เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนามรบใหม่ของถ่านหิน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนามรบใหม่ของถ่านหิน

หลังจากที่ประเทศจีนและอินเดียเริ่มตีตัวออกห่างจากพลังงานถ่านหินโดยถูกวางแผนให้ในอนาคตอันใกล้สองประเทศจะไม่มีพลังงานถ่านหินอีกต่อไปจุดสนใจจึงถูกเคลื่อนมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานล่าสุดซึ่งจัดทำโดย Coal Swarm, Sierra Club และ Greenpeace ระบุว่า สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียต่างเดินหน้าปิดเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัย และลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนเป็นมูลค่ามหาศาล มากกว่าที่หลายคนคาดไว้

ในประเทศจีน แทบจะพูดได้เลยว่าไม่มีการให้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่แล้ว Lauri Myllyvirta ผู้เชี่ยวชาญด้านถ่านหินและมลภาวะจาก Greenpeace ประเทศจีนให้สัมภาษณ์ส่วนอินเดีย เราจะเห็นข่าวรายสัปดาห์ว่าโครงการถ่านหินถูกยกเลิก หรืออยู่ในภาวะเสี่ยงขาดทุน เนื่องจากต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมต่างลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วมากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ ทำให้น้อยคนที่จะปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทัน

อย่างไรก็ดี คงต้องรออีกซักพักก่อนที่เราจะกล่าวได้เต็มปากว่าถ่านหินได้หมดไปจากภูมิภาคเอเชียแล้ว เนื่องจากประเทศอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ สามประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรรวมกันกว่า 300 ล้านคน ยังวางแผนเดินหน้าใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า โดยทั้งสามประเทศจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จำนวน 210 แห่งในปีหน้า และหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็ย่อมนำไปสู่การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะทางอากาศต่อเนื่องนานนับทศวรรษ รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตเหมืองถ่านหินที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอีกด้วย

ในอินโดนีเซีย เหมืองถ่านหินเริ่มปิดตัวลงเนื่องจากความต้องการของตลาดลงลดลงอย่างต่อเนื่อง เหมืองดังกล่าวได้ทิ้งปัญหา เช่น แหล่งน้ำปนเปื้อนมลภาวะในภูมิภาคที่มีเหมืองถ่านหิน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป แต่แทนที่จะปรับตัวเองสู่โลกยุคใหม่ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ตัดสินใจทดแทนความต้องการจากต่างประเทศที่หดหาย โดยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ แผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าจึงเน้นไปที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 117 แห่งทั่วประเทศ โดยมีกำลังการผลิตกว่า 35,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวกลับต้องเจออุปสรรคเนื่องจากแรงต้านจากชนชั้นรากหญ้า ซึ่งมีการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการโรงไฟฟ้า Batang กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ในเขตชวากลาง รวมถึงโรงไฟฟ้า Cirebon ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจนรัฐบาลยอมถอนใบอนุญาต แม้แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการอยู่ก็ถูกตั้งคำถามจากมลภาวะที่เกิดขึ้น เช่นโรงไฟฟ้า Tanjung Kasam ใน Batam

เรือขนส่งถ่านหินในแม่น้ำ Mahakam ภูมิภาคกาลิมันตันกลาง ประเทศอินโดนีเซีย / PHOTO Andrew Taylor – WDM

ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเอง ก็ถูกแรงต้านจากนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างกัน

ประเทศเวียดนามก็ไม่ต่างจากอินโดนีเซีย ที่วางแผนว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าในปีหน้า โดยปัจจุบันมีโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ถึง 56 แห่ง คาดว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะใช้ถ่านหินทั้งสิ้น 40 ล้านตัน นักรณรงค์ในเวียดนามคัดง้างกับโครงการดังกล่าวโดยใช้ข้อมูลระดับมลภาวะในประเทศ ซึ่งปัจจุบันเลวร้ายเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย

ส่วนฟิลิปปินส์ ซึ่งมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 52 แห่งที่อยู่ในกระบวนการก่อสร้าง นักรณรงค์ต่างทำงานอย่างแข็งขันภายใต้การนำของ Regina Lopez อดีตเลขาธิการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Department of Environment and Natural Resources) ที่ยกเลิกหรือสั่งให้เหมืองหลายแห่งหยุดดำเนินการในช่วงเวลา 10 เดือนที่เธอดำรงตำแหน่ง การต่อต้านโดยภาคประชาสังคมก็เข้มข้น โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่โครงการอาจไม่สามารถดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น

แนวโน้มการต่อต้านของภาคประชาชนและเครือข่ายรากหญ้าต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น พบเห็นได้แทบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แรงกดดันจากภาคประชาสังคมสามารถเปลี่ยนได้แม้กระทั่งรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหามลภาวะ ทำให้ต้องดำเนินการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนหมดอายุการใช้งาน แม้แต่สหภาพยุโรปเอง แรงกดดันจากภาคประชาสังคมก็ทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องหยุดปล่อยสินเชื่อถ่านหินในต่างประเทศ

นอกจากนี้นโยบายที่สนับสนุนพลังงานสะอาดรวมทั้งการมุ่งหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีความสำคัญแต่ความท้าทายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือพลังงานหมุนเวียนยังถือว่ามีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่างจีนหรืออินเดียที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้โดยใช้ต้นทุนพอจะเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในอินโดนีเซีย พลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนประมาณสองเท่าเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย และสามเท่าเมื่อเทียบกับอินเดีย Lauri Myllyvirta กล่าวมันไม่ใช่ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นเพราะตลาดยังไม่เติบโตเพียงพอที่จะทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง

อย่างไรก็ดี Lauri เชื่อว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในจีนและอินเดียมันสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วซึ่งความเป็นจริงแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่เหลือเฟือทั่วทั้งภูมิภาค เหลือเพียงเงื่อนไขเดียวคือเวลาที่ถ่านหินจะกลายเป็นพลังงานราคาแพงในภูมิภาคแห่งนี้

การดึงดันก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไปของประเทศเหล่านี้เป็นการมองระยะสั้น Ted Nace ผู้ร่วมก่อตั้ง Coal Swarm แสดงความคิดเห็นอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ควรมองตัวอย่างเช่นอินเดีย ที่พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกที่สุด แต่เราก็ยังหวังว่าจะได้เห็นอัตราการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายทศวรรษนี้

มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสที่ภาคประชาสังคมสนใจ และกดดันให้เหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจต้องหยุดชะงัก เพื่ออนาคตที่สะอาดกว่าของภูมิภาคเอเชีย


 

ถอดความและเรียบเรียงจาก The Coal Battle Shifts to Southeast Asia โดย Nithin Coca
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์