กินปลา-ยั่งยืน เรื่องเล่าที่เริ่มจากกว๊านพะเยา

กินปลา-ยั่งยืน เรื่องเล่าที่เริ่มจากกว๊านพะเยา

กว๊านพะเยา ทะเลสาบจันทร์เสี้ยวสวยสงบทางตอนเหนือของประเทศไทย เป็นบ้านของปลากว่า 50 ชนิดพันธุ์ เกษตรกรและชาวประมงรายย่อยหลายร้อยหลังคาเรือน และประชาชนราว 18,000 ชีวิตในเมืองพะเยา ทะเลสาบแห่งนี้มีความสำคัญกับชาวชุมชนในแง่เป็นแหล่งสัตว์น้ำ ปัจจุบัน การประมงในกว๊านพะเยาคือหัวใจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและระบบอาหารในระดับฐานราก

ปลาเป็นอาหารที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนที่สุดแหล่งหนึ่งโดยเปรียบเทียบ จากรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชิ้นล่าสุดโดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) มีหลายย่อหน้าที่พูดถึงการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และโปรตีน แต่ปลาและสัตว์น้ำหลากชนิดกลับแทบไม่เคยกลายเป็นประเด็น

สวนพอเพียง

ผู้เขียนคือหนึ่งในกลุ่มเครือข่าย Too Big to Ignore ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับโลกเพื่อสร้างความตระหนักให้กับชาวประมงรายย่อยรอบโลก ในงานประชุมวิชาการล่าสุดที่เชียงใหม่ เราได้เยี่ยมชมฟาร์มขนาดเล็กที่เชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรคือข้าว ผัก พืชไร่ และปลา ซึ่งนับว่าเกือบปิดวงจรทั้งหมด

พื้นที่เกษตรดังกล่าวดำเนินการโดยลุงเปลี่ยนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ แนวคิดหลักของปรัชญาดังกล่าวจะเน้นผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และให้ความสำคัญกับคุณค่า เช่น ทางสายกลาง มัธยัสถ์ ซื่อสัตย์ และแนวคิดจากชุมชนเป็นศูนย์กลาง

นับตั้งแต่ลุงเปลี่ยนเจอกับภัยแล้งครั้งรุนแรงเมื่อราว 20 ปีก่อน เขากระจายสวนเกษตรจากเน้นเลี้ยงปลาเพียงอย่างเดียว เป็นปลูกข้าว ผัก และใช้พืชน้ำที่ปลูกเองเป็นอาหารปลาและกบ ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็จะนำไปขายในตลาดชุมชน

ที่นี่เป็นส่วนขนาดกลาง ซึ่งลุงเปลี่ยนสร้างรายได้ราววันละ 300 บาทจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการนำผลผลิตไปขายของภรรยา เขาไม่มีหนี้สิน และสวนของเขายังสามารถดำรงชีพได้จากผลผลิตในสวน เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับเกษตรกรในทวีปอเมริกาเหนือ

 

ปลา อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กว๊านพะเยาเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการประมงและการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดเล็กคือหัวใจของโลกในอนาคต ปลาคืออาหารที่มีการบริโภคและซื้อขายแลกเปลี่ยนมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 17 ของโปรตีนจากสัตว์ที่คนบริโภคทั่วโลก สำหรับประชากรที่อาศัยในเกาะขนาดเล็ก หรือทวีปอาร์กติก ปลาอาจคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของโปรตีนทั้งหมด

ปลายังเป็นแหล่งโอเมก้า 3 ที่สำคัญและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงกรดไขมัน วิตามิน เกลือแร่ โดยเฉพาะต่อประชาชนที่ยากไร้ ปลาอย่างซาร์ดีนนับว่ามีคุณค่าทางอาหารอย่างมาก และเป็นแกนสำคัญที่พยุงความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของประชากรหลายล้านชีวิตในทวีปแอฟริกา

ปลาโดยทั่วไปแล้วมีรอยเท้าคาร์บอนที่ต่ำกว่าโปรตีนจากการเกษตรชนิดอื่นๆ ทำให้ปลาเป็นอาหารทางเลือกที่สำคัญสำหรับคนที่ต้องการอยากลดรอยเท้าคาร์บอนของตัวเอง ปลาหลากชนิดจึงเป็นกุญแจสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและระบบอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ปลาอย่างซาร์ดีนกลับถูกใช้เป็นอาหารสัตว์หรือสกัดทำน้ำมันจากปลา ในขณะที่เหล่าสตาร์ตอัพกำลังมองหาทางเลือกโปรตีน เช่น แมลงหรือโปรตีนในห้องทดลอง ปลาซาร์ดีนอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีอยู่ดั้งเดิม หากปรับเปลี่ยนวิถีการกินอาหารในสหภาพยุโปรและอเมริกา ก็อาจช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยประชาชนให้พ้นจากความยากจนได้

สู่การประมงอย่างยั่งยืน

ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าสู่การทำประมงอย่างยั่งยืน ใน พ.ศ. 2557 ประเทศสมาชิก 194 ประเทศขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ลงนามเห็นชอบแนวทางเพื่อปกป้องการประมงขนาดเล็ก โดยเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางสังคม และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้ผลิตอาหารทะเลกว่า 25,000 รายที่ได้รับตรารับรองการประมงอย่างยั่งยืน Marine Stewardship Council (MSC) แม้ว่าตรารับรองดังกล่าวกำลังเป็นที่ถกเถียงในแง่ความโปร่งใส แม่นยำ และผลลัพธ์ทางสังคมก็ตาม แต่เราก็ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกคือการลงทุนในการประมงขนาดเล็ก และความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปปัญหาการประมงเกินขนาด เราก็จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มผลลัพธ์ในการอนุรักษ์ และสนับสนุนให้ชาวประมงรายย่อยลืมตาอ้าปาก รวมถึงผู้หญิงอีกด้วย

หากมองเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร ยังมีหลายแง่มุมให้คำนึงถึง ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สุขภาพ คาร์บอน ความหลากหลายทางชีวภาพ ทางเลือกอาหาร ไปจนถึงความเป็นธรรมทางสังคม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก We can eat our fish and fight climate change too โดย Philip A Loring และ Ratana Chuenpagdee ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง www.chillpainai.com