เหตุผลที่ว่าไว้ ก่อนขีดเส้นตาย 13 ก.พ. ต้องหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เหตุผลที่ว่าไว้ ก่อนขีดเส้นตาย 13 ก.พ. ต้องหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ท่ามกลางเสียงคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทางภาคใต้ ที่ไม่เพียงแต่เฉพาะคนในพื้นที่แต่ยังรวมถึงกระแสสังคมที่กดดันรัฐฐาล ในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า กระทรวงพลังงานได้ตัดสินใจชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ โดยใช้เวลา 3 ปีศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจกับประชาชน

ฟังดูเรื่องนี้เหมือนจะเป็นข่าวดี แต่ทำไมภาคประชาชนในนามเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงยังคงปักหลักอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป

ไม่ใช่การได้คืบจะเอาศอก แต่นี่คือการยืนหยัดบนหลักการว่า “รัฐต้องยืนบนความถูกต้องและเป็นธรรม หากรัฐยืนบนผลประโยชน์เฉพาะพรรคพวกและรังแกประชาชน ก็ต้องสู้จนกว่าความถูกต้องเป็นธรรมจะกลับคืนมา”

เพราะเราชินชากับคำว่า เลื่อน-ชะลอ เพราะเป้าหมายเราเพื่อการยุติ ไม่ใช่ ชะลอ-เลื่อน เพราะการประกาศเลื่อนครั้งนี้ ก็แค่นิทานหลอกเด็ก เพราะรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนไม่ใช่นายทุน เพราะประชาชนมีสิทธิพูด แสดงออก และคัดค้านโครงการของรัฐเมื่อมองว่ามันไม่ใช่การพัฒนาที่ท้องถิ่นต้องการ

นั่นเป็นข้อความบนหน้าเฟสบุ๊ค หยุดถ่านหินอันดามัน ที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

PHOTO www.facebook.com/stopcoalkrabi

 

ย้ำอีกครั้งหนึ่ง “เพราะเราเป้าหมายเราเพื่อการยุติ ไม่ใช่ ชะลอ-เลื่อน”

ในเหตุผลนั้น เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน บอกว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศว่า ให้เลื่อนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาไป 3 ปี แต่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้ากระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต่อไปจนครบกระบวนการ รายงานฉบับนี้เป็นรายงานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การประกาศดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เท่ากับมัดมือประชาชนอย่าได้เคลื่อนไหว แต่ปล่อยมือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้าต่อไป คำประกาศดังกล่าวเป็นคำประกาศที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ และเป็นคำประกาศที่เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งครั้งสำคัญ (แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ 3/2561 – 4 ก.พ. 2561)

เพราะกระบี่นั้นมีคุณค่าทางด้านระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกลับมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าไว้ ณ พื้นที่ชุ่มน้ำนั้น ทั้งยังจะมีการขนถ่านหินมาจากประเทศอินโดนีเซียผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งจังหวัดกระบี่และจังหวัดตรัง ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งการเป็นคลังอาหารและแหล่งท่องเที่ยวของคนไทย

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จึงอธิบายต่อไปอีกว่า หากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นจริงจะก่อให้เกิดมลพิษทั่วทั้งอันดามัน ด้วยกระแสน้ำและกระแสลมที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน มูลค่าที่เกิดจากการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันจะเสียหายร่วมกันทั้งหมด

เครือข่ายฯ ยังทำงานเชิงสถิติ อธิบายต่อไปว่า ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยวจาก 10 ประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 1,000 คน พบว่า นักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 90 จะไม่กลับมาเที่ยวที่กระบี่อีกหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เรื่องนี้จึงอยากเรียนไปถึงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาให้ช่วยแสดงจุดยืนปกป้องแหล่งท่องเที่ยวของประเทศเสียหน่อย (แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแสดงจุดยืนปกป้องแหล่งท่องเที่ยวจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน – 8 ก.พ. 2561)

PHOTO www.facebook.com/stopcoalkrabi

ที่ว่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายๆ เรื่องที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินพูดต่อรัฐบาลมาตลอดว่าทำไมถึงต้องยกเลิก – ยุติ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ไม่ใช่เลื่อนออกไปอย่างที่ รมว.พลังงานประกาศไว้

ไม่นับรวมเรื่องคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตท้องถิ่น ไปจนถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในระดับโลกที่ว่าประกาศเตือนกันไปตั้งไม่รู้กี่หนต่อกี่หน

ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่กำลังจะมาถึง เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ประกาศว่า จะยกระดับการชุมนุมที่หน้าทำเนียบ หากรัฐบาลไม่ประกาศยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การตัดสินใจนั่งลงตรงนี้เพื่อยืนยันว่าเราจะปกป้องสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนถึงที่สุด เรานั่งตรงนี้เพื่อจะบอกกับโลกว่าคนไทยทำตามที่สหประชาชาติเรียกร้องว่าด้วยการลดโลกร้อน เพื่อจะบอกกับคนใต้ทั้งภาคว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาปกป้องภาคใต้ ภาระกิจปกป้องสองฝั่งทะเล เป็นภาระกิจร่วมของคนใต้ทุกคน การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดเราจะให้เวลารัฐบาลอีก 4 วันหวังว่าวันที่ 13 ก.พ.วันประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาลจะตัดสินเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

 

แถลงการณ์ร่วม กระบี่-เทพา รักษาสองฝั่งทะเล หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน (9 กุมภาพันธ์ 2561)

PHOTO www.facebook.com/stopcoalkrabi

การย้ายขนานใหญ่จากแผ่นดินเกิดจะมีขึ้นที่แผ่นดินเทพา การผลัดพรากจากแผ่นดินเกิดเป็นความเจ็บปวดที่ไม่อาจบรรยาย ทั้งโรงเรียนปอเนาะ มัสยิด วัด กุโบร์ และบ้านเรือนกว่า 200 หลัง การพรากสิ่งเหล่านี้ออกจากแผ่นดินเกิดเพียงเพื่อกำไรของพ่อค้าถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลยังยินยอมทำร้ายคนประเทศตัวเอง รัฐบาลกำลังหลับตาข้างหนึ่งเพื่อมองไม่เห็นว่าไฟล้นเกินจนไม่จำเป็นต้องผลิตเพิ่ม รัฐกำลังหลับต้าข้างหนึ่งมองไม่เห็นว่า ไฟฟ้าสามารถผลิตได้จากพลังงานอย่างอื่นโดยไม่ทำร้ายใคร รัฐยินดีหลับตาเพียงเพื่อกำไรของพ่อค้า บนการทำร้ายประชาชาชนในชาติ

ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอีกนับหมื่นคนจะได้รับผลกระทบขั้นสูงสุดจากกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฆาตรกรเงียบที่ทำลายผู้คนมาแล้วทั่วโลกและไม่มีเทคโนโลยีใดจัดการมลพิษได้ จนประเทศในยุโรปและอเมริการัฐบาลต้องประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยแล้วประชาชนต้องมาตรากตรำเรียกร้องเพื่อให้รัฐยุติโรงไฟฟ้า จะเห็นได้ว่ารัฐไทยนอกจากไม่ก้าหน้าแล้ว ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพ่อค้าถ่านหิน จึงเกิดความขี้ขลาดในการตัดสินใจ

แม้แผ่นดินที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามระดับโลก เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ รัฐบาลยังปล่อยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ จนฝรั่งทั้งโลก ตกใจว่า คนไทยคิดอะไร จึงเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาไว้ในจังหวัดกระบี่ แผ่นดินและทะเลอันงดงามที่คนทั้งโลกต้องมาเยือน เพราะเพื่อผลประโยชน์ของพ่อค้าถ่านหิน รัฐบาลนี้ยินดีเมินเฉยต่อชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนประโยชน์ของคนในชาติปล่อยให้พังทลายยังไม่เป็นไร เฉพาะการท่องเที่ยวในอันดามันปีละ๕แสนล้านรัฐบาลนี้ยังเมินเฉยได้เพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของพ่อค้าถ่านหินเอาไว้

นี่คือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จุดยืนนี้มั่นคงตลอดมาจนถึงบัดนี้และประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนกันเอง วันนี้ประชาชนต้องมารวมตัวกัน เพราะรัฐนั้นเห็นแก่ประโยชน์ของพ่อค้าพลังงานงาน กระบี่และเทพาจึงขอประกาศว่า เราจะต่อสู้จนกว่ารัฐบาลจะยอมยุติโรงไฟฟ้าทั้งสองโรงและรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพการผลิตจำนวนมากในขณะนี้ เพื่อการรักษาแผ่นดินแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะยืนหยัดถึงที่สุด ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

การตัดสินใจนั่งลงตรงนี้เพื่อยืนยันว่าเราจะปกป้องสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนถึงที่สุด เรานั่งตรงนี้เพื่อจะบอกกับโลกว่าคนไทยทำตามที่สหประชาชาติเรียกร้องว่าด้วยการลดโลกร้อน เพื่อจะบอกกับคนใต้ทั้งภาคว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาปกป้องภาคใต้ ภาระกิจปกป้องสองฝั่งทะเล เป็นภาระกิจร่วมของคนใต้ทุกคน การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดเราจะให้เวลารัฐบาลอีก 4 วันหวังว่าวันที่ 13 ก.พ.วันประชุมคณะรัฐมนตรีรัฐบาลจะตัดสินเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


เรียบเรียง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร