เชื้อเพลิงพลาสติก ทางเลือกพลังงานแห่งอนาคต

เชื้อเพลิงพลาสติก ทางเลือกพลังงานแห่งอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่าพลาสติกมีประโยชน์มหาศาลในไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เราใช้พลาสติกเพื่อเก็บอาหารไว้ได้นานขึ้น ลดน้ำหนักของรถยนต์ช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ใช้ป้อนกันความร้อนและความเย็นทำให้เราประหยัดพลังงาน และยังเป็นตัวช่วยเก็บอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาให้อยู่ในสภาวะปลอดเชื้อ พลาสติกบางส่วนอาจถูกนำมารีไซเคิล แต่ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไว้ในบ่อขยะ หรืออาจมีจุดจบอยู่ในมหาสมุทร

แล้วเราจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร?

คำตอบก็คือการหาวิธีการที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน ตั้งแต่ธุรกิจ ผู้บริโภค ไปจนถึงภาครัฐ โดยการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นขยะ และเมื่อสาธารณชนเริ่มมองเห็นคุณค่าในวัสดุเหล่านั้น ก็จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ถูกทิ้งขว้างอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พลาสติกมีศักยภาพอย่างมากในฐานะแหล่งพลังงาน เนื่องจากพลาสติกผลิตจากเชื้อเพลิง เช่น แก๊สธรรมชาติ หรือน้ำมัน โดยมีไฮโดรคาร์บอนเป็นพื้นฐานทางวัสดุ ดังนั้น พลาสติกก็ไม่ต่างจากแหล่งพลังงานชั้นดีที่สามารถนำไปแปลงสภาพเป็นเชื้อเพลิงเหลวได้

ปัจจุบัน เรามีทางเลือกในการรีไซเคิลพลาสติกได้มากขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถนำพลาสติกทั่วไป เช่น ขวดน้ำพลาสติก บรรจุภัณฑ์ แก้ว ฝาแก้ว และอื่นๆ กลับมาใช้ใหม่ได้ แม้แต่พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูงอย่างถุงพลาสติก หรือพลาสติกถนอมอาหาร ก็สามารถรีไซเคิลได้ที่ร้านค้าชั้นนำทั่วไป

ในทางกลับกัน สำหรับพลาสติกที่มีความยุ่งยากในการรีไซเคิล เราก็ยังมีทางเลือกในการแปลงพลาสติกเหล่านี้เป็นพลังงาน

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกชนิดใดก็ได้ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งในอนาคตอาจถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Swansea ได้ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยการผสมวัสดุซึมซับแสงกับพลาสติก ก่อนจะนำไปใส่กับสารละลายอัลคาไลน์ แล้วทิ้งสารละลายไว้กลางแสงแดด กระบวนการดังกล่าวเป็นทางเลือกหนึ่งแทนที่จะนำพลาสติกไปรีไซเคิลตามปกติ โดยทางเลือกนี้ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดพลาสติกก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการ

Moritz Kuehnel จากคณะเคมี มหาวิทยาลัยข้างต้นระบุว่า “แต่ละปี เราใช้พลาสติกจำนวนมากอาจเป็นพันๆ ล้านตัน แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล ซึ่งโจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรกับขยะพลาสติกที่ไม่ถูกนำมารีไซเคิล

“ข้อดีของกระบวนการย่อยสลายข้างต้น คือสามารถใช้ได้กับพลาสติกทุกประเภท แม้แต่พลาสติกที่อาจมีคราบน้ำมัน เช่น กล่องใส่เนย หรือกล่องบรรจุภัณฑ์อาหาร ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อปฏิกิริยาเคมี และอาจจะทำให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ โดยกระบวนการดังกล่าวจะได้ผลผลิตคือแก๊สไฮโดรเจน ซึ่งอาจถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ในอนาคต”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่กระบวนการดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ได้จริงในโลกอุตสาหกรรม ก็อาจต้องรอเวลาอีกหลายปี

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Plastic waste could fuel cars of the future thanks to a scientific breakthrough และ How Plastics-to-Fuel Can Become the Next Green Machine
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง media.wired.com