ทับบาทาฮา แนวปะการังแห่งฟิลิปปินส์ที่ยังมีชีวิต

ทับบาทาฮา แนวปะการังแห่งฟิลิปปินส์ที่ยังมีชีวิต

เมื่อ พ.ศ. 2524 แองเจลิค ซองโค (Angelique Songco) ลูกจ้างบริษัทเรือนำเที่ยวดำน้ำในขณะนั้น ได้แหวกว่ายท่ามกลางวงล้อมของแนวปะการังงดงามที่สุดของฟิลิปปินส์ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี เงาของเหล่านักท่องเที่ยวก็คืบคลานเหนือน่านน้ำของทะเลซูลู (the Sulu Sea)

ชาวประมงจากพื้นที่ห่างไกลอย่างเมืองคิวซอน (Quezon) ระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตร ต่างมุ่งหน้ามาหาปลาที่แนวปะการังทับบาทาฮา (Tubbataha Reef) แนวปะการังที่นับว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผลลัพธ์ที่ได้คือหายนะ ระเบิดไดนาไมท์ทำลายล้างทั้งปลาและแหล่งที่อยู่อาศัย ไซยาไนด์ทำให้ปลาจมลงสู่แนวปะการัง ตามเกาะเล็กเกาะน้อย ชาวประมงเหล่านั้นก็เก็บเกี่ยวไข่นกทะเลเป็นอาหาร

“แม้ฉันจะไม่รู้ถึงคุณค่าทางนิเวศของระบบนิเวศในทะเล แต่ฉันก็รู้ได้ว่าความงามตรงหน้าจะต้องได้รับการปกป้อง” แองเจลิค ซองโค ให้สัมภาษณ์กับ WWF เมื่อ พ.ศ. 2558

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2548 คุณซองโคได้สมัครเข้าเป็นผู้จัดการอุทยานทับบาทาฮา ซึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 นับตั้งแต่นั้นมา เธอก็ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อปกป้องแนวปะการังแห่งนี้ และความพยายามของเธอก็ได้รับการตอบแทน เพราะถึงแม้ว่าแนวปะการังทั่วโลกจะตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง แต่แนวปะการังทับบาทาฮาก็ยังคงรักษาความสวยงามเอาไว้ได้

“สิ่งแรกที่คุณรับรู้คือคุณกำลังอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ของมหาสมุทร คุณจะได้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตใต้นามตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ความต้องการของคุณ” เดวิด โดวบิเล็ท (David Doubilet) ช่างภาพนิตยสาร National Geographic ให้สัมภาษณ์หลังจากได้ไปดำน้ำที่แนวปะการังดังกล่าว

ที่ใต้ทะเลแห่งนี้ มีแนวปะการังลึกเกือบ 100 เมตร ปกคลุมด้วยความโกลาหลของธรรมชาติ ฝูงปลากะมงว่ายวิบวับอยู่ฝูงใหญ่ ลึกลงไปเป็นกระเบนลายหินอ่อน ที่นี่ แม้แต่ฉลามเสือนักล่าที่มักอาศัยเพียงลำพังยังอยู่ร่วมกันเป็นฝูง แนวปะการังทับบาทาฮาเป็นบ้านของปลากว่า 600 ชนิดพันธุ์ ปะการัง 360 ชนิดพันธุ์ ซึ่งนับเป็นราวครึ่งหนึ่งของชนิดพันธุ์ที่เรารู้จัก เกาะเล็กๆ ข้างเคียงยังเป็นที่ผสมพันธุ์แหล่งสุดท้ายของนกทะเลของฟิลิปปินส์ และเป็นที่หลบพักของนกกว่า 100 ชนิดพันธุ์

“สิ่งที่เราพบเห็นหมายความว่าแนวปะการังทับบาทาฮาแทบจะอยู่ในสภาวะที่เรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์” จอห์น แม็กมานัส (John McManus) นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยแห่งไมอามี (University of Miami) แสดงความคิดเห็น “เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อมากว่าสถานที่แบบนี้มีอยู่จริง”

ทางสายกลางระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ที่ทับบาทาฮามีความโดดเด่นท่ามกลางสามเหลี่ยมปะการัง ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมุมหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินขนาดและเรือขนส่งระหว่างประเทศขนาดใหญ่แล่นผ่านจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ฝูงปลาเหนือแนวปะการังทับบาทาฮา / PHOTO DAVID DOUBILET, NATIONAL GEOGRAPHIC.

 

แนวปะการังทับบาทาฮารอดจากชะตากรรมเช่นนั้นได้อย่างไร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทับบาทาฮาตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวใจกลางทะเลซูลู ด้วยระยะทางเกือบ 150 กิโลเมตรจากเกาะที่มีผู้อยู่อาศัย และเกาะเล็กๆ สองแห่งที่อยู่ใกล้ๆ ก็ไม่มีแหล่งน้ำจืด อย่างไรก็ดี ย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน เหล่าชาวประมงซึ่งใช้เรือยนต์ที่เรียกว่า แบงคาส (bangkas) ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งปะการังแห่งนี้ได้ เมื่อชาวประมงเริ่มเข้าถึงทับบาทาฮา นักอนุรักษ์ก็เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับปัญหาดังกล่าว

เมื่อ พ.ศ. 2531 ประธานาธิบดีโคราซอน อควิโน (Corazon Aquino) ได้ประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลทับบาทาฮา ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งแรกของฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นเพียง 5 ปี องค์การยูเนสโกก็ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นมรดกโลก

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการประกาศจะเกิดขึ้นใจกลางมะนิลาหรือกรุงปารีส ก็แทบไม่ส่งผลอะไรกับพื้นที่ใจกลางทะเลซูลู พื้นที่ที่แองเจลิค ซองโค ทำงานอย่างมุ่งมั่นเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 16 ปี ที่เธอค่อยๆ สร้างแรงสนับสนุนในการอนุรักษ์แนวปะการัง ผ่านการสื่อสารกับสาธารณะ นอกจากนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประกาศไม่ให้จับปลาในเขตแนวปะการังทับบาทาฮา และมีความร่วมมือกับองค์การยูเนสโกในการให้เรือเดินสมุทรหลีกเลี่ยงในการเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น แนวปะการังทับบาทาฮายังได้รับการปกป้องอย่างแข็งขันโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งบางรายเคยเป็นทหารมาก่อน โดยจะสลับสับเปลี่ยนมาอยู่ที่ทับบาทาฮาเป็นเวลา 2 เดือนโดยลำพัง มีเพื่อนเพียงหาดทรายและท้องทะเล

 

ความพยายามเหล่านี้เป็นพลังในการปกป้องประโยชน์มหาศาลซึ่งเราได้จากทับบาทาฮา แนวปะการังแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ดำน้ำอันดับต้นๆ ของโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าไม่รู้กี่เท่าเมื่อเทียบกับการมาทำประมงในแนวปะการัง รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของเงินทุนสำหรับดูแลอุทยาน และยังมีข้อตกลงแบ่งปันกำไรเพื่อช่วยสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่น

 

ทับบาทาฮายังช่วยเพิ่มผลิตภาพของการประมงตามแนวปะการังในฟิลิปปินส์ ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 29 ของปริมาณปลาที่จับได้ทั้งประเทศ นักชีววิทยาอย่างแองเจล อัลคาลา (Angel Alcala) อธิบายว่า กระแสน้ำในมหาสมุทรจะพาตัวอ่อนของสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลจากทับบาทาฮาไปเติมให้กับท้องทะเลซูลู ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าการจัดการอุทยานแห่งนี้จะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ทับบาทาฮาก็เผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ เจ้าหน้าที่อุทยานเริ่มสังเกตว่านกทะเลใช้เศษพลาสติกมาทำรัง และการทำประมงอย่างผิดกฎหมายก็ยังพบเห็นได้สม่ำเสมอ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ทับบาทาฮาอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากการที่เรือของกองทัพสหรัฐมาเกยตื้นที่แนวปะการัง สร้างความเสียหายเป็นพื้นที่เกือบ 2,000 ตารางเมตร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังคงไม่มีท่าทีว่าจะชะลอตัวลง ทำให้ท้องทะเลแห่งนี้อุ่นและมีความเป็นกรดมากขึ้น แม้ว่าชุมชนจะพยายามรักษาไว้เพียงใดก็ตาม สภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลให้ปะการังเกิดภาวะฟอกขาวอย่างรุนแรง หรืออาจถึงขั้นตายลง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดการฟอกขาวของปะการังทั่วโลกครั้งประวัติศาสตร์ ทับบาทาฮาก็เผชิญกับการฟอกขาวเช่นเดียวกัน

ภัยคุกคามด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการังทับบาทาฮามีแนวโน้มว่าจะย่ำแย่ลง รายงานล่าสุดของยูเนสโกคาดว่าภายในอีก 20 ปีข้างหน้า แนวปะการังจะต้องเผชิญแรงตึงเครียดจากความร้อนอย่างน้อย 2 ครั้งแต่ทศวรรษ หากเรายังไม่ลดระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ภาวะดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อทับบาทาฮาต่อเนื่องทุกปี ซึ่งอาจหมายถึงวาระสุดท้ายของแนวปะการังแห่งนี้

ปัจจุบัน ทับบาทาฮายังคงแข็งแรง ผู้ที่คอยปกป้องรักษายังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขัน และให้คำมั่นว่าจะทำงานต่อไปจนถึงวาระสุดท้าย

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก How the Philippines’ Coral Heart Keeps Beating โดย Michael Greshko
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์