มนุษยชาติภายใต้เงาของธรรมชาติที่เสื่อมโทรม

มนุษยชาติภายใต้เงาของธรรมชาติที่เสื่อมโทรม

นักวิทยาศาสตร์แนวหน้าเตือนว่า สังคมมนุษย์อยู่ภายใต้การคุกคามจากระบบนิเวศซึ่งเกื้อหนุนความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่เสื่อมโทรมลง หลังจากมีการประกาศผลการตรวจสอบสุขภาพโดยรวมของโลก

ปริมาณชีวมวลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตามธรรมชาติลดลงถึงร้อยละ 82 ระบบนิเวศทางธรรมชาติมีพื้นที่ลดลงราวครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ชนิดพันธุ์กว่าล้านชนิดอยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ผลกระทบทั้งหมดนี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก ข้อสรุปดังกล่าวมาจากการศึกษาต่อเนื่อง 3 ปีของนักวิทยาศาสตร์กว่า 450 ชีวิต

 

แนวปะการังฟอกขาวในแนวปะการัง Great Barrier ในออสเตรเลีย PHOTO : Nette Willis / AFP / Getty

 

ชนิดพันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำราว 2 ใน 5 อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่นเดียวกับปะการังและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีกราว 1 ใน 3 ในขณะที่ชะตากรรมของเหล่าแมลงซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรยังไม่มีผลสรุปแน่ชัด แต่มีการคาดการณ์อย่างอนุรักษ์นิยมว่าอย่างน้อย 1 ใน 10 อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ขณะที่บางภูมิภาคจำนวนประชากรแมลงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การสูญเสียผู้ผสมเกสรอาจทำให้ผลผลิตพืชอาหารมูลค่า 577 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตกอยู่ในภาวะเสี่ยง นอกจากนี้ การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดินยังทำให้ผลิตผลของพืชอาหารเหล่านั้นลดลงร้อยละ 23 ทั่วโลก

ผลกระทบต่อมนุษยชาติ ทั้งการขาดแคลนน้ำจืด และความผันผวนของสภาพอากาศ เริ่มแสดงสัญญาณเลวร้ายลงโดยไม่มีการดำเนินการแก้ไขเพียงพอ “สุขภาพของระบบนิเวศซึ่งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องพึ่งพิงนั้นเลวร้ายลงอย่างมาก เรากำลังบ่อนเซาะฐานรากที่สุดของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และคุณภาพชีวิตทั่วโลก” Robert Watson จาก Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services ให้สัมภาษณ์ “เรากำลังเสียเวลาอันมีค่า ปัญหาเหล่านี้ต้องดำเนินการแก้ไขในทันที”

คำเตือนดังกล่าวนับว่าแตกต่างจากรายงานอื่นๆ ของสหประชาชาติซึ่งจะต้องได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก นักวิทยาศาสตร์หลายร้อยชีวิตรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเชิงวืชาการกว่า 15,000 ชิ้นและรายงานจากชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในแนวหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก พวกเขารวบรวมและสรรสร้างการประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ (millennium ecosystem assessment) เมื่อ พ.ศ. 2548 แต่ข้อมูลที่รวบรวมได้ไม่ใช่เพียงจำนวนชนิดพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น แต่รวมถึงโครงข่ายความเชื่อมโรงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพอากาศ และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนจากหลายประเทศได้รวมกันแก้ไขบทสรุปก่อนจะนำเสนอให้กับผู้มีหน้าที่ตัดสินใจในแง่นโยบาย โดยรวมฉากทัศน์ของแต่ละแนวทางการแก้ไข เช่น ฉากทัศน์ “กระแสการเปลี่ยนแปลง” ทั้งในภาครัฐบาล การแก้ไขกฎการค้ารัหว่างประเทศ การลงทุนมูลค่ามหาศาลในป่าไม้ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล เช่น การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และสินค้าฟุ่มเฟือย

หลังจากการหยุดเรียนประท้วง และขบวนขบถต้านการสูญพันธุ์ (Extinction Rebellion protests) ในสหราชอาณาจักรซึ่งนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อตกลงเขียวใหม่ (Green New Deal) ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือของสหรัฐอมริกาและสเปน ผู้เขียนหวังว่ารายงานประเมินความหลากหลายทางชีวภาพความหนา 1,800 หน้าจะผลักดันวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพให้กลายเป็นประเด็นหลักบนเวทีโลก เช่นเดียวกับเมื่อปีก่อนที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การเคาะข้อตกลงที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสโดยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

 

เครื่องเกี่ยวนวดและเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองใน Mato Grosso, บราซิล PHOTO : AFP / Getty

 

David Obura หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า “เราพยายามที่จะบันทึกว่าปัญหาของเรานั้นใหญ่ขนาดนั้นเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการสื่อสารว่ายังไม่สายเกินไปหากเราจะเริ่มเลี่ยนแปลงพฤติกรรม นี่คือสิ่งสำคัญในระดับมนุษยชาติ เราไม่ได้พูดถึงการมีชนิดพันธุ์อื่นๆ อยู่ในโลกแล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่นี่คือระบบที่สนับสนุนการยังชีพของมนุษย์”

รายงานฉบับดังกล่าวแสดงภาพดาวเคราะห์ที่รอยเท้าของมนุษย์นั่นใหญ่มากจนแทบไม่มีที่ว่างเหลือให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ดิน 3 ใน 4 บนโลกได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปูทับด้วยคอนกรีต อยู่ใต้เขื่อน หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ระบบนิเวศทางน้ำราว 2 ใน 3 ก็เปลี่ยนแปลงจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เส้นทางขนส่งทางเรือ การทำเหมืองใต้ทะเล และโครงการอื่นๆ พื้นที่ 3 ใน 4 ของแม่น้ำและทะเลสาบถูกใช้เพื่อการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ ส่งผลให้ชนิดพันธุ์ราว 500,000 ชนิดพันธุ์มีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอในระยะยาว หลายชนิดพันธุ์อยู่บนเส้นทางที่จะสูญหายไปตลอดกาลภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

Eduardo Brondizio จากมหาวิทยาลัยรัฐ Indiana สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “เราสร้างผลกระทบอย่างมากจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง จนเราไม่เหลือที่ที่จะย้ายต่อไปอีกแล้ว หากเรายังเดินหน้าเช่นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เราจะพบกับการถดถอยอย่างรุนแรงและรวดเร็วของระบบนิเวศซึ่งช่วยสนับสนุนการยังชีพของเราและปกป้องเราจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

การเกษตรและการประมงคือสองกิจกรรมหลักที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม การผลิตอาหารได้เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ราว 50 ปีก่อนเพื่อป้อนให้กับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สร้างอาชีพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนราคาแพง อุตสาหกรรมเนื้อคืออุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบรุนแรงมากที่สุด พื้นที่เลี้ยงสัตว์คิดเป็นราวร้อยละ 25 ของที่ดินซึ่งปราศจากน้ำแข็งบนโลก และปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 18 ในขณะที่การปลูกพืชใช้ที่ดินราวร้อยละ 12 และปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าร้อยละ 7 ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกรวม

การศึกษาดังกล่าววาดภาพผลกระทบซึ่งมนุษย์ก่อขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่แปลงเกษตรขนาดเล็กที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือการปศุสัตว์ระดับพรีเมียม พื้นที่เหล่านี้ได้ทดแทนพื้นที่ป่าและระบบนิเวศอื่นๆ ที่อุดมด้วยธรรมชาติ พร้อมกับการทำให้ดินเสื่อมสภาพ เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังเปราะบางต่อโรคระบาด ภัยแล้ง และผลกระทบอื่นๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในแง่ของที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งสูญเสียพื้นที่ไปราวร้อยละ 83 ตั้งแต่ราว 3 ศตวรรษก่อน ทำให้ประชากรนกและคุณภาพลดลงอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าก็ลดลงเช่นเดียวกันโดยเฉพาะป่าร้อนชื้น เพียง 13 ปีหลังจากขึ้นศตวรรษใหม่ พื้นที่ป่าลดลงถึงร้อยละ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่มากกว่าประเทศฝรั่งเศสรวมกับสหราชอาณาจักรเสียอีก แม้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในภาพรวมจะชะลอตัวลง แต่นี่ก็เป็นเพียงมายากลทางตัวเลขเพราะเป็นการแทนที่ผืนป่าด้วยพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว

มหาสมุทรไม่ใช่สรวงสวรรค์อีกต่อไป เหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ไม่ถูกกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์ การประมงเชิงอุตสาหกรรมกินพื้นที่กว่าครึ่งของมหาสมุทรโลก ทำให้ประชากรปลาราว 1 ใน 3 ถูกจับในปริมาณที่ไม่ยั่งยืน

 

ฉลามหัวค้อนสแกลลอปที่ระบุว่าใกล้จะสูญพันธุ์แล้วตายในแนวดรัมนอกเกาะ Magnetic, ออสเตรเลีย PHOTO : HSI / EPA

 

ปัจจัยเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีผลกระทบไม่มากนักโดยเปรียบเทียบ แต่ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 415 PPM ซึ่งสูงที่สุดในประวัติการณ์ แม้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจะถูกจำกัดได้ตามข้อตกลงปารีสคือ 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส แต่หลายชนิดพันธุ์ก็จะได้รับผลกระทบและลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ

การเพิ่มขึ้นของประชากรและความไม่เท่าเทียมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ประชากรหนึ่งคนในประเทศพัฒนาแล้วมีรอยเท้าการใช้ทรัพยากรสูงถึง 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศที่ยากจนที่สุด และช่องว่างดังกล่าวก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

