การปรับตัวของสายการบินต่อวิกฤติขยะล้นโลก

การปรับตัวของสายการบินต่อวิกฤติขยะล้นโลก

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกมีอัตราการขยายตัวของนักเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการรายงานองค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ World Tourism Organization (UNWTO) พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั่วโลกมีประมาณ 1,186 ล้านคน

ในปี 2015 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปี 2014 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2016 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ปี 2005 – 2015 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.1

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศได้อย่างมหาศาล เกิดการสร้างรายได้ การจ้างงาน การลงทุน และแพร่กระจายไปในระดับท้องถิ่น แม้การท่องเที่ยวจะสร้างเม็ดเงินมากมายแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยวก็ได้สร้างขยะมหาศาลเช่นเดียวกัน

จากการรายงานสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ International Air Transport Association (IATA) พบว่า ผู้โดยสาร 1 คน จะสร้างขยะมากถึง 1.4 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน โดยในปี 2017 ปริมาณขยะทั้งหมดจากเที่ยวบิน ซึ่งรวมถึงกระดาษทิชชู่ในห้องน้ำ กล่องใส่ของ และพลาสติกมีมากถึง 5.7 ล้านตัน โดยมีค่าใช้จ่ายในการทิ้งขยะสูงถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

 

ภาพจาก : www.wearefinn.com

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาสายการบิน Hi Fly สัญชาติโปรตุเกสได้เปิดตัวเที่ยวบินแรกที่ปลอดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือ Single-use Plastic ด้วยการเปลี่ยนช้อนส้อมพลาสติกเป็นไม้ไผ่และวัสดุที่ย่อยสลายได้ และงดใช้ขวดน้ำพลาสติกบนเครื่องบิน Airbus A34 ซึ่งเดินทางจาก Lisbon ไปยัง Natal ในแอฟริกาใต้

คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดตัวเที่ยวบินในลักษณะนี้เพิ่มอีก 3 เที่ยวบิน และจะปรับทุกเส้นทางเป็นสายการบินปลอดพลาสติกภายในสิ้นปีนี้ จากแคมเปญนี้แต่ละเที่ยวบินของทาง Hi Fly จะสามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 350 กิโลกรัม หรือประมาณ 770 ปอนด์

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แควนตัส (Qantas) สายการบินประจำชาติอออสเตรเลียรวมทั้งเจ๊ทสตาร์ (Jet Star) สายการบินที่อยู่ในเครือ ได้เปิดตัวสายการบินไร้ขยะแห่งแรกของโลก โดยเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ซิดนีย์-อะดิเลด เที่ยวบินนำร่องที่จะช่วยลดปริมาณของเสียที่ปล่อยออกมาให้เหลือเพียง 34 กิโลกรัม หรือ 150 ตันต่อปี

ภายในปี 2020 ทั้งสายการบินแควนตัสและสายการบินเจ๊ทสตาร์จะลดการใช้พลาสติก 100 ล้านชิ้นต่อปี โดยการเปลี่ยนแก้วพลาสติก 45 ล้านใบ ชุดช้อนส้อมพลาสติก 30 ล้านชุด ถ้วยกาแฟ 21 ล้านใบ และถุงใส่ที่พักศรีษะ 4 ล้านอัน และหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน เช่น กล่องบรรจุอาหารที่ทำจากชานอ้อย มีดที่ทำจากแป้งที่สกัดได้จากพืช นอกจากนี้สายการแควนตัสได้ทำการร่วมมือกับกับซัพพลายเออร์และรัฐบาลในการลดปริมาณขยะเหล่านี้ โดยตั้งเป้าลดขยะพลาสติกให้ได้ 75% ภายในปี 2021

 

ภาพจาก : Qantas and SUEZ operate world’s first zero waste flight

แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้มหาศาล แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเช่นเดียวกัน และเราทุกคนคือส่วนหนึ่งที่สร้างหายนะให้กับโลกใบนี้

การปรับตัวของสายการบินวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดอัตราการสร้างขยะแม้อาจจะเทียบไม่ได้กับจำนวนขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งต่อโลกใบเดิมให้กับลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

 


ที่มา
บทบาทสายการบินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วิทยาลัยดุสิตธานี
แควนตัสเปิดตัวเที่ยวบินไร้ขยะแห่งแรกของโลก
สายการบิน Hi Fly เปิดตัวเที่ยวบินแรกที่ปลอดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง : Flights create millions of tonnes of passenger waste per year, with little recycled