ความย้อนแย้งของนโยบายรัฐ การอนุรักษ์ที่มักถูกเลือกไว้ข้างหลังการพัฒนา

ความย้อนแย้งของนโยบายรัฐ การอนุรักษ์ที่มักถูกเลือกไว้ข้างหลังการพัฒนา

หากพูดถึงพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย คุณว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่เท่าไหร่ ? แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าภาครัฐกำลังมีการขอใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อโครงการพัฒนาอยู่เท่าไหร่ ?

.
จากข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ 2562 -2563 โดยกรมป่าไม้ฉบับล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลือเพียงร้อยละ 31.64 หรือ 102,353,484.76 ไร่ และในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงถึงกว่า 130,000 ไร่ ซึ่งยังห่างไกลเป้าหมายของประเทศ ที่ระบุให้ต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ [1] ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 และนโยบายป่าไม้แห่งชาติ อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่พยายามกำหนดเป้าหมายเรื่องพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ว่าควรมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 

พื้นที่ป่าไม้ไทย 2562-2563
จากเอกสารนโยบายป่าไม้แห่งชาติ 2562

หากจำแนกให้ละเอียดเพิ่มขึ้นว่าพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่มีสัดส่วนเท่าไหร่จาก ร้อยละ 31.64 สามารถจำแนกได้ดังนี้ พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 22.6 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 9.04 ยังขาดอีกร้อยละ 8.36 ถึงจะเป็นไปตามเป้าหมาย

.
หรือเป้าหมายพื้นที่ป่าไม้จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน ?

แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ภาครัฐเองกำลังมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย ในที่นี่ผู้เขียนขอกล่าวถึงเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเนื่องจากมีเอกสารอ้างอิง

โครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ [2] เพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ตามเอกสารระบุว่ากำลังมีการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 77 โครงการ ด้วยกัน สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 29 โครงการ

2. โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 5 โครงการ

3. โครงการสำคัญที่ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 13 โครงการ

4.โครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม 26 โครงการ

5. โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย 4 โครงการ

77 โครงการนี้ (จากข้อมูลล่าสุดเหลือ 76 โครงการ) ยังไม่รวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางโครงการซึ่งกำลังมีประเด็นการคัดค้านอยู่ในขณะนี้แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวอีกหลายโครงการ เช่น 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ผู้เขียนสามารถรวบรวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะใช้พื้นที่ป่าไม้ได้ทั้งสิ้น 91 โครงการ !!!  แต่ผู้เขียนสามารถหาข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ป่าไม้ที่ต้องหายไปหากมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามที่ระบุไว้ในแผนงานได้เพียงแค่ 25 โครงการ จาก 91 โครงการ คือ กว่า 40,000 ไร่ ทั้งนี้หากมีการสูญเสียป่าดังกล่าวจะเกิดการสูญเสียการเก็บกักคาร์บอนกว่า 1,000 ,000 ตัน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ กว่า 5,000 ,000  ตัน ซึ่งขัดแย้งกับกลไกการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจากการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Reducing Emission from Deforestationa and Forest Degradation: REDD+) ที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีสมาชิกและลงสัตยาบันภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) [3]

จากเอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อ 18 ธันวาคม 2563

ในขณะที่ทุกประเทศทั่วโลก กำลังตระหนักและให้ความสำคัญในการหยุดยั้ง ภาวะโลกร้อน Climate Change และมุ่งพัฒนาประเทศด้วยแนวนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศตนเอง พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ดูแลรักษาป่าไม้และลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนฯ  ประเทศไทยเองก็ได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบันกับนานาประเทศไว้มากมาย ทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  พิธีสารเกียวโต ความตกลงปารีส ทำความตกลงทวิภาคีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนากลไกเครดิตร่วมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ฯ จัดทำแผนแม่บทและตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมามากมาย แต่กลับเลือกดำเนินนโยบายทำลายผืนป่าอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ทำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การให้สัมปทานเหมืองแร่ และตัดถนนผ่านป่า พยายามตัดขาดผืนป่าออกจากกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศที่เป็นบ้านของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางของทั้งโลก หากประเทศไทยยังคงเลือกที่จะพัฒนาประเทศโดยละเลยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาจต้องพบกับความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่จะไม่มีนักลงทุนจากประเทศไหนกล้าเข้ามาลงทุนกับประเทศที่ไม่มีความพร้อมและไม่มีการรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศอย่างมีดุลยภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งสามด้านนี้ต้องเกื้อกูลและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างมีคุณภาพต้องคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องสงวน และรักษาไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน แต่หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เปลี่ยนแนวความคิดและวิธีการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานการทำลายทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ เลือกที่จะฝังกลบนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของตัวเองในนามของคำว่าพัฒนา โปรดจงรู้ไว้ว่าท่านกำลังนำพาประเทศไทยไปสู่หายนะ 

ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศเรามีคนเก่งมากมาย และพร้อมที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้ร่วมยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก พัฒนารูปแบบการจัดการน้ำทางเลือกโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บริหารจัดการเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่า เพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จดหมายที่เครือข่ายองค์กรได้ร่วมกันยื่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ได้รับการตอบกลับ ลงวันที่ 21 กันยายน 2564 ว่า “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดทราบ พร้อมทั้งได้ประสานส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาโดยขอให้แจ้งผลให้ท่านทราบโดยตรงแล้ว”

 


เชิงอรรถ
[1] ป่าเพื่อการอนุรักษ์ กำหนดไว้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายากและป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมและการพังทลายของดิน ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัย และนันทนาการของประชาชน (ป่าต้นน้ำลำธาร อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ และเขตอนุรักษ์อื่น ๆ ทางด้านปกป้องสิ่งแวดล้อม) ป่าเพื่อเศรษฐกิจ กำหนดไว้เพื่อการผลิตไม้และของป่า เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
[2] อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ, วนอุทยาน, ป่าสงวนแห่งชาติฯ
[3] ข้อมูลการสูญเสียการเก็บกักคาร์บอน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์, ระวี ถาวร รีคอฟ
ผู้เขียน : อรยุพา สังขะมาน
ตำแหน่ง : หมาเฝ้าป่า