ยุติการสนับสนุนให้เกิดการสูญพันธุ์

ยุติการสนับสนุนให้เกิดการสูญพันธุ์

ในทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกได้ให้คำมั่นว่าจะหยุดการสนับสนุนทุกกิจกรรมที่มีผลทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ จะไม่มีการเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก่อนธรรมชาติอีกต่อไป มันฟังดูดีนะ แต่เอาเข้าจริงมีแค่นิดเดียวเองที่ทำสำเร็จ

“มีรัฐบาลแค่ไม่กี่ที่ ที่มีแรงจูงใจจะทำสิ่งนี้ ส่วนใหญ่ก็นิ่งดูดายเกินกว่าจะทำอะไร” เขียนโดยกลุ่มนักวิจัยนำโดยนักภูมิศาสตร์ Jessica Dempsey ลงใน the journal Conservation Letters พวกเขายังได้กล่าวไว้อีกว่า “ถ้าการปฏิรูปทางเศรษฐกิจนั้นจำเป็นจริง ๆ ในการแก้ปัญหาการสูญพันธุ์ ขั้นต่อไปที่ควรจะทำคือต้องไปเผชิญหน้ากับพวกนายทุนต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุน”

หลังจากนั้น Jessica Dempsey และเพื่อนของเธอ Tara Martin นักวนศาสตร์ และ Rashid Sumaila นักชีววิทยาการประมง ทั้งหมดจาก University of British Columbia ได้เรียกร้องถึง “ความรับผิดชอบจากเงินสนับสนุน” จากทุก ๆ วิธีการที่รัฐบาลได้ลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแล้วส่งผลกระทบทางลบต่อธรรมชาติ

พวกเขาได้ทำการยกตัวอย่างการสนับสนุนที่เห็นชัดเจนมาบางอัน เช่น รัฐบาลแคนาดา 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับท่อน้ำมัน รัฐบาลออสเตรเลีย 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเหมืองแร่ รัฐบาลจีน 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปุ๋ยไนโตรเจน รัฐบาลญี่ปุ่น 2,200 เหรียญสหรัฐ ในการจับปลาที่มากเกินความพอดี และสำหรับรัฐบาลทั่วโลกได้ใช้เงินไป 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการสนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง นั่นคิดเป็นปริมาณมากกว่า 6% ของมูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลก Dempsey และเพื่อนของเธอได้เขียนไว้ว่า “ไม่มีใครสนับสนุนให้กับธรรมชาติเลย หรืออาจจะเรียกได้ว่านี่เป็นปัญหาตลอดการของการอนุรักษ์”

ไม่ใช่การสนับสนุนทุกอันจะสามารถตีออกมาเป็นเงินได้ เช่น การออกนโยบายที่ไม่ดี หรือการควบคุมที่ไม่เข้มงวดเปิดโอกาสให้คนทำผิด ก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนอย่างหนึ่ง ในปี พ.ศ.2553 การยุติการสนับสนุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ 193 ประเทศทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันที่จะทำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาระดับโลกว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาที่ควรจะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า “มีไม่กี่คนที่จะรู้ทันคำสัญญานั้น ในปี พ.ศ.2561 มีเพียง 19 ประเทศเท่านั้นที่มีความคืบหน้าในการทำตามสัญญา” ประเทศเหล่านั้นยังได้สัญญาอีกว่าจะควบคุมการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสื่อมลงของระบบนิเวศ เช่น การเก็บภาษีผู้ปล่อยมลพิษ การเก็บค่าฟื้นฟูระบบนิเวศ การสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมาก แต่ความพยายามเหล่านี้ยังคงเป็น “ฝ่ายแพ้ต่อการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ” เขียนโดย Dempsey และเพื่อนของเธอ

จากงานศึกษาล่าสุดโดย Rashid Sumaila ได้พบว่ามีการสนับสนุนเงินให้ทำการประมงแบบยั่งยืนนั้นมีมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทว่าเงินสนับสนุนให้ทำการประมงที่มากเกินพอดีนั้นมีมูลค่าถึง 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นักวิจัยคนอื่น ๆ ได้ทำการคำนวณค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลบราซิลได้ใช้ในการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่ามีมูลค่า 158 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เช่นเดียวกันก็ได้สนับสนุนเงิน 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการตัดไม้ทำลายป่า แต่ก็ยังแพ้อินโดนีเซียที่สนับสนุนเงินควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า 165 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการตัดไม้ทำลายป่า

สิ่งที่ทำให้การอนุรักษ์ดำเนินการไปอย่างล่าช้าส่วนหนึ่งก็มาจากอำนาจทางการเมืองของอุตสาหกรรมเหล่านี้ แต่ก็มีบ้างที่มาจากความท้าทายใหม่ ๆ ทางด้านวิชาการ กลุ่มนักวิจัยได้เขียนไว้ว่า การสนับสนุนการทำลายธรรมชาติเหล่านี้ยากที่จะแกะรอยหา แม้แต่กับการแกะรอยภายในตัวรัฐบาลเองที่เป็นต้นกำเนิดของเงินสนับสนุนเหล่านี้ และหน่วยงานของรัฐหลาย ๆ ที่ทำงานโดยไม่รู้เลยว่าได้รับเงินสนับสนุนให้ทำลายธรรมชาติจากกระทรวง หรือแหล่งที่มาที่มิอาจเปิดเผย

Dempsey และเพื่อนของเธอได้กล่าวว่า “อยากให้รู้ว่าเงินสนับสนุนแบบนี้มันมีอยู่จริง และมันก็ส่งผลกระทบอย่างมาก ต้องมีการแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบของเงินสนับสนุน และถ้าเป็นไปได้ต้องหาตัวผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนเหล่านี้” เงินสนับสนุนเหล่านี้มีส่วนเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพล และองค์กรใหญ่หรือไม่? และในอีกทางคือเงินเหล่านี้อาจจะจำเป็นต่อผู้คนระดับรากหญ้าหรือเปล่า หรือมันแค่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคนรวยบางกลุ่มเท่านั้น

ด้านสังคมก็มีความสำคัญพอ ๆ กันกับในด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการจะจัดการปฏิรูปใด ๆ เกี่ยวกับเงินสนับสนุนนี้ ต้องทำการศึกษาให้มั่นใจเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคม ยิ่งโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย มีภาวะการครองชีพต่ำ อาจจะใช้เปลี่ยนวิธีการสนับสนุนเงินใหม่ เช่น แทนที่จะให้เงินคนไปจับปลา ก็เอาเงินนั้นไปจัดการ และฟื้นฟูแหล่งน้ำดีกว่า 

แต่ถ้าสุดท้ายแล้วพบว่าเงินสนับสนุนเหล่านั้นไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่กลับไปให้ประโยชน์กับกลุ่มคนที่มีอำนาจบางกลุ่มเท่านั้น ก็สมควรจะตัดตอนสิ่งนี้ทิ้งให้สิ้นซากเสีย

Dempsey และเพื่อนร่วมงานได้สรุปว่า “มีเงินก้อนใหญ่สนับสนุนให้เกิดการสูญพันธุ์อยู่จริง ๆ และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางเงินทุนเหล่านี้ ไปสู่เส้นทางที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ และมีเงินสนับสนุนเพื่อรักษาธรรมชาติอย่างเต็มที่”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Identifying and ending subsidies for extinction
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร