‘คลองค้อ’ เสือโคร่งอินโดจีนแห่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

‘คลองค้อ’ เสือโคร่งอินโดจีนแห่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

บนเนื้อที่ 300 ไร่ ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด จำนวนเกือบ 1,000 ตัว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อทราย ละมั่ง เลียงผา หมี ม้า จระเข้ นาก ชะนี พญาแร้ง ลิง ฯลฯ

แต่ในช่วงไม่มีกี่มานี้ มีสัตว์ตัวหนึ่งที่โดดเด่นกลายเป็นดาราหน้ากล้อง ได้รับความสนใจจากสื่อและคนรักษ์สัตว์ป่ามาโดยตลอด

ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้ นอกเสียจาก ‘คลองค้อ’ เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนแท้ๆ ที่อาศัยอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งมาตั้งแต่วัยแบเบาะ

แม้จะเป็นเสือโคร่ง – นักล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร – แต่เจ้าป่าก็มีมุมที่เห็นแล้วอดรู้สึกเอ็นดูไม่ได้อยู่เหมือนกัน

เช่นภาพการลงไปนอนแช่น้ำในบ่อ ขณะที่ผู้ดูแลใช้สายยางฉีดน้ำคลายร้อนให้ในวันสงกรานต์ปี 2561 ประหนึ่งแมวที่มีทาสคอยดูแลอย่างไรอย่างนั้น

และอีกหลายๆ อิริยาบถที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้นำเสนอผ่าน facebook หน่วยงาน หรือผ่านเพจของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

แต่ก่อนจะมาเป็นดาวเด่นของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ‘คลองค้อ’ เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดในวัยเด็ก

เดิมทีคลองค้อเป็นลูกเสือที่เกิดขึ้นกลางป่าห้วยขาแข้ง (เกิดในปี 2559) มีแม่ชื่อ ‘รุ้งนภา’ ซึ่งเป็นเสือโคร่งสาวที่ทีมวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ติดปลอกคอ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของเสือ

จากการติดตามข้อมูลสัญญาณดาวเทียมจากปลอกคอ ทีมวิจัยเสือจึงพอรู้พฤติกรรมและรู้ว่า ‘รุ้งนภา’ มีลูก ในตอนนั้นแม่เสือวนเวียนอยู่แถวห้วยคลองค้อตลอด แต่จู่ๆ ก็หายไปไม่ยอมกลับมาที่เก่าอีกเลย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดปกติ แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด สุดท้ายเมื่อทีมวิจัยชั่งเหตุและผลดูแล้ว เห็นควรต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่ดูเสียหน่อย

จนได้พบกับคลองค้อในที่สุด – และพี่น้องอีกสองตัว แต่ตัวหนึ่งเสียชีวิตไปก่อนแล้ว

ตอนพบ คลองค้อ อยู่ในสภาพอิดโรยจากการขาดน้ำ ผอมโซ ผิวหนังน่วมเหี่ยว ตามร่างกายมีแผลถูกหนอนไช เมื่อเห็นสภาพเช่นนั้นนักวิจัยจึงตัดสินใจนำลูกเสือทั้งสองตัวกลับมาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แต่ก็มีเพียงคลองค้อตัวเดียวที่รอดชีวิตมาได้

เหตุที่ลูกเสือมีสภาพเช่นนั้น ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สันนิษฐานว่าผืนป่าแถบที่คลองค้อถือกำเนิด อาจจะมีเสือโคร่งอื่นรุกล้ำอาณาเขต เมื่อเสือโคร่งตัวที่แข็งแรงกว่าเข้ามา เจ้าของเดิมที่อ่อนแอกว่าต้องหลบหนีจากไป

กอปรคลองค้อเป็นลูกครอกแรกของ ‘รุ้งนภา’ แม่เสือโคร่งจึงยังขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิด

นับแต่วันคลองค้อจึงต้องอยู่ในความดูแลของทีมเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าคอยป้อนข้าวป้อนน้ำ จนเติบใหญ่ แข็งแรงกลายเป็นเสือโคร่งหนุ่มและดาวเด่นของสถานที่มาจนถึงทุกวันนี้

แต่นั่นก็ทำให้คลองค้อสูญเสียสัญญาณการของสัตว์ป่าไป หากปล่อยคืนสู่ผืนป่า ก็อาจเอาชีวิตไม่รอด เช่น ไม่สามารถออกล่าเหยื่อได้

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของคลองค้อในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ได้สร้างความอุ่นใจเล็กๆ ว่าอย่างเรามีเสือโคร่งอินโดจีนสายพันธุ์แท้ตัวหนึ่งเก็บไว้อย่างปลอดภัย

หากในอนาคตเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ขึ้นที่ทำให้จำเป็นต้องหาพ่อพันธุ์เสือโคร่งอินโดจีนสายพันธุ์แท้ๆ เพื่องานอนุรักษ์ ก็ยังมีคลองค้ออยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

อนึ่ง จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช ถูกปรับลดงบประมาณบางหมวดลง จนกระทบต่อการจ้างงานงานผู้พิทักษ์ป่า และยังส่งผลต่อสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และคลีนิคสัตว์ป่า ทั่วประเทศ ที่จะขาดงบประมาณสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ป่า

โดยงบประมาณของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่ามีงบประมาณอยู่ถึง 29.9 ล้านบาท จากนั้นปี 2563 ลดลงมาเหลือ 17.8 ล้านบาท และในปี 2564 ลดลงเหลือ 16.2 ล้านบาท แต่สำหรับปี 2565 กลับลดลงมาเหลือเพียง 10.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัท สยามแม็คโคร และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย ส่งต่อไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดปัญหาอาหารส่วนเกิน (Food Waste) และสนับสนุนเสริมสร้างสวัสดิภาพของสัตว์ป่า เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น

และเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำกิจกรรมระดมทุนเพื่อหารายได้ไปมอบให้กับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอีกครั้ง ผ่านกิจกรรม ‘สืบช่วยสัตว์ป่า’ โดยได้เปิดจำหน่ายเสื้อแจ็คเก็ตฟิลด์ รุ่น 32nd (รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร) โดยทุกตัวที่จำหน่ายไป จะหักรายได้ตัวละ 600 บาท สำหรับเป็นทุนสนับสนุนการทำงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

ผลการระดมทุน สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 208,000 บาท และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สมทบเพิ่มเติมอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 308,000 บาท

สำหรับสาธารณชนที่สนใจสนับสนุนการทำงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สามารถสมทบทุนได้ที่ ‘โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า’ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคุ้มครองทรัพยากรสัตว์ป่าของชาติให้คงอยู่

โดยเงินที่ได้รับจากการบริจาคจะนำมาเป็นค่าอาหาร ค่าปรับ​ปรุง​ซ่อมแซม​กรงเลี้ยง​หรือปรับภูมิ​ทัศน์​กรงเลี้ยง​ ซึ่งการรับบริจาคดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)

อ่านภารกิจงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า (ห้วยขาแข้ง) เพิ่มเติม

ผู้สนใจ สามารถบริจาคผ่านทางบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เลขที่บัญชี 980-216-5379 ชื่อบัญชีโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า E-mail : [email protected] หรือสอบถามเพิ่มเติมที่โทร 02-579-9630 ติดต่อกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า

หมายเหตุ ‘โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่าในสถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าและศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า’ เปิดรับบริจาคถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม