สรุปเหตุการณ์จับซีอีโออิตาเลียนไทยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ

สรุปเหตุการณ์จับซีอีโออิตาเลียนไทยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ

เหตุการณ์จับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกอีก 3 คน ล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (6 กุมภาพันธ์) นับเป็นอีกครั้งที่ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นจำนวนมาก โดยมีเฟสบุ๊คแฟนเพจคนอนุรักษ์เป็นผู้เปิดประเด็นขึ้นเป็นที่แรก มียอดแชร์โพสต์ดังกล่าวกว่าสองหมื่นครั้ง

ในรายงานเบื้องต้นนั้นระบุว่า นายเปรมชัยและพวกได้เข้าไปตั้งแคมป์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ในเส้นทางหน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง – หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช ต่อมาพบว่าคณะของนายเปรมชัยไม่ได้เดินทางไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราชและมาพบอยู่บริเวณห้วยปะซิ (อยู่ระหว่างทางไปหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช) ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พร้อมของกลางเป็นซากสัตว์ป่าและอาวุธปืน จึงได้ควบคุมมาที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เวลา 02.40 น. เพื่อนำส่งดำเนินคดีที่ สภ.ทองผาภูมิในวันที่ 6 กุมภาพันธ์

ซากสัตว์ป่าที่พบมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ซากเก้ง (สัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) ซากไก่ฟ้าหลังเทา (สัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) และ ซากเสือดำ ที่ถูกชำแหละถลกหนัง (มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และอยู่ในได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN Red List of Endangered Species ที่กำหนดสถานภาพของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า)

ในส่วนของอาวุธนั้นมีการตรวจพบ อาวุธปืนยาวขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนไรเฟิลติดลำกล้องจำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซองแฝด จำนวน 1 กระบอก และกระสุนอีกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ข่าวเริ่มแพร่ออกไป ก็มีกระแสข่าวถึงการอ้างผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมอุทยานฯ เพื่อขอเข้าไปเที่ยวป่า เพราะเป็นคนฝากของนายทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าตรวจสอบรายละเอียดการเข้าป่าของนายเปรมชัยในครั้งนี้ ซึ่งในช่วงบ่ายของวัน (14.00 น.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้จัดแถลงข่าวเรื่องการล่าสัตว์ที่เกิดขึ้น มีนางสาวกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งถูกพาดพิงว่ารู้จักเป็นการส่วนตัวกับนายเปรมชัย เป็นผู้ออกมาแถลง

นางสาวกาญจนา กล่าวในการแถลงว่า นายเปรมชัยไม่ใช่แขกส่วนตัว และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ยอมรับว่ามีคนของนายเปรมชัยโทรมาประสานขอเข้าพื้นที่เพื่อเข้าศึกษาธรรมชาติ แต่ตนได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ซึ่งมีอำนาจในการอนุญาต

ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนได้ให้ความสนใจประเด็นเรื่องการตรวจสอบอาวุธปืนที่นำเข้าไปในพื้นที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบเรื่องอาวุธก่อนเข้าพื้นที่ตามปกติ โดยไม่พบอาวุธปืนในเบื้องต้น และเจ้าหน้าที่ไม่รู้จักว่าบุคคลที่เข้าไปเป็นใคร มีตำแหน่งอะไร ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรืออำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า นักธุรกิจระดับสูงอย่างนายเปรมชัยมักจะรอดพ้นจากคดีสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตอบคำถามประเด็นนี้ต่อสื่อมวลชนว่า ไม่ได้กังวล เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่เราทำดีที่สุด จึงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และต้องให้ขวัญ กำลังใจเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าใครถ้าผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ต้องอยู่ที่พยานหลักฐานว่าเป็นอย่างไร

แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ แต่กว่าจะได้ส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดีก็ล่วงเลยมาอีก 2 วัน โดยนายวิเชียร ชินวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลว่า การจับกุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นั้นกว่าจะถอนกำลังออกจากพื้นที่เกือบตี 1 ขอวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และต้องใช้เวลาจากจุดเกิดเหตุกลับมาสำนักงานเขตอีกกว่าชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงกลางดึกที่ระบบโซลาเซลล์มีไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ยิ่งล่าช้า และในช่วงเช้ายังต้องส่งคนไปพิสูจน์ซ้ำที่จับกุมเพื่อเก็บของมาเป็นวัตถุพยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงใช้เวลานานไปอีกนิด และนายเปรมชัยอยากให้มีทนายความ รอทนายถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ แล้วนำตัวส่งนายเปรมชัย ที่สภ.ทองผาภูมิ

ต่อมา เมื่อเวลา 16.00 น. นายวิเชียร ชินวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนพร้อมนำหลักฐานบันทึกการจับกุมผู้ต้องหา พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา 9 ข้อกล่าวหากับนายเปรมชัย และพวกรวม 4 คน ประกอบด้วย นายเปรมชัย กรรณสูต นายยงค์ โดดเครือ นางนที เรียมแสน และนายธานี ทุมมาศ

โดยมีรายละเอียดข้อกล่าวหา ดังนี้

1. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4. นำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

5. ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

6. เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต

7. ซ่อนเร้นอำพราง รับไว้ซึ่งซากสัตว์ ซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมาย

8. พ.ร.บ.อาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน

9. ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

หลังจากที่พนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ คุมตัว นายเปรมชัย และพวกไปยื่นคำร้องขอฝากขัง ที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ โดยผู้ต้องหาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยที่ไม่ได้ไปในจุดที่อนุญาตให้เข้าพักนั้นเหตุเพราะหลงทาง และไม่ได้เป็นคนยิงปืนล่าสัตว์ พร้อมให้ทนายความยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดเพื่อขอประกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวนายเปรมชัยพร้อมกับพวก วงเงินประกันตัวคนละ 150,000 บาท

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงเฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและจะติดตามอย่างถึงที่สุด และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอชื่นชมและเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกในความกล้าหาญสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้

และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าได้เกรงกลัวต่ออิทธิพลและสถานะทางธุรกิจอันใหญ่โตของผู้ต้องหา ขอให้สืบสวนและดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดเพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

 


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร