลดน้อยลงกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจระหว่างปี 2552 ถึง 2554

 


เรียบเรียง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง
Malaysian Tigers Could Go Extinct As Early As 2022 If We Don’t Take Action Now
War declared on poachers to save Malayan tigers
Wildlife Dept to work with security forces to stop Malayan Tiger poaching
China’s appetite for ‘stinky’ durian fruit threatening endangered tigers
Tiger, tiger, burning … not so bright anymore
ภาพเปิดเรื่อง WWF – Malaysia