เขตมลภาวะต่ำ ไอเดียใหม่ใช้จริงในกรุงลอนดอน

เขตมลภาวะต่ำ ไอเดียใหม่ใช้จริงในกรุงลอนดอน

เขตมลภาวะต่ำพิเศษ (Ultra Low Emission Zone: ULEZ) ถูกบังคับใช้จริงใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ปล่อยมลภาวะมากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าในพื้นที่ที่การจราจรหนาแน่นไม่ว่าในช่วงเวลาใดก็ตาม องค์การขนส่งแห่งลอนดอน (Transport for London) คาดว่าการบังคับใช้ดังกล่าวจะช่วยลดปัญหามลภาวะจากรถยนต์ในเมืองหลวงแห่งนี้ ปัจจุบัน คาดว่ามีปริมาณรถยนต์ราว 40,000 คันที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว

Sadiq Khan ผู้ว่าการกรุงลอนดอน ให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศในเมืองหลวงแห่งนี้” อย่างไรก็ดี สมาคมผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย (Federation of Small Businesses) ต่างออกมาแสดงความกังวลเนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรัก “ต้นทุนที่สูงขึ้น”

ยานพาหนะที่ปล่อยมลภาวะสูงจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวในอัตรา 12.50 ปอนด์ หรือราว 500 บาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมการจราจดติดขัดที่มีอยู่เดิม ยานพาหนะทุกคันสามารถตรวจสอบสถานะได้ที่เว็บไซต์ของ TFL แต่โดยรวมแล้ว ยานพาหนะที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมคือ

  • รถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Euro 3 (จักรยานยนต์ก่อน พ.ศ. 2550)
  • รถยนต์และรถตู้ที่ไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Euro 4 (รถยนต์และรถตู้ก่อน พ.ศ. 2549)
  • รถยนต์และรถตู้ดีเซลไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Euro 6 (จัรถยนต์และรถตู้ดีเซลก่อน พ.ศ. 2558)
  • รถบัสและรถบรรทุกจะต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Euro 6 เป็นอย่างต่ำ หรือต้องเสียค่าธรรมเนียมวันละ 100 ปอนด์ หรือราว 4,100 บาทต่อวัน

 

 

หากไม่ปฏิบัติตาม จะต้องเสียค่าปรับถึง 160 ปอนด์ หรือราว 6,600 บาท แต่หากกระทำผิดครั้งแรกอาจได้รับจดหมายตักเตือน องค์การขนส่งแห่งลอนดอนคาดว่าการดำเนินการในช่วงแรกจะช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการคมนาคมบนท้องถนนลงร้อยละ 45 ภายในระยะเวลา 2 ปี

Sadiq Khan ให้สัมภาษณ์ว่ามลภาวะทางอากาศในกรุงลอนดอนเป็น “ปัญหาเร่งด่วนด้านสุขภาพสาธารณะ” โดยที่ “ชาวลอนดอนที่ยากจนที่สุดคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากคุณภาพอากาศย่ำแย่”

การบังคับใช้กฎหมายเขตมลภาวะต่ำพิเศษทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปริมาณรถยนต์ในใจกลางเมืองลดลง และมีการใช้รถยนต์รุ่นใหม่ที่ปล่อยมลภาวะต่ำ ตามแผนที่วางไว้ อากาศในลอนดอนจะมีค่ามลภาวะอยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนดภายใน พ.ศ. 2568

เมืองแห่งอื่นๆ ในประเทศอังกฤา ก็แสดงความสนใจที่จะห้ามใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล การทดลองใช้กฎหมายของลอนดอนจึงเป็นที่จับตาอย่างยิ่งของผู้นำเมืองอื่นๆ

Sandra Green จากเครือข่ายผู้ปกครองเพื่ออากาศสะอาด (Clear Air Parents Network) ให้สัมภาษณ์ว่า “มลภาวะทางอากาศเกิดจากการจราจรที่ติดขัด ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพต่อคนรุ่นหลัง ตอนนี้ถือเป็นเวลาที่เราจะต้องลงมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว”

ตัวเลขจากสำนักงานผู้ว่าการกรุงลอนดอนระบุว่ารถยนต์ร้อยละ 60 ที่ขับใน ULEZ คือรถยนต์ที่ปล่อยมลภาวะต่ำ ในขณะที่รถยนต์ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานราว 27,000 คันได้ถูกเลิกใช้งาน และจำนวนรถที่เข้าสู่ใจกลางกรุงลอนดอนลดลงในภาพรวมราวร้อยละ 11 อย่างไรก็ดี ก็มีเสียงความไม่พอใจจากผู้ประกอบการบางรายเนื่องจากรัฐบาลเพิ่งมีนโยบายสนับสนุนการซื้อรถเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อไม่นานมานี้

“ผลกระทบของนโยบายนี้อยู่ในระดับอุตสาหกรรม ไม่ว่าใครที่เป็นเจ้าของรถตู้หรือรถบรรทุกแล้วหาเลี้ยงชีพด้วยรถเหล่านั้นต่างก็ได้รับผลกระทบ พวกเรามีธุรกิจในพื้นที่ และกำไรไม่ได้มากมายอะไร นโยบายใหม่นี้ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ เพราะหลายคนไม่มีเงินที่จะปรับปรุงรถให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ หรือซื้อรถคันใหม่” Jim Parker กรรมการผู้จัดการบริษัทกู้ภัยรถยนต์ Boleyn ให้สัมภาษณ์

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก ULEZ: New pollution charge begins in London
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์