Global Boiling สิ้นยุคโลกร้อน เดินทางสู่ยุคโลกเดือด

Global Boiling สิ้นยุคโลกร้อน เดินทางสู่ยุคโลกเดือด

‘ยุคโลกเดือด’ Global Boiling คงคำนิยามที่บรรยายถึงสภาพภูมิอากาศของโลกในเวลานี้ได้ดีที่สุด

ภาพนั้นปรากฎชัดในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2023 ซึ่งวัดค่าได้ว่า “ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์”

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ปี 2019 และ 2020 อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 16.61-16.63 แต่ตอนนี้สูงถึง 16.9 องศา

หรือนับตั้งแต่ที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “ปีที่ร้อนที่สุด” ติดต่อมาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 อุณหภูมิโดยเฉลี่ยก็ยังไล่เลี่ยกัน ไม่เคยห่างกันแบบก้าวกระโดดถึงเพียงนี้

และเมื่อย้อนเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ก่อนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกเผาไหม้อย่างไม่บันยะบันยัง อุณหภูมิโลกใบนี้ได้เพิ่มขึ้นจากตอนนั้นถึง 1.5 องศา เข้าไปแล้ว

นอกจากอุณหภูมิพื้นผิวโลก อุณหภูมิ ในมหาสมุทรก็สูงขึ้นไม่ต่างกัน และได้รับการบันทึกว่าอยู่ที่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาในช่วงเวลานี้ของปี

โดยชุดข้อมูล 173 ปี ที่ได้รับการบันทึกมาถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 2015-2022 (8 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์) คือ “ทศวรรษที่ร้อนขึ้นอย่างชัดเจนและรวดเร็ว”

ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1970 โลกเกิดปรากฏการณ์ลานีญาทำให้น้ำทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกเย็นลงไปจนถึงช่วงปลายปรากฏการณ์

แต่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกก็เย็นลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

และเมื่อมีเอลนีโญเข้ามาแทนที่ น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนก็เริ่มร้อนขึ้น ทำให้เกิดความน่าจะเป็นที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

และถึงแม้จะบอกว่ามันคือ “ความน่าจะเป็น” แต่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ต่างเทความเห็นไปทาง “มีแนวโน้มที่จะเกิดมากกว่าที่จะไม่เกิด”

ซึ่งนอกจากจะร้อนที่สุดแล้ว – นักวิทยาศาสตร์ WMO และ Copernicus Climate Change Service มองว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างประหลาดและไม่เคยเห็นมาก่อน

ที่สามารถนำมาเป็นคำนิยามถึงช่วงเวลาแห่งยุคสมัยใหม่ ตามที่ ‘อันโตนิโอ กูเตร์เรส’ เลขาธิการสหประชาชาติ อธิบายว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว และยุคโลกเดือดเริ่มขึ้นแล้ว”

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว น่ากลัวมาก และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น”

หน้าตาของยุคโลกเดือดเป็นอย่างไร ในรายงาน State of the Global Climate 2022 (เผยแพร่เมื่อ Earth Day 2023) ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ดังนี้

เกิดภัยแล้งไปทั่วแอฟริกาตะวันออก ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูติดต่อกัน 5 ปี ยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี ประมาณการว่าเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ประชากรกว่า 20 ล้านคนเผชิญภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันทั่วทั้งภูมิภาค

ขณะที่ช่วงเวลานี้ของปีที่ผ่านมามีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ 2 เดือนติดต่อกัน จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 ราย มีผู้ได้รับผลกระทบ 33 ล้านคน อีก 8 ล้านคนต้องพลัดถิ่นไร้บ้าน

สเปน เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และโปรตุเกส เผชิญคลื่นความร้อนรุนแรง มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 15,000 ราย

ประเทศจีนก็เจอคลื่นความร้อนแบบเดียวกัน กระจายตัวเป็นวงกว้างและยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เคยบันทึกสถิติระดับประเทศ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ 0.5 องศา

สถานการณ์ความแห้งแล้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่ 2021 ส่งผลให้ประชากรโลก 2.3 พันล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร

คาดการณ์ว่าในปีเดียวกันมีประชากร 767.9 ล้านคนเผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร (หรือ 9.8 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก) ครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเชียและหนึ่งในสามอยู่ในแอฟริกา

ธารน้ำแข็งอ้างอิงที่ทำการสังเกตการณ์ระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลงความหนาเฉลี่ยมากกว่า −1.3 เมตร ในระหว่างเดือนตุลาคม 2021-2022

ในช่วงปี 2005-2019 การสูญเสียน้ำแข็งบนพื้นดินทั้งหมดจากธารน้ำแข็ง กรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกามีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์

และอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ

ปริมาณผู้ได้รับผลกระทบและเรื่องราวความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เป็นไปตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น

ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลัก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

ขณะที่ความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2020 – 2021 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวจะเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แต่เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เรายังมีหวัง

“เรายังสามารถหยุดสิ่งที่เลวร้ายที่สุดได้ แต่เราต้องเปลี่ยนปีถูกความร้อนแผดเผาให้เป็นปีแห่งความตั้งใจอย่างแรงกล้า”

ในความเป็นไปได้ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นที่ 1.5 องศา เพื่อหลีกหนีสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดหรือร้ายยิ่งกว่านี้ การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างต้องดำเนินการในทันที

ทุกๆ ประเทศต้องผลักดันให้การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้

ทุกคนต้องร่วมมือกัน บริษัท เมือง ภูมิภาค สถาบันการเงิน และบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเร่งการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกันต้องยุติการขยายตัวของอุตสากรรมน้ำมันและก๊าซ และเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2040

ทุกอย่างต้องดำเนินการจริงๆ จังๆ ต้องไม่ฟอกเขียว ไม่บิดเบือนกฎหมาย ต้องหยุดผูกขาดในทางมิชอบ

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน