เวียดนามเตรียมชูประเด็น ‘การจัดการแม่น้ำโขง’ บนเวทีอาเซียน

เวียดนามเตรียมชูประเด็น ‘การจัดการแม่น้ำโขง’ บนเวทีอาเซียน

เวียดนามเตรียมยกระดับประเด็นเชิงภูมิรัฐศาสตร์เหนือแม่น้ำโขง แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในภยูมิภาคอาเซียนซึ่งเผชิญกับภาวะระดับน้ำต่ำเป็นประวัติการณ์เนื่องจากภัยแล้งรุนแรงและการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหนือลำน้ำ

รัฐบาลเวียดนามได้ส่งสัญญาณแสดงความตั้งใจที่จะนำประเด็นแม่น้ำโขงซึ่งแบ่งปันกันใช้ระหว่าง 5 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและประเทศจีนเข้าในที่ประชุมอาเซียนซึ่งมีผู้เข้าร่วมคือ 10 ประเทศในภูมิภาคในฐานะประธานการประชุมอาเซียนในปีนี้ เป็นการยกระดับจากปัญหาทางน้ำในระดับภูมิภาคย่อยสู่ความกังวลระหว่างประเทศ

จวบจนปัจจุบัน อาเซียนได้จำกัดการก้าวก่ายทางการเมืองเหนือน่านน้ำระหว่างประเทศรวมถึงพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จีนมีอิทธิพลอย่างมาก แม่น้ำโขงคือแม่น้ำสายที่มีความยาวถึง 4,600 กิโลเมตรจากที่ราบสูงทิเบตสู่ดินดินสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแม่โขงที่ประเทศเวียดนาม กลุ่มประเทศอาเซียนที่แบ่งปันกันใช้แม่น้ำสายดังกล่าวประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม แม่น้ำแม่โขงจึงไม่ต่างจาก ‘แหล่งอาหารของภูมิภาค’

 

 

แหล่งข่าวในรัฐบาลเวียดนามระบุว่าชะตากรรมของแม่น้ำโขงจะกลายเป็นประเด็นสำหรับพูดคุยในการประชุมอาเซียนที่จะถึงนี้ “การพัฒนาและการเชื่อมโยงลำน้ำโขงอย่างยั่งยืนจะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อทั้งอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” นี่คือส่วนหนึ่งของร่างกำหนดการพูดคุยในวงเสวนา ASEAN+Policy Dialogue ว่าด้วยการพัฒนาลุ่มน้ำโขง “อาเซียนควรมีบทบาทที่สำคัญกว่านี้ในการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มประเทศในการออกแบบโครงข่ายในระดับภูมิภาค”

การเดินหน้าของเวียดนามที่พยายามถ่วงดุลอำนาจของจีนเหนือลำน้ำโขงได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน “ความพยายามของเวียดนามอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” Pou Sothirak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเทศกัมพูชาแสดงความเห็น “เวียดนามแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำเหนือแม่น้ำโขงโดยเหล่าประเทศที่อยู่เหนือน้ำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

ความพยายามของรัฐบาลเวียดนามเพื่อยกระดับประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการแสดงความไม่เห็นด้วยของรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลจีนที่พยายามแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจเหนือลำน้ำโขงตอนล่าง โดยรัฐบาลไทยนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกโครงการระเบิดแก่งหินแม่น้ำโขง เป็นการยุติความทะเยอทะยานของจีนที่ต้องการทำให้แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยและลาวลึกขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่

เส้นทางการเดินเรือดังกล่าวได้รับอนุมัติเมื่อ พ.ศ. 2543 โดยลาว พม่า และไทย เพื่อเพิ่มการค้าระหว่างมณฑลยูนนานของจีนที่ไม่ติดทะเลกับลาวซึ่งเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวที่ไม่ติดทะเล โครงการดังกล่าวตั้งเป้าที่จะระเบิดแม่น้ำให้ลึกขึ้นเพื่อให้เรือขนสินค้าขนาด 500 ตันสามารถเดินทางเข้ามาในแม่น้ำได้ตลอดทั้งปี ขณะที่ปัจจุบันสามารถใช้เรือขนสินค้าขนาด 80 ถึง 250 ตันเท่านั้น

นักอนุรักษ์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคพยายามอย่างยิ่งในการคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยมองว่าความพยายามเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ของจีนในลำน้ำโขงนำมาซึ่งต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสองฝั่งลำน้ำโขงต้องจ่าย

