ชวนรู้จัก! สมาชิกสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย 21 ชนิด 

ชวนรู้จัก! สมาชิกสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย 21 ชนิด 

ในสัปดาห์นี้ แอดมินชวนมาทำความรู้จักกับบรรดาสัตว์ป่าสงวนประเทศไทยทั้ง 21 ชนิด โดยแบ่งเป็น 3 สัปดาห์ ๆ ละ 7 ชนิด ซึ่งสัตว์ป่าสงวนไทย ถือว่าเป็นสัตว์ป่าที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ การได้รู้จักและเข้าใจถึงความสำคัญของสัตว์ป่าเหล่านี้ จะช่วยสร้างความตระหนักและเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น

ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้ให้ความหมาย ‘สัตว์ป่าสงวน‘ ไว้ว่า หมายถึง  สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด 

เดิมประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนที่ประกาศตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไว้ 15 ชนิด และวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ได้เพิ่มสัตว์น้ำอีก 4 ชนิด ให้เป็นสัตว์ป่าสงวนและตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ขึ้นมาใหม่ รวมเป็น 19 ชนิด

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน เพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพิ่มอีก 2 ชนิด ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนทั้งสิ้น 21 ชนิด ดังนี้

สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

1. กระซู่ (Sumatran Rhinoceros)
2. กวางผา (Burmese Goral)
3. กูปรี/ โคไพร (Kouprey)
4. เก้งหม้อ (Fea’s Muntjac)
5. ควายป่า (Wild Water Buffalo)
6. พะยูน (Dugong)
7. แมวลายหินอ่อน (Marbled Cat)
8. แรด (Javan Rhinoceros)
9. ละองหรือละมั่ง (Eld’s Deer)
10. เลียงผา (Sumatran Serow)
11. วาฬบรูด้า (Bryde’s Whale)
12. วาฬโอมูระ (Omura’s Whale)
13. วาฬสีน้ำเงิน (Blue Whale)
14. สมเสร็จ (Malayan Tapir)
15. สมัน (Schomburgk’s Deer)

สัตว์ป่าจำพวกนก 

16. นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Sarus Crane)
17. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (White-Eyed River Martin)
18. นกชนหิน (Helmeted Hornbill) 
19. นกแต้วแร้วท้องดำ (Gurney’s Pitta)

สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน

20. เต่ามะเฟือง (Leatherback Sea Turtle)

สัตว์ป่าจำพวกปลา

21. ปลาฉลามวาฬ (Whale Shark)

เมื่อบทบาทเปลี่ยนไป ความเข้มข้นของการอนุรักษ์จึงเพิ่มมากขึ้น ข้อดีของการเป็นสัตว์ป่าสงวน คือบทลงโทษที่เพิ่มขึ้นและหนักขึ้นกว่าการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แม้สัตว์ป่าสงวนนั้นจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ แต่กฎหมายยังรวมถึงการห้ามผู้ใดครอบครองซากสัตว์ป่าสงวนด้วยเช่นกัน

กระซู่
กระซู่

เมื่อ Di แปลว่า ‘สอง’ cero แปลว่า ‘เขา’ rhinus แปลว่า ‘จมูก’ กระซู่จึงมีอีกชื่อว่า ‘แรด 2 นอ’

ชื่อไทย : กระซู่ / แรดสุมาตรา
ชื่อสามัญ : Sumatran Rhinoceros
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicerorhinus sumatrensis

‘กระซู่’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในกลุ่มสัตว์กีบคี่ อยู่ในวงศ์แรด ซึ่งมีทั้งหมด 4 สกุล 5 ชนิด แบ่งตามถิ่นอาศัย โดยกลุ่มแรดที่เป็นสัตว์พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ได้แก่ แรดดำ (Diceros bicornis) และแรดขาว (Ceratotherium simum) อีกสามชนิดที่เหลือเป็นสัตว์พื้นเมืองของเอเชียใต้ ได้แก่ แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) แรด (Rhinoceros sondaicus) และกระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis)

กระซู่นอกจากจะมีชื่อเล่นว่าแรดสองนอแล้ว ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Hairy Rhino’ เนื่องจากกระซู่เป็นสัตว์ในวงศ์แรดชนิดเดียวที่มีขนปกคลุมทั่วร่างกาย

ลักษณะทั่วไป
กระซู่มีลักษณะหนังสีน้ำตาลแดง ขนสั้นสีเทาดำถึงน้ำตาลแดง มีรอยย่นพับอยู่ 3 แห่ง คือ บริเวณโคนขาหน้าด้านหนึ่งพาดผ่านไปยังโคนขาหน้าอีกด้านหนึ่ง บริเวณรอบเอว และบริเวณโคนขาหลังด้านหนึ่งผ่านสะโพกไปยังโคนขาหลังอีกด้านหนึ่ง กระซู่สามารถหนักได้ตั้งแต่ 400 ถึง 1,000 กิโลกรัม 

พฤติกรรม
กระซู่มักหากินตัวเดียวตามลำพัง (ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์) ตัวเมียมีอาณาเขตอย่างชัดเจน แตกต่างจากตัวผู้ที่มีอาณาเขตไม่แน่นอน กระซู่อาศัยอยู่ได้ทั้งในป่าดงดิบหรือที่ราบที่มีแหล่งน้ำ ลำธาร แม้แต่ไหล่เขาที่สูงชัน รวมถึงในพื้นที่ที่มีร่มไม้ และปลัก

อาหาร
กระซู่เป็นสัตว์กินพืช อาหารหลัก คือ ใบไม้ ต้นหญ้า พืชผัก ต้นอ่อนของพืช หรือต้นไม้ขนาดเล็ก รวมทั้งพืชที่ขึ้นริมน้ำ และผลไม้ชนิดต่าง ๆ

การสืบพันธุ์
ตัวเมียสามารถสืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป ส่วนตัวผู้สืบพันธุ์ได้เมื่ออายุ 7 ปี ตัวเมียตั้งท้องนาน 14 ถึง 17 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว หลังจากคลอดลูกแล้วจะทิ้งช่วงประมาณ 4 ปี จึงสามารถตั้งท้องได้อีกครั้ง

ปัจจัยคุกคาม
สูญเสียถิ่นอาศัย จากการบุกรุกตัดไม้ในพื้นที่ที่มีกระซู่อาศัยอยู่ ทำให้กระซู่สูญเสียถิ่นอาศัยและพื้นที่หากิน ส่งผลให้จำนวนของกระซู่ในประเทศไทยลดลง จนสูญพันธุ์ไปในที่สุด

การล่าเพื่อเอานอ จากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่านอแรดสามารถนำไปสกัดเป็นยาหรือทำเป็นเครื่องรางของขลังได้ ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว

พฤติกรรมที่เชื่องช้า เนื่องจากกระซู่มักนอนแช่ปลักที่เดิมเป็นประจำและเคลื่อนที่ได้ช้า จึงทำให้เป็นที่สนใจของเหล่านักล่า

สถานภาพ
ปัจจุบันพบจำนวนประชากรกระซู่ทั่วโลกไม่ถึง 80 ตัว ซึ่งกระจายอยู่บนเกาะสุมาตราเท่านั้น ส่งผลให้สถานภาพของ IUCN Red List อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) และสถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) นั้น นับว่ากระซู่ได้สูญพันธุ์ (Extinct) ไปเรียบร้อยแล้ว

กวางผา

‘กวางผา ม้าเทวดาแห่งขุนเขา’

ชื่อไทย : กวางผา
ชื่อสามัญ : Burmese Goral
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Naemorhedus evansi

ลักษณะทั่วไป
‘กวางผา’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม กลุ่มแพะภูเขา รูปร่างคล้ายเลียงผาแต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอมเทาและแถบสีน้ำตาลเข้มพาดกลางหลัง คอมีแต้มสีขาว และขนที่ปลายขาทั้งสี่สีขาว กวางผามีน้ำหนักประมาณ 22 ถึง 32 กิโลกรัม มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ในตัวผู้เขาจะมีลักษณะของฐานที่กว้างกว่า แหลมไปทางปลายและลู่ออกจากกัน ส่วนตัวเมียเขาจะมีลักษณะเรียวยาวโค้งลง ตรง และขนานกันทั้งสองข้าง

พฤติกรรม
กวางผามักหากินตัวเดียวตามลำพัง หรือบางช่วงจะอาศัยอยู่กันเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ (2 ถึง 6 ตัว) หากินในช่วงเช้าและเย็น กวางผาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงและความลาดชันมาก หน้าผาเปิดโล่ง ลานหินผา ไร่ร้าง หย่อมป่าตามร่องเขา และสามารถพบได้ที่ระดับความสูง 1,000 ถึง 4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล 

อาหาร
กวางผาเป็นสัตว์กินพืช ได้แก่ ยอดไม้ และหญ้าเป็นหลัก รองลงมาเป็นไม้ล้มลุก ผลไม้ และใบไม้พุ่มเตี้ย ๆ 

การสืบพันธุ์
กวางผาเข้าสู่วันเจริญพันธุ์ตอนอายุ 2 ถึง 3 ปี ผสมพันธุ์ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ระยะเวลาในการตั้งท้องอยู่ที่ประมาณ 6 ถึง 7 เดือน

ปัจจัยคุกคาม
สูญเสียถิ่นอาศัย จากการบุกรุกและตัดไม้ทำลายป่า นำมาซึ่งการสูญเสียถิ่นอาศัย และพื้นที่หากิน

การเลี้ยงปศุสัตว์ใกล้แนวเขตป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะวัวควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับกวางผา สามารถแพร่กระจายเชื้อโรค และเกิดโรคระบาดในกวางผาได้ 

การล่ากวางผา เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าหายาก และเป็นที่หมายปองของกลุ่มค้าสัตว์ป่า

ภาวะเลือดชิด (inbreeding) จากถิ่นอาศัยที่มีจำกัดและมีลักษณะคล้ายเกาะ ทำให้กวางผาไม่สามารถแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับพื้นที่อื่นได้

สถานภาพ
ปัจจุบันพบจำนวนประชากรกวางผาในไทยประมาณ 200 กว่าตัว กระจายตัวอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 11 แห่ง ของ 3 กลุ่มป่าสำคัญ คือ กลุ่มป่าปาย-สาละวิน กลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย และกลุ่มป่าศรีลานนา-ขุนตาล และพบการกระจายตัวมากที่สุดใน ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว’ สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

กูปรี

อะไรเอ่ย? มีรูปร่างคล้ายวัว แต่กลับมีเหนียงคอเป็นแผ่นยานอยู่ใต้คอ?

ชื่อไทย : กูปรี / โคไพร
ชื่อสามัญ : Kouprey
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos sauveli

กูปรี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในกลุ่มสัตว์กีบคู่ ตัวเมียลำตัวเป็นสีเทา ส่วนตัวผู้จะมีสีดำ ตอนยังเด็ก กูปรีมีขนตามตัวสีน้ำตาลอ่อนคล้ายลูกวัวแดง มีหนอกหลังเป็นสันกล้ามเนื้อบาง ๆ ไม่โหนกหนาเหมือนกระทิง มีลักษณะเด่นที่เหนียงคอเป็นแผ่นหนังห้อยยานอยู่ใต้คอ กูปรีตัวผู้ที่มีอายุมากเหนียงคอจะห้อยยาวเกือบติดพื้น ทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อนได้  

ขนาดตัวของกูปรีโดยเฉลี่ยแล้ว ตัวผู้จะตัวใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าตัวเมียมาก น้ำหนักตัวประมาณ 700 ถึง 900 กิโลกรัม กูปรีมีความยาวหางได้ถึง 1.11 เมตร ถือว่าเคยเป็นวัวป่าที่มีหางยาวที่สุดในประเทศไทย 

พฤติกรรม
กูปรีมักจะใช้เขาขวิดต้นไม้ กิ่งไม้ ตามเส้นทางที่เดินผ่าน หรือขวิดคุ้นดิน เพื่อหาแหล่งน้ำหรือดินโป่งกินตามป่าโปร่ง

อาหาร
กูปรีเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องกินพืชเป็นอาหาร พืชอาหารหลัก คือหญ้าต่าง ๆ กูปรีสามารถหาอาหารร่วมกับสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นได้

การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 9 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว ช่วงใกล้คลอด กูปรีแม่ลูกอ่อนจะแยกตัวออกจากฝูงเพื่อคลอดลูกและเลี้ยงลูกตามลำพังประมาณ 1 เดือน ก่อนจะพาลูกกลับเข้าฝูงดังเดิม

ปัจจัยคุกคาม
สภาวะสงครามในอดีต เนื่องจากพื้นที่ที่กูปรีอาศัยอยู่เป็นรอยต่อของชายแดน 3 ประเทศ

การสูญเสียถิ่นอาศัย จากการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้กูปรีสูญเสียถิ่นอาศัยและพื้นที่หากิน

การค้าสัตว์ป่า กูปรีถูกล่าจากการนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปเป็นเครื่องประดับ ทำของขลัง และยารักษาโรค ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กูปรีลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และสูญพันธุ์ในที่สุด

สถานภาพ
แม้สถานะใน IUCN Red List อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) ซึ่งอาจมีการกระจายตัวอยู่ที่กัมพูชา และสปป.ลาวตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการค้นพบในประเทศเหล่านี้ แต่จากประชากรที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดนั้น คาดว่ากูปรีอาจสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว

เก้งหม้อ

จากขนที่หนาคลุมเขากิ่งหน้าไว้ คล้ายกระจุกเล็ก ๆ บนหัว เก้งหม้อจึงมี ชื่อเล่นอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘กวางเขาจุก’

ชื่อไทย : เก้งหม้อ เก้งดำ 
ชื่อสามัญ : Fea’s Muntjac
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntiacus feae

เก้งหม้อหรือเก้งดำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในกลุ่มของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ประเทศไทยมีเก้ง 2 ชนิด คือ เก้งหม้อและเก้งธรรมดา ลักษณะเด่นของเก้งหม้อ คือ ขนบริเวณลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มออกคล้ำ ส่วนท้องมีสีขาวจาง ๆ หางสั้นขนปกคลุม เก้งหม้อมีเขาเฉพาะตัวผู้ โดยลักษณะเขามี 2 กิ่ง กิ่งหน้าสั้นและกิ่งหลังยาว บริเวณเขากิ่งสั้นจะถูกขนหนาตรงโคนเขาคลุมไว้ ซึ่งดูเหมือนเป็นกระจุกเล็ก ๆ อยู่บนหัว

พฤติกรรม
เก้งหม้อมักอาศัยอยู่เดี่ยว ๆ ตามลำพังในป่าดงดิบบนที่ราบสูง หรือภูเขา มีขนาดพื้นที่หากินประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร และออกหากินในช่วงเวลากลางวัน

อาหาร
เก้งหม้อเป็นสัตว์กินพืช พืชอาหารหลัก ได้แก่ ยอดไม้ และหญ้า รวมถึงใบไม้อ่อน เปลือกไม้ หน่อไม้อ่อน ผลไม้ และหญ้าระบัด

การสืบพันธุ์
เก้งหม้อจะอยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตั้งท้องนานประมาณ 6 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกเก้งหม้อจะมีจุดสีขาวตามลำตัว เก้งหม้อมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12 ปี

ถิ่นอาศัย
เก้งหม้อมีการกระจายตัวในภาคตะวันตกและภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดตากจนถึงราชบุรี และสามารถพบเก้งหม้อในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 0 ถึง 1,500 เมตร ตามป่าดงดิบ ที่ราบสูงหรือภูเขา 

ปัจจัยคุกคาม
การล่า เพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหาร หนัง และเขาของเก้งหม้อ ถูกนำไปทำเครื่องประดับ

สูญเสียถิ่นอาศัย จากการสร้างเขื่อน การบุกรุกป่า เพื่อลักลอบตัดไม้ทำลายป่าหรือการถางป่า เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร ทำให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลง ส่งผลให้ถิ่นอาศัยและพื้นที่หากินของเก้งหม้อลดลงตามไปด้วย

สถานภาพ
ปัจจุบันเก้งหม้อในประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

ควายป่า

มหิงสา กับตำนานถิ่นอาศัยสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้ง

ชื่อไทย : ควายป่า / มหิงสา
ชื่อสามัญ : Wild Water Buffalo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bubalus arnee

ควายป่า หรือมหิงสา รูปร่างผิวเผินอาจดูคล้ายคลึงกับควายบ้าน แต่มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า รูปร่างกำยำล่ำสำ มีวงเขาตีโค้งกว้างกว่า และดุร้ายกว่าควายบ้านเป็นอย่างมาก ลำตัวมีสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้งสี่มีสีขาวแต้มคล้ายใส่ถุงเท้าทั้งสี่ข้าง ท่อนล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี

พฤติกรรม
ควายป่ามีนิสัยดุร้าย มีความปราดเปรียว ว่องไว มีการสังเกตและรู้ถึงอันตรายที่เข้าใกล้ได้รวดเร็ว ควายป่าตัวผู้และควายป่าตัวเมียที่ยังไม่โตเต็มวัย จะอาศัยรวมอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักจะอาศัยอยู่ตามลำพัง ตามป่าทุ่ง ป่าโปร่ง พื้นที่ที่มีหนองบึงและลำห้วยลำธาร

อาหาร
ควายป่าเป็นสัตว์กินพืช กินได้ทั้งหญ้า ยอดไม้ ใบไม้อ่อน หน่อไม้ รวมถึงต้นพงที่ขึ้นอยู่ตามริมลำห้วยขาแข้ง ก็เป็นเมนูโปรดของควายป่าเช่นกัน และยังมีการเสริมแร่ธาตุให้กับร่างกาย โดยการกินดินโปร่งที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ ในการเสริมสร้างภูมิต้านทาน และช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

การสืบพันธุ์
ควายป่าตัวผู้จะกลับเข้ามาอาศัยรวมฝูงกับควายป่าตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ ในช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ถ้าในฝูงมีตัวผู้ที่ขนาดใหญ่มากกว่า 1 ตัว จะมีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย ตัวเมียใช้ระยะเวลาในการตั้งท้องประมาณ 10 เดือน

ถิ่นอาศัย
ควายป่าเคยอาศัยอยู่ตามป่าทุ่งโปร่ง พบได้เกือบทุกภูมิภาคในประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบการกระจายตัวตลอดแนวลำห้วยขาแข้ง โดยอยู่ห่างจากลำห้วยประมาณ 50 ถึง 100 เมตร พบเห็นได้บ่อยบริเวณ ห้วยแม่ดีทางใต้ หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได ห้วยหินตั้งลงไปทางใต้จนถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร มีประชากรรวมไม่ถึง 70 ตัว ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง

ปัจจัยคุกคาม
สูญเสียถิ่นอาศัย จากการบุกรุกพื้นที่ป่า

การปล่อยปศุสัตว์ โดยเฉพาะวัวและควาย ให้เข้ามาหากินพืชอาหารในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างอิสระ ซึ่งวัวและควายเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับควายป่า อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และติดต่อมาสู่ควายปลาได้

สูญเสียลูกควายป่า จากการเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง หรือจมน้ำตาย เมื่อเกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่

ปัญหาเลือดชิด (Inbreeding) จากการผสมพันธุ์กันในเครือญาติ

สถานภาพ
สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) ปัจจุบันควายป่าอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

พะยูน

‘พะยูน ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งไทย’

ชื่อไทย : พะยูน
ชื่อสามัญ : Dugong
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dugong dugon

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งน้ำตื้น ไม่ลึกมาก ลักษณะทางกายภาพ คือมีรูปทรงกระสวยคล้ายโลมา แต่อ้วนกลมกว่า ผิวหนังเรียบลื่น ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สี มีขนสั้น ๆ ตลอดลำตัว มีหางแฉก ซึ่งเป็นวิวัฒนาการให้พะยูนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำได้  

พฤติกรรม
พะยูนเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย ดำน้ำได้ลึกถึง 39 เมตร แต่ส่วนใหญ่จะดำน้ำอยู่ในระดับ 10 เมตร เนื่องจากต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุก ๆ 2 ถึง 3 นาที โดยโผล่จมูกขึ้นมาเหนือผิวน้ำเล็กน้อย บางครั้งอาจจะโผล่ส่วนหลังและหางขึ้นมา พะยูนว่ายน้ำได้เร็วระดับ 1.8 ถึง 2.2 กม/ชม. อาศัยบริเวณพื้นที่ที่มีแนวหญ้าทะเล ในทะเลเขตร้อนและทะเลเขตกึ่งร้อน

อาหาร
พะยูนกินหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ และจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอุดมสมบูรณ์ สามารถกินอาหารได้ตลอดเวลา เนื่องจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจนมากนัก พะยูนจะใช้จมูกดมกลิ่นในการหาอาหารและใช้หนวดในการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

การสืบพันธุ์
พะยูนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ประมาณอายุ 9 ถึง 10 ปี พะยูนตัวเมียตั้งท้องนาน 13 ถึง 14 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว และทิ้งระยะในการตั้งท้องนาน 3 ถึง 7 ปี

ปัจจัยคุกคาม
ขาดสารอาหาร เนื่องจากแหล่งอาหารหลักของพะยูนอย่างหญ้าทะเลลดน้อยลง

มลพิษทางทะเล จากขยะในทะเล รวมถึงมลพิษจากน้ำเสีย ทำให้หญ้าทะเลหลายพื้นที่เสื่อมโทรมและตายไป

อันตรายจากเรือประมง และเครื่องมือในการทำประมง

การล่าพะยูน เพื่อบริโภคหรือเพื่อนำอวัยวะบางอย่างไปทำเป็นเครื่องรางของขลังจากความเชื่อผิด ๆ

สถานภาพ
ปัจจุบันจำนวนประชากรพะยูนในประเทศไทยมีไม่ถึง 300 ตัว และอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

แมวลายหินอ่อน

แม้ชื่อเป็นแมว แต่ตัวเป็น ‘เสือ’

ชื่อไทย : แมวลายหินอ่อน
ชื่อสามัญ : Marbled Cat
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pardofelis marmorata

แมวลายหินอ่อนมีลักษณะคล้ายเสือลายเมฆ แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนาดเฉลี่ยยังเล็กกว่าแมวดาว แต่รูปร่างล่ำกว่า ลําตัวสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะคล้ายลายหินอ่อน และมีลายจุดกระจายทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณขา หางยาว และมีขนหนาปกคลุม

พฤติกรรม
แมวลายหินอ่อนมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีความว่องไว และปีนต้นไม้เก่งมาก

อาหาร
แมวลายหินอ่อนเป็นสัตว์กินเนื้อ สามารถกินได้ทั้งกระแต กระรอก ลิงลม และลิงขนาดเล็ก รวมถึงนก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และแมลง พื้นที่หากินของแมวลายหินอ่อนประมาณ 5.3 ตารางกิโลเมตร

การสืบพันธุ์
จากการศึกษาแมวลายหินอ่อนในกรงเลี้ยง พบว่า แมวลายหินอ่อนตั้งท้องนานประมาณ 81 วัน คลอดลูกครั้งละ 1 ถึง 4 ตัว ลูกแมวแรกเกิดหนักประมาณ 100 ถึง 115 กรัม หูเริ่มตั้งเมื่ออายุได้ 5 วัน ลืมตาได้เมื่ออายุ 14 วัน และเมื่ออายุ 21 เดือน จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แมวลายหินอ่อนในกรงเลี้ยงที่อายุยืนที่สุดถึง 12 ปี

ถิ่นอาศัย 
แมวลายหินอ่อนมักอาศัยอยู่ในป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ พบกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคยกเว้นภาคเหนือของประเทศไทย

ปัจจัยคุกคาม
การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากการบุกรุกป่าที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปด้วยมลภาวะต่าง ๆ ส่งผลให้สัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยทำให้จำนวนของแมวลายหินอ่อนลดลงไปตามสภาพเสื่อมโทรมของป่า

การสูญเสียถิ่นอาศัย จากการบุกรุกป่าเพื่อลักลอบตัดไม้เถื่อน การถางป่าเพื่อการเกษตร การเผาป่า ส่งผลให้แมวลายหินอ่อนสูญเสียถิ่นอาศัย และแหล่งอาหาร

การลักลอบล่าสัตว์ ส่งผลต่อการลดลงของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว

สถานภาพ
สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) ปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

แรด

แรดมีสายตาไม่ดี แต่มีหูและจมูกที่ดีมาก

ชื่อไทย : แรด / แรดชวา
ชื่อสามัญ : Javan Rhinoceros
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhinoceros sondaicus

แรดเป็นสัตว์กีบคี่ อยู่ในวงศ์แรดหรือวงศ์สัตว์มีเขาที่จมูก ลำตัวมีสีเทาหม่น มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือมีนอแหลมขึ้นที่เหนือจมูก นอแรดส่วนใหญ่ยาวไม่เกิน 15 เซนติเมตร นอที่ยาวที่สุดที่เคยพบยาวถึง 25 เซนติเมตร แรดตัวเมียมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตัวผู้ แต่ไม่มีนอหรืออาจมีเพียงฐานนอที่นูนขึ้นมา ริมฝีปากบนแหลมเป็นจงอยช่วยในการหยิบเกี่ยวยอดไม้มากิน หนังหนามีรอยพับจนดูเป็นเหมือนชุดเกราะ มีรอบพับข้างลำตัวสามรอย คือบริเวณท้ายทอย หัวไหล่ และสะโพก

พฤติกรรม
แรดมักหากินตามลำพัง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือช่วงที่แม่เลี้ยงดูลูกอ่อน แรดมีถิ่นอาศัยในป่าดงดิบ พื้นที่ราบต่ำ ที่ชื้น และมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นแรดมักนอนแช่ปลักโคลนเป็นเวลานาน ๆ มีพฤติกรรมประกาศอาณาเขตด้วยการถูตัวกับต้นไม้ สเปรย์ และทิ้งกลิ่นตามรอยตีน

อาหาร
แรดเป็นสัตว์กินพืช พืชอาหารแรดจะเป็นจำพวกใบไม้ ต้นอ่อนของพืช ต้นหญ้า พืชผักที่เป็นต้นเตี้ย ๆ รวมทั้งพืชที่ขึ้นริมน้ำ และผลไม้ที่หล่นบนพื้นดิน

การสืบพันธุ์
แรดสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ช่วงการตั้งท้องจะใช้ระยะเวลา 16 ถึง 18 เดือน (ประมาณ 480 วัน) คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกแรดหนักประมาณ 50 กิโลกรัม

ปัจจัยคุกคาม
ถิ่นอาศัยลดลง จากการบุกรุกป่าเพื่อทำไม้และการถางป่าเพื่อทำการเกษตร ทำให้แรดสูญเสียถิ่นอาศัยและแหล่งหากิน ส่งผลให้จำนวนประชากรของแรดลดลงอย่างรวดเร็ว

การล่า เพื่อเอาอวัยวะทุกชิ้นส่วนของร่างกายแรดมาเป็นส่วนผสมของยาแก้ไข้ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก จึงทำให้แรดเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงล่า ‘นอ’ เพื่อเอาไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล เครื่องประดับ จึงทำให้แรดชวาลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

พฤติกรรมที่เชื่องช้า เนื่องจากแรดมักนอนแช่ปลักที่เดิมเป็นประจำและเคลื่อนที่ได้ช้า จึงทำให้ถูกพบตัวได้ง่ายและเป็นที่สนใจของเหล่านักล่า

สถานภาพ
สถานภาพของ IUCN Red List อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) และปัจจุบันแรดได้สูญพันธุ์ (Extinct) ไปจากประเทศไทยแล้ว

ละอง/ละมั่ง

ละอง คือ ตัวผู้โตเต็มวัย ส่วนละมั่ง คือ ตัวเมียและตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มวัย

ชื่อไทย : ละอง/ละมั่ง
ชื่อสามัญ : Brow-antlered Deer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rucervus eldii

ลักษณะทั่วไป
ละอง/ละมั่งมีลักษณะขนละเอียดแน่นสีน้ำตาลแกมเหลือง ขนด้านบนสีแดงออกน้ำตาลท้องสีขาว มีขนสีขาวรอบหู ตาและคาง ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตัวผู้เต็มวัยมีสีขนตามตัวเข้มคล้ำกว่าตัวเมีย ละมั่งอายุน้อยจะมีลายจุดสีขาวตามตัว เมื่อโตขึ้นจะเลือนหายไปแต่ตัวเมียบางตัวยังคงปรากฏเป็นลายจุดจาง ๆ ให้เห็นได้แม้โตเต็มวัยแล้ว

ละอง/ละมั่ง คือชื่อตัวเดียวกัน ต่างกันที่ ‘ละอง’ ใช้เรียกตัวผู้ตัวเต็มวัย ส่วน ‘ละมั่ง’ ใช้เรียกตัวเมียและตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มวัย แต่ปัจจุบันนิยมเรียกเป็น ‘ละมั่ง’ ด้วยกันทั้งหมด

พฤติกรรม
ละมั่ง มีพฤติกรรมที่มักอยู่รวมกันเป็นฝูงตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้าใกล้ ๆ หนองน้ำ ตอนกลางวันจะหลบอยู่ใต้ร่มไม้ หรือแช่ปลักโคลนเพราะแดดร้อน ส่วนตัวผู้มักอยู่ตามป่าโปร่ง เนื่องจากเขาที่มีขนาดใหญ่และกว้าง ทำให้อาจจะติดกับกิ่งไม้ได้

อาหาร
ละมั่งเป็นสัตว์กินพืช พืชอาหารหลัก ได้แก่ หญ้า และลูกไม้ต่าง ๆ รวมถึงยอดอ่อนและใบไม้ป่าตามทุ่งหญ้าโล่งหรือป่าโปร่ง

การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ของละมั่งพบอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ระยะตั้งท้องนาน 240 ถึง 244 วัน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกแรกเกิดมีลายจุดสีขาว ๆ ตามตัว ซึ่งจะจางหายไปเมื่อโตขึ้น ตัวผู้ใช้เวลา 1 ปี ขึ้นไป ส่วนตัวเมียประมาณ 2 ปีขึ้นไป

ปัจจัยคุกคาม
ถิ่นอาศัยลดลง จากการบุกรุกทำลายกลายเป็นแหล่งชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ละมั่งสูญเสียถิ่นอาศัยและแหล่งหากิน ส่งผลให้จำนวนประชากรของละมั่งลดลงอย่างวดเร็ว รวมถึงการล่าและการลักลอบค้าสัตว์ป่า เพื่อนำไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล หรือเครื่องประดับ

สถานภาพ
เคยมีรายงานการค้นพบละมั่งในธรรมชาติที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานยืนยันการค้นพบละมั่งอีกครั้ง ทำให้สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

เลียงผา

เลียงผากับความมหัสจรรย์ของถิ่นอาศัย

ชื่อไทย : เลียงผา / กูรำ / โครำ
ชื่อสามัญ : Sumatran Serow
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capricornis sumatraensis

เลียงผาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำพวกสัตว์กีบคู่ อยู่ในวงศ์ Bovidae หรือมีญาติสนิทอย่างแพะและแกะ ในประเทศไทยสามารถพบเห็นเลียงผาได้ตามหน้าผา และภูเขาสูงชัน ซึ่งเลียงผามีวิวัฒนาการทางกายภาพให้มีลักษณะเหมาะสมกับถิ่นอาศัยที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้

ลักษณะทั่วไป
เลียงผา มีลักษณะลำตัวที่ป้อมสั้น มองภาพรวมอาจดูคล้ายกับกวางผา แต่ต่างกันอย่างชัดเจนที่สีขน โดยเลียงผาจะมีขนตามลำตัวสีดำหรือสีเทาเข้ม ขนแผงคอตั้งแต่โคนเขาไปจนถึงหัวไหล่โคนเป็นสีขาวปลายขนเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำ ขนที่ขาใต้หัวเข่าลงมาจะมีสีดำ สีเทา ไปจนถึงสีน้ำตาลแดง หางสั้นและปกคลุมไปด้วยขนสีเทาเข้มบริเวณสันหาง

ถิ่นอาศัย
เลียงผามักอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ระหว่าง 800 ถึง 1,500 เมตร แต่ในบางพื้นที่อาจพบเลียงผาต่ำกว่า 500 เมตร หรือสูงกว่า 2,000 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ

ลักษณะพิเศษที่ทำให้เลียงผาสามารถอาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชันได้ คือลักษณะตีนเป็นกีบ กีบของเลียงผาแตกต่างจากสัตว์กีบชนิดอื่น ๆ โดยมีกีบแต่ละข้างคล้ายปีกผีเสื้อ ปลายกีบทั้งสองแยกออกจากกัน ไม่งองุ้มเข้าหากันทั้งกีบหน้าและกีบหลัง ปลายกีบกลมมน ไม่แหลม และในส่วนของส้นกีบจะมีความกลมมนมากกว่า ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ทำให้เลียงผาสามารถเกาะตามซอนหินหรือตามสันเขาที่สูงชันได้

พฤติกรรม
เลียงผามักหากินตามลำพัง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือช่วงที่แม่เลี้ยงดูลูกอ่อน อาจพบอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ออกหากินตอนเย็นและเช้ามืด

อาหาร
เลียงผาเป็นสัตว์กินพืช พืชอาหารหลัก ได้แก่ ใบอ่อน เปลือกไม้ หน่อไม้ โดยเฉพาะรากไม้ที่มีกลิ่นหอม

ปัจจัยคุกคาม
การสูญเสียถิ่นอาศัย การล่าและการค้าสัตว์ป่า ภัยคุกคามเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนประชากรเลียงผา ทำให้ปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

สถานภาพ
แม้ปัจจุบันสถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) จะอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ทว่าหากปล่อยให้ภัยคุกคามทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการลดลงของจำนวนประชากรก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์แห่งท้องทะเลไทย

ชื่อไทย : วาฬบรูด้า
ชื่อสามัญ : Bryde’s Whale
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balaenoptera edeni

ลักษณะทั่วไป
วาฬบรูด้า มีลำตัวสีเทาดำ ท้องสีอ่อนหรือชมพู ขากรรไกรล่างสีเทา มีรูปร่างค่อนข้างเพรียว ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากวาฬชนิดอื่น คือส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม มีร่องใต้คาง 40 ถึง 70 ร่อง ยาวพ้นแนวสะดือ วาฬบรูด้าสามารถหนักได้ถึง 30 ตัน และตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย

พฤติกรรม
วาฬบรูด้า สามารถอยู่ได้ทั้งตัวเดียว เป็นคู่ หรือรวมเป็นฝูง 10 ถึง 20 ตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาอาหาร วาฬบรูด้า สามารถดำน้ำได้นาน 2 ถึง 8 นาที นานที่สุดได้ถึง 20 นาที และจะโผล่ส่วนหัวเหนือน้ำขึ้นมาหายใจ 4 ถึง 7 ครั้ง

อาหาร
อาหารหลักของวาฬบรูด้า คือปลากะตักแก้ว ปลากะตักควาย ปลาทู และเคยโกร่ง รวมถึง แพลงก์ตอนสัตว์ ฝูงปลาเล็ก ๆ และหมึก

การสืบพันธุ์
วัยเจริญพันธ์จะอยู่ในช่วงอายุ 9 ถึง 13 ปี คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว ทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10 ถึง 12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน ลูกแรกเกิดมีขนาดลำตัวยาว 4 เมตร และวาฬบรูด้าสามารถอายุยืนได้ถึง 50 ปี

ปัจจัยคุกคาม
เกิดการบาดเจ็บจากการถูกใบพัดเรือจากเรือประมง มลพิษทางทะเล การสูญเสียถิ่นอาศัย ภาวะโลกเดือด รวมถึงการล่าโดยมนุษย์ เพื่อลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

สถานภาพ
ปัจจุบันสถานภาพการอนุรักษ์ของประเทศไทย (ONEP) อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

วาฬโอมูระ

วาฬลึกลับหายากใต้ทะเลไทย

ชื่อไทย : วาฬโอมูระ
ชื่อสามัญ : Omura’s Whale
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balaenoptera omurai

ลักษณะทั่วไป
วาฬโอมูระ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล มีน้ำหนักไม่เกิน 20 ตัน มีลักษณะที่คล้ายกับวาฬบรูด้า แตกต่างกันตรงที่วาฬโอมูระมีขนาดเล็กกว่าแต่มีรอบจีบใต้คอจำนวนมากกว่า คือ 80 ถึง 90 รอยจีบ และมีครีบหลังที่สูงกว่าและมีความโค้งที่น้อยกว่าวาฬบรูด้า

พฤติกรรม
คล้ายกับวาฬบรูด้าที่ต้องดำน้ำและโผล่ส่วนหัวขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อหายใจ

อาหาร
อาหารหลักของวาฬโอมูระ คือแพลงก์ตอน ปลาขนาดเล็ก และเคย

การกระจาย
วาฬโอมูระ พบการกระจายในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบวาฬโอมูระ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

ปัจจัยคุกคาม
เกิดการบาดเจ็บจากเครื่องมือประมง มลพิษทางทะเล ทั้งจากควันพิษ ลักลอบการปล่อยน้ำทิ้ง และปัญหาขยะในทะเล รวมถึงการสูญเสียถิ่นอาศัยจากภาวะโลกเดือด และการล่าโดยมนุษย์ ส่งผลต่อจำนวนประชากรของวาฬโอมูระโดยตรง

สถานภาพ
ปัจจุบันสถานภาพการอนุรักษ์ของประเทศไทย (ONEP) อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)

วาฬสีน้ำเงิน

วาฬสีน้ำเงิน สัตว์ที่มีขนาดใหญ่และส่งเสียงร้องได้กว้างไกลที่สุดในโลก

ชื่อไทย : วาฬสีน้ำเงิน
ชื่อสามัญ : Blue Whale
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balaenoptera musculus

เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวได้ถึง 29 เมตร (ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 33 เมตร) น้ำหนัก 72 ถึง 135 ตัน และสามารถหนักได้ถึง 180 ตัน หรือเทียบเท่าความยาวลำตัวได้เท่ากับตึก 9 ชั้น และหนักเท่ากับรถบรรทุก 10 ล้อ ประมาณ 10 คัน

ลักษณะทั่วไป
วาฬสีน้ำเงินมีลำตัวเรียวยาว หัวแบนรูปตัวยู บนหัวมีร่องชัดเจน ยาวตั้งแต่ช่องพ่นน้ำจนถึงส่วนเหนือของริมฝีปาก ลำตัวมีสีเทาหรือน้ำเงินเข้ม และสามารถพ่นน้ำได้สูงถึง 9 เมตร

พฤติกรรม
วาฬสีน้ำเงิน มักอยู่ตัวเดียวตามลำพัง ยกเว้นบริเวณที่เป็นแหล่งอาหารอาจพบได้ถึง 50 ตัว วาฬสีน้ำเงิน สามารถส่งเสียงร้องได้กว้างไกลที่สุดในโลก ส่งเสียงได้ไกลถึง 1,600 กิโลเมตร นอกจากการใช้เสียงในการสื่อสารแล้ว คลื่นเสียงยังช่วยในการนำทางอีกด้วย วาฬสีน้ำเงินสามารถว่ายน้ำได้ถึง 20 ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วาฬสีน้ำเงิน สามารถดำน้ำลงไปหาอาหารได้ลึกถึง 100 เมตร โดยปกติจะดำน้ำนานประมาณ 20 นาที และจะรายงานสถิติพบว่าวาฬสีน้ำเงินสามารถดำน้ำได้นานที่สุดถึง 30 นาที

อาหาร
เคยและแพลงก์ตอนสัตว์ รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็ก วาฬสีน้ำเงินขนาดโตเต็มวัยสามารถกินอาหารได้มากถึง 4 ตันต่อวัน

ปัจจัยคุกคาม
วาฬสีน้ำเงินจัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากในอดีตถูกล่าเพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร และด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของท้องทะเล และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและการมีอยู่ของวาฬสีน้ำเงิน

สถานภาพ
ปัจจุบันวาฬสีน้ำเงินอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ทั้งในระดับสากล (IUCN Red List) และในประเทศไทย (ONEP)

สมเสร็จ / ผสมเสร็จ

อะไรเอ่ย? มีหน้าตาคล้ายหมู กีบคล้ายแรด จมูกคล้ายงวงช้าง และหางสั้นเหมือนหมี

ชื่อไทย : สมเสร็จ / ผสมเสร็จ
ชื่อสามัญ : Malayan Tapir
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tapirus indicus

สมเสร็จเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีลักษณะจมูกที่โดดเด่น สามารถยืด หด ม้วน และหมุนได้รอบทิศทาง มีหน้าที่ช่วยในการหักกิ่งไม้ และใบไม้ใส่ปาก และยังสามารถพ่นน้ำได้อีกด้วย สมเสร็จจัดอยู่ในพวกสัตว์กีบคี่ เนื่องจากมีลักษณะของนิ้วเท้าเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นกีบแข็ง เท้าหลังมีกีบนิ้วข้างละ 3 กีบ คล้ายกับของแรดและกระซู่ แต่เท้าหน้ามีกีบนิ้วข้างละ 4 กีบ

สมเสร็จมีสีขนตัดกันระหว่างดำกับขาวชัดเจน โดยท้องจะมีสีขาวและส่วนหัวกับท้ายลำตัวจะมีสีดำ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการให้สมเสร็จสามารถพรางตัวในธรรมชาติได้ อีกทั้งยังมีประสาทหู ประสาทจมูกที่ดีเยี่ยม และดำน้ำได้เก่ง

พฤติกรรม
สมเสร็จ ถือเป็นนักปลูกป่าตัวยงในระบบนิเวศ เพราะเมล็ดที่สมเสร็จกินเข้าไป และขับถ่ายออกมา ล้วนเป็นการเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นได้เจริญเติบโต และงอกงามกลายเป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่แห่งผืนป่าต่อไป

อาหาร
สมเสร็จเป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ พืชอาหารหลัก ได้แก่ ใบอ่อน ยอดไม้ที่แตกกิ่งใหม่ หรือผลไม้ สมเสร็จจะเดินเล็มกินยอดไม้ของพืชแต่ละชนิดเพียงเล็กน้อย สลับกันไป

ถิ่นอาศัย
ปัจจุบันพบการกระจายตัวสมเสร็จในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และมีรายงานการพบสมเสร็จอยู่ในป่าภาคใต้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและฮาลา-บาลา

ปัจจัยคุกคาม
การสูญเสียถิ่นอาศัย รวมถึงภัยคุกคามจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การล่าเพื่อนำไปแสดงในคณะละครสัตว์ การตายจากกับดักสัตว์ และอัตราการสืบพันธุ์ที่ต่ำของสมเสร็จก็ส่งผลต่อจำนวนประชากรในปัจจุบัน

สถานภาพ
แม้ประชากรสมเสร็จในระดับสากล โดย IUCN Red list จะอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) สมเสร็จอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

สมัน

กวางที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลก 

ชื่อไทย : สมัน / เนื้อสมัน 
ชื่อสามัญ : Schomburgk’s Deer 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rucervus schomburgki 

สมันมีรูปร่างและลักษณะคล้ายกับละมั่ง มีเขาที่สวยงามจนได้รับฉายาว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก ขนตามตัวเรียบเป็นมันยาวและหยาบ สีขนบนลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ขาและบริเวณหน้าผากสีน้ำตาลแดง แผงคอสั้นประมาณ 5 เซนติเมตร ขนที่ลำคอด้านหน้าลงไปถึงอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ขนบริเวณจมูกและส่วนบนของหางสีค่อนข้างดำ และสมันจะมีเขาเฉพาะตัวผู้เท่านั้น 

พฤติกรรม 
สมันมักอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ สมันมีถิ่นอาศัยเฉพาะพื้นที่ทุ่งโล่งใกล้แม่น้ำ หรือพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ หากินในช่วงตอนเย็น ตอนกลางวันมักหลบแดดและซ่อนตัวในป่าละเมาะหรือบริเวณทีมีพงหญ้าสูง ๆ 

อาหาร 
สมันเป็นสัตว์กินพืช พืชอาหารหลัก ได้แก่ หญ้า โดยเฉพาะหญ้าอ่อน ผลไม้ ยอดไม้ และใยไม้หลายชนิด 

ถิ่นอาศัย 
โดยปกติแล้วสมันมักจะไม่อาศัยอยู่ตามป่ารกทึบหรือป่าโคกอย่างกวางป่าหรือละมั่ง เนื่องจากมีกิ่งเขายาวและหลายแขนง ทำให้สมันไม่สามารถมุดลอดได้ เพราะกิ่งก้านเขาจะขัดหรือเกี่ยวพันกับกิ่งไม้หรือเถาวัลย์ ในช่วงฤดูน้ำหลาก สมันจะหนีน้ำขึ้นไปอยู่ร่วมกันบนที่ดอน ทำให้พวกพรานล้อมจับไล่ฆ่าได้อย่างง่ายดาย 

การสืบพันธุ์ 
สมันจะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ประกอบด้วย ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียและลูกอีก 2 ถึง 3 ตัว หลังจากหมดช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะแยกออกมาอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังเช่นเคย 

ปัจจัยคุกคาม 
การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากถิ่นอาศัยของสมันเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม นาข้าว ทำให้สมันลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วและหายไปในที่สุด 

การล่า ทั้งการล่าเพื่อบริโภคและการล่าเพื่อขายซาก เนื่องจากพฤติกรรมของสมันที่มักหนีขึ้นที่สูงในช่วงน้ำหลาก ทำให้พวกนายพรานล้อมจับและไล่ฆ่าได้อย่างง่ายดาย 

สถานภาพ 
ปัจจุบันสมันได้สูญพันธุ์ (Extinct) ไปจากประเทศไทยแล้ว

นกกระเรียนพันธุ์ไทย

ความหวังแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ 

ชื่อไทย : นกกระเรียนพันธุ์ไทย 
ชื่อสามัญ : Sarus Crane 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antigone antigone 

นกกระเรียนพันธุ์ไทยโตเต็มวัยจะมีลําตัวสีเทา ปาก และกระหม่อมสีเขียว หัวและคอตอนบนเป็นหนังสีแดง ไม่มีขนที่หัว ขนปลายปีกมี 11 เส้น ขนปลายปีกมีสีดำ ขนปกคลุมขนปีกด้านล่างสีเทา ขนโคนปีกสีขาว ขณะหุบปีก ปีกยาวเกือบถึงหาง หางสั้นสีเทา ขายาว หน้าแข้งไม่มีขนปกคลุม นิ้วสั้น ขาและนิ้วเท้าสีแดง ส่วนนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ยังโตไม่เต็มวัย (juvenile) มีขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาลอมเทา หัวและคอตอนบนมีขนสีเนื้อหรือน้ำตาลอมเหลือง 

พฤติกรรม 
ดำรงชีวิตอยู่เป็นคู่ บางครั้งพบอยู่รวมกันเป็นฝูง หากินตอนกลางวันอยู่ตามชายน้ำ หนอง บึง ทะเลสาบ ทุ่งนา ทุ่งหญ้าที่มีน้ำขัง หรือทุ่งหญ้าโล่ง ๆ 

อาหาร 
นกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ได้แก่ ธัญพืช เมล็ดหญ้า ราก และต้นอ่อนของพืช รวมถึง หนอน แมลง หอย ปู ปลา กบ เขียด และสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก ๆ เช่น งูน้ำ เป็นต้น 

ถิ่นอาศัย 
ในอดีตสามารถเห็นนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้ตามทุ่งนาแทบทุกภาคของประเทศไทย แหล่งหากินตามพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) เช่น หนอง บึง ทุ่งนา ทุ่งหญ้าที่มีน้ำขัง ทุ่งหญ้าโล่ง ๆ เนื่องจากนกกระเรียนพันธุ์ไทยมีวิวัฒนาการให้ไม่มีนิ้วเท้าหลังที่ใช้ในการเกาะต้นไม้ ทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยต้องอาศัยและหากินในพื้นที่โล่ง ๆ และพื้นที่ชุ่มน้ำแทน 

การสืบพันธุ์ 
นกกระเรียนพันธุ์ไทยผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน มักจับคู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) ในช่วงหนึ่งฤดูกาลผสมพันธุ์ หากตัวใดตัวหนึ่งตายไปก่อน อีกตัวจะหาคู่ใหม่ หรือในช่วงฤดูผสมพันธุ์รอบใหม่จะเปลี่ยนคู่หรือใช้คู่เดิมก็ได้ 

ปัจจัยคุกคาม 
การถูกล่า และสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นถิ่นอาศัย แหล่งหากินและทำรังวางไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยถูกทำลาย เปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และแหล่งชุมชน ทําให้ประชากรของนกกระเรียนพันธุ์ไทยลดน้อยลงและสุญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ 

สถานภาพ 
แม้นกกระเรียนพันธุ์ไทยจะอยู่ในสถานะสูญพันธุ์ในธรรมชาติ (Extinct in the Wild) ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีการโครงการเพื่อฟื้นฟูประชากร ขยายพันธุ์ และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ 

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินทร

นกลึกลับในตำนาน 

ชื่อไทย : นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร / นกนางแอ่นตาพอง 
ชื่อสามัญ : White-eyed River Martin 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae 

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกเฉพาะถิ่น พบครั้งแรกและพบเฉพาะในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ทางภาคกลางของประเทศไทยและไม่พบที่ใดอีกเลย  

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกที่มีขนาดเล็กมาก โตเต็มวัยมีขนสีดำ มีลาเพาดสีขาวที่ตะโพก ปากสีเหลือง ตาและวงรอบเบ้าตาสีขาว มีแกนขนลักษณะคล้ายเส้นลวดยื่นยาวออกไปจากขนหางคู่กลาง ขนปีกด้านล่างมีสีน้ำตาลซีด ตัวยังไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตอนโตเต็มวัย ยกเว้นบริเวณหัวและด้านล่างลำตัวสีน้ำตาลเข้ม บริเวณคอหอยสีจะจางกว่า ไม่มีแกนขนออกจากขนหางคู่กลาง หรือมีแต่ขนาดจะสั้นกว่าตอนโตเต็มวัย 

พฤติกรรม 
เป็นนกที่อาศัยอยู่ตามป่ากก ป่าหญ้า ในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นนกที่ค่อนข้างเชื่อง ไม่ปราดเปรียว มักเกาะนิ่งเฉยอยู่บนพื้นดิน 

อาหาร 
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงเป็นอาหาร มักจะจับเหยื่อโดยการโฉบจับในอากาศ หลังจากการสังเกตทางกายภาพเบื้องต้นมีการสันนิษฐานว่า นกชนิดนี้อาจหากินได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน 

สถานภาพ 
แม้สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) จะอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) แต่ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอีกเลยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 

นกชนหิน

นกเงือก ที่ไม่ได้มีดีแค่หัว 

ชื่อไทย : นกชนหิน 
ชื่อสามัญ : Helmeted Hornbill 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhinoplax vigil 

นกชนหิน เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่รองจากนกกก ตัวผู้มีน้ำหนัก 3,060 กรัม และตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2,610 ถึง 2,840 กรัม นกชนหินจะมีลักษณะพิเศษตรงขนหางคู่กลางจะยาวและเรียวกว่าคู่อื่น ๆ ซึ่งยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร  

นกชนหินตัวผู้จะมีลักษณะคอเป็นหนังสีแดงเข้ม ส่วนตัวเมียหนังคอสีฟ้าอ่อนแกมม่วง ปลายปากและโหนกด้านหน้ามีสีเหลือง ส่วนที่เหลือจะมีสีแดงเข้ม ปลายขนปีกบินขาว และนกชนหินจะมีปากที่ค่อนข้างสั้น ซึ่งแตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่นที่ค่อนข้างแหลมและเรียวยาว  

พฤติกรรม 
นกเงือกไม่ทำรังเองแต่อาศัยโพรงไม้ธรรมชาติ หรือโพรงไม้ที่เกิดจากสัตว์ชนิดอื่นเจาะไว้ให้ โดยฤดูทำรังวางไข่ของนกชนหิน จะอยู่ในช่วงมกราคม-มีนาคม พฤษภาคม และพฤศจิกายน พบว่ารังนกชนหิน 87% จะอาศัยอยู่โพรงไม้วงศ์ Dipterocapaceae รวมทั้ง Hopea, Shorea และ Neobalancarpus ขนาดเส้นรอบวงต้นไม้เฉลี่ย (DBH) 160 เซนติเมตร ความสูงของต้นไม้เฉลี่ย 42 เมตร และความสูงของโพรงเหนือพื้นที่ดินเฉลี่ย 30 เมตร  

อาหาร 
นกชนหินส่วนใหญ่กินผลไม้เป็นหลัก โดยเฉพาะมะเดื่อที่มีหลากหลายชนิดในภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึง ผลไม้ในวงศ์ยางโอน และวงศ์จันทน์เทศ จากงานวิจัยพบว่าเมล็ดที่ผ่านการย่อยเยื่อหุ้มเมล็ดจากนกเงือกกลับเจริญเติบโตได้ดีกว่าเมล็ดที่หล่นใต้ต้น อีกทั้งนกเงือกขนาดใหญ่จะคอยกระจายเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ ที่สัตว์ขนาดเล็กไม่สามารถกินได้ 

ถิ่นอาศัย 
นกชนหินอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบเฉพาะทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระลงไป หายากและมีจำนวนประชากรน้อย 

ปัจจัยคุกคาม 
นกเงือกต้องอาศัยโพรงตามธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะต่อการดำรงชีวิต แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลง จึงทำให้ต้นไม้หรือโพรงที่เหมาะมีปริมาณลดลงตามไปด้วย 

ด้วยนกชนหินมีลักษณะโหนกที่แตกต่างจากนกเงือกชนิดอื่น คือ มีโหนกที่ตันเกือบทั้งชิ้น คล้ายกับนอแรด นกชนหินจึงถูกคุกคามจากการล่าเอาโหนกไปขายโดยมนุษย์ เพื่อนำไปทำเป็นเครื่องประดับ หรืองานศิลปะต่าง ๆ และในปัจจุบันนกชนหินถูกล่าโดยมนุษย์มากขึ้น ทำให้นกชนหินมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง  

สถานภาพ 
ปัจจุบันนกชนหินในประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) 

นกแต้วแร้วท้องดำ

นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นนกที่นักดูนกทั่วโลกอยากเห็นมากที่สุด! 

ชื่อไทย : นกแต้วแร้วท้องดำ / นกแต้วแล้วท้องดำ  
ชื่อสามัญ : Gurney’s Pitta 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrornis gurneyi 

นกแต้วแร้วท้องดำ มีลักษณะทั่วไปคล้ายนกแต้วแร้วลาย ทั้งตัวผู้และตัวเมียบริเวณหลังและปีกสีน้ำตาลแกมทอง ไม่เห็นแถบสีขาวที่ปีก หางเป็นสีน้ำเงิน แต่ไม่สดเท่านกแต้วแร้วลาย ตัวผู้มีลักษณะเด่นมาก คือ  บริเวณใบหน้ากลางกระหม่อมและด้านข้างของหัวเป็นสีดำ ส่วนท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบ คอและอกบนสีเหลืองสด อกล่างและท้องสีดำ มีลายพาดเล็ก ๆ สีเหลืองและสีดำด้านข้าง 

ส่วนตัวเมียกระหม่อมทั้งหมดเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง มีแถบคาดตาสีน้ำตาลแกมดำ อกและท้องลายพาดเล็ก ๆ สีเหลืองแกมสีเนื้อและสีดำ ตัวไม่เต็มวัยสีออกน้ำตาล ลวดลายต่าง ๆ สีดำ 

อาหาร 
นกแต้วแร้วท้องดำมีพฤติกรรมการหากินด้วยการกระโดดจับแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน 

ถิ่นอาศัย 
เป็นนกที่พบเฉพาะในป่าดงดิบชื้น และป่ารุ่นในระดับพื้นราบ ส่วนใหญ่หากินตามพื้นดิน บางครั้งก็พบเกาะตามกิ่งของไม้พุ่ม หรือตามขอนไม้ เมื่อมีสิ่งรบกวนหรือมีภัย จะกระโดดเข้าหลบซ่อนตัวตามพุ่มไม้ ถ้าหากจวนตัวจริง ๆ จะบินหนีแต่บินในระยะที่ไม่ไกล และระดับไม่สูงมาก 

การสืบพันธุ์ 
จะอยู่ในช่วงฤดูฝน ออกไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ลูกนกจะอยู่ในรังกับพ่อแม่ 8-14 วัน ขณะที่ขนขึ้นก็จะออกตามพ่อแม่ไปหาอาหาร และไม่กลับรังอีกเลย 

ปัจจัยคุกคาม 
การสูญเสียถิ่นอาศัย จากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการทำเกษตรกรรม การลับลอบค้าสัตว์ป่า รวมถึงได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ 

สถานภาพ 
เคยมีรายงานการพบนกแต้วแร้วท้องดำในบริเวณภาคใต้ โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แต่ก็พบในปริมาณที่น้อยมากและหายาก ส่งผลให้ปัจจุบันนกแต้วแร้วท้องดำในประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) 

เต่ามะเฟือง

เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  

ชื่อไทย : เต่ามะเฟือง 
ชื่อสามัญ : Leatherback Turtle 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dermochelys coriacea 

เต่ามะเฟือง จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน กระดองของเต่ามะเฟือง มีลักษณะเป็นหนังหุ้ม ซึ่งต่างจากเต่าชนิดอื่นที่กระดองแข็ง ลักษณะตีนเป็นใบพาย เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ในน้ำ หัวใหญ่ไม่สามารถหดกลับเข้ากระดองได้ และกระดองหลังมีลักษณะร่องสันนูนตามยาว 7 สัน คล้ายผลมะเฟือง จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘เต่ามะเฟือง’ 

อาหาร 
เต่ามะเฟืองมีการดำรงชีวิตใต้ทะเลเกือบชั่วชีวิต โดยมีอาหารหลักจำพวกแมงกะพรุน 

ถิ่นอาศัย 
ประเทศไทยพบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งทะเลอันดามันด้านตะวันตกของไทย จังหวัดพังงา ภูเก็ต และหมู่เกาะตรุเตา 

การสืบพันธุ์ 
เต่ามะเฟืองสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,280 เมตร จะขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่บนบกบริเวณชายหาดเท่านั้น เต่ามะเฟืองเพศเมียจะวางไข่ประมาณ 66 ถึง 104 ฟองต่อหลุม ขึ้นอยู่กับ อายุ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมของหาดที่วางไข่ โดยหาดต้องมีลักษณะที่เหมาะสม คือ มีระดับน้ำลึก และมีแนวลาดชันขึ้นสู่หาด 

ปัจจัยคุกคาม 
เนื่องจากลูกเต่ามะเฟือง มีอัตราการรอดในธรรมชาติน้อย เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาจากการติดเครื่องมือประมง การลากอวน การพัฒนาชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของชายหาด ทำให้สูญเสียศักยภาพของพื้นที่ที่จะวางไข่ ส่งผลให้รังไข่เต่าทะเลลดลงเป็นอย่างมาก  

สถานภาพ 
สถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทย (ONEP) เต่ามะเฟืองอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) 

ปลาฉลามวาฬ

ปลาฉลามวาฬ เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาชนิดเดียวที่เป็นสัตว์ป่าสงวนในไทย 

ชื่อไทย : ปลาฉลามวาฬ 
ชื่อสามัญ : Whale Shark 