มนุษยชาติกำลังขุดเจาะเอาทรัพยากรราว 60 พันล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วราวสองเท่า ในขณะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 66 เท่านั้น การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองกำลังจะทะลุขีดจำกัดที่โลกรับได้ น้ำเสียราวร้อยละ 80 ถูกทิ้งลงธารน้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรโดยไม่ได้รับการบำบัด รวมถึงโลหะหนักราว 300 ถึง 400 ตัน ขยะพิษเคมีจากอุตสาหกรรม ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าหากเปรียบเทียบกับเมื่อ 40 ปีก่อน ส่งผลกระทบต่อเต่าทะเลร้อยละ 86 นกทะเลร้อยละ 44 และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในมหาสมุทรราวร้อยละ 43 การชะล้างของปุ๋ยเคมีลงสู่แหล่งน้ำสร้าง “พื้นที่แห่งความตาย” ซึ่งไร้สิ่งมีชีวิตในขนาดเท่าสหราชอาณาจักร

Andy Purvise อาจารย์จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ณ กรุงลอนดอน และหนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า เขาสนับสนุนให้ทุกประเทศเริ่มพูดคุยและตกลงที่จะจ่าย “ยาแรง” เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว

 

เต่าริดลีย์มะกอกติดขยะพลาสติกใกล้กับเกาะคอนทาโดราในปานามา PHOTO: SeaTops / Alamy

 

“นี่คือรายงานสุขภาพโลกใบนี้คือมีรายละเอียดจำนวนมาก และครอบคลุมมากที่สุด และใจความสำคัญก็สรุปได้ว่า เราควรมาพบหมอให้เร็วกว่านี้ เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่ โลกที่เราจะฝากต่อให้คนรุ่นหลังกำลังเผชิญกับอันตราย นี่ผมไม่ได้กล่าวเกินจริงนะครับ หากเราทิ้งไว้เช่นนี้แล้วปล่อยทุกอย่างให้เป็นปัญหาของลูกหลาน พวกเขาและเธอคงยากที่จะให้อภัยเรา”

อีก 18 เดือนข้างหน้าถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเด็นเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะอยู่ในที่ประชุม G8 รัฐบาลอังกฤษได้เดินหน้าให้ Partha Dasgupta จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เริ่มการศึกษาเหตุผลทางเศรษฐกิจในการอนุรักษ์ธรมชาติ ซึ่งน่าจะไปในทำนองเดียวกันการศึกษาของ Stern เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีหน้าจะมีการประชุมครั้งสำคัญของสหประชาชาติที่ประเทศจีนเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมครั้งใหม่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

Chistiana Pasca Palmer ผู้อำนวยการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติระบุว่า เธอทั้งกังวลแต่ก็ยังมีความหวัง “รายงานฉบับนี้ฉายภาพที่น่าหวั่นใจว่าเรากำลังจะนำโลกเข้าสู่สภาวะอันตรายที่ยากจะฟื้นฟู แต่ก็มีหลายเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น จวบจนปัจจุบัน แทบไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองใดๆ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ตอนนี้แรงกดดันจากสาธารณชนเริ่มรุนแรงมากขึ้น ผู้คนแสดงความกังวลและต้องการการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม”

รายงานฉบับดังกล่าวรับรู้ถึงความพยายามในการทำงานอนุรักษ์กระแสหลักในปัจจุบัน เช่น การจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีความตั้งใจดีแต่ก็ยังไม่เพียงพอ แทบทุกฉากทัศน์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลง เว้นแต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากในมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

 

แรดเดินผ่านกองไฟป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Pobitora ในรัฐอัสสัมประเทศอินเดีย PHOTO : Biju Boro / AFP / Getty

 

คุณค่าและเป้าหมายทั้งในระดับรัฐบาล ระดับชุมชน ระดับชาติ และนานาชาติ ต้องได้รับการปรับปรุง ผู้อำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบายต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพโลกที่ย่ำแย่ลง นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจทางการเงิน การลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบัญชีเพื่อธรรมชาติ การค้าระหว่างประเทศ การจัดการจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้น และความไม่เท่าเทียมในแง่การบริโภค การร่วมมืออย่างแนบแน่นจากภาคส่วนต่างๆ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ และการบังคับใช้ที่เข้มข้นขึ้น

การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชุมชนที่ต้องพึ่งพาป่าก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหลายพื้นที่ ชุมชนดังกล่าวคือแนวหน้าและปราการด่านสุดท้ายในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่แรงกดดันด้านทรัพยากรก็ส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสัตว์ป่าที่ลดลง และความรู้ในการจัดการที่หายไปจากชุมชน

Josef Settele นักกีฏวิทยาประจำศูนย์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อม Helmholtz Centre ในประเทศเยอรมันให้สัมภาษณ์ว่า “สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราไม่มีทางที่จะยอมแพ้ รายงานฉบับนี้ยังชี้ทางแก้ไขปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าเราต้องใช้ความพยายามในการแก้ไขแนวโน้มในปัจจุบัน”

“ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก แต่ควรเริ่มการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะการดำเนินชีวิตและธุรกิจตามปกติโดยการปรับตัวเพียงเล็กน้อยนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกต่อไป”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Human society under urgent threat from loss of Earth’s natural life
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์