 

 

“โครงการนี้ออกแบบเพื่อให้บริเวณดังกล่าวของลำน้ำโขงมีไว้สำหรับการเดินเรือเชิงพาณิชย์เท่านั้น และเปลี่ยนแม่น้ำที่จากเดิมสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายให้เหลือเพียงเพื่อการค้าเท่านั้น” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการองค์กรแม่น้ำสากล ประเทศไทยให้สัมภาษณ์ “ประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำจากการจับปลาอาจต้องถูกกีดกันจากวิถีชีวิตของพวกเขา”

การขยับตัวทางการทูตของเวียดนามเกิดขึ้นท่ามกลางความเกรี้ยวโกรธของประชาชนจากภาวะภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ภาวะแห้งแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เมื่อฝนตกน้อยกว่าที่คาดในช่วงต้นฤดูมรสุมไปจนถึงฤดูแล้ง ภาวะดังกล่าวคุกคามชีวิตประชาชนกว่า 60 ล้านคนซึ่งพึ่งพาแม่โขงและลำน้ำสาขาทั้งจากการจับปลา การเกษตร และการคมนาคม

ความโกรธของประชาชนรากหญ้าเพ่งเล็งไปที่ประเทศจีนเนื่องจากเขื่อนจำนวนมากถูกสร้างบริเวณแม่น้ำล้านช้างซึ่งเป็นชื่อที่จีนเรียกแม่น้ำโขงตอนบน เขื่อนทั้ง 11 แห่งควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่าง โดยไบรอัน ไอเลอร์ (Brian Eyler) ผู้เขียนหนังสือ “Last Day of Mighty Mekong” ระบุว่า “กระแสน้ำจากประเทศจีนคิดเป็นราว 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั้งหมดในแม่น้ำโขงตอนล่างช่วงฤดูแล้ง”

เขื่อนที่สร้างในลุ่มน้ำของ 5 ประเทศอาเซียนยิ่งทำร้ายชุมชนท้องถิ่น ลาวซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคและหนึ่งในพันธมิตรของจีน คือประเทศที่กระตือรือร้นที่สุดในการสร้างเขื่อนเหนือลำน้ำโขงสายหลัก และสายรอง เขื่อนทั้ง 65 แห่งตามที่วางแผนไว้จะช่วยให้ลาวบรรลุเป้าหมาย ‘แบตเตอรีแห่งเอเชีย’ โดยการส่งออกไฟฟ้าพลังงานน้ำตามที่ฝัน ไอเลอร์ประมาณการว่ามีเขื่อน 103 แห่งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และอีก 65 แห่งอยู่ในระหว่างการวางแผนหรือการก่อสร้างเหนือแม่น้ำแม่โขง-ล้านช้าง

นอกจากนี้ Fitch Solutions Macro Research บริษัทวิจัยเศรษฐกิจของ Fitch Ratings เตือนว่าการเพิ่มขึ้นของโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในลำน้ำโขงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค “อาจมองได้ว่าเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงต้องหวังพึ่งพาประเทศจีนเพื่อนำเข้าอาหารเพื่อชดเชยส่วนที่ไม่เพียงพอในระยะยาว ทำให้ประเทศเหล่านี้เปราะบางต่ออิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้น”

รัฐบาลปักกิ่งรับฟังเสียงวิพากษ์ดังกล่าว ระหว่างการประชุมความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจัดโดยประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านรอบแม่น้ำโขง 5 ประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนให้คำมั่นว่าจีนจะปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศ “เพื่อช่วยประเทศปลายน้ำที่เผชิญกับภัยแล้ง”

แต่นักวิเคราะห์ก็ยังตั้งข้อสงสัยต่อการทูตเรื่องน้ำของจีน ถึงแม้จีนจะอ้างว่าประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะได้ประโยชน์ “จากการบรรเทาภัยแล้งโดยการก่อสร้างเขื่อน แต่ก็ชัดเจนว่าโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับปัญหานี้” คาร์ล มิดเดิลตัน (Carl Middleton) รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสังคมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงความเห็น “ภัยแล้งครั้งนี้ควรกระตุ้นให้เกิดการทบทวนบทบาทของลำน้ำโขงที่มากกว่าทรัพยากรเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ”

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Vietnam puts the Mekong’s fate on ASEAN’s agenda
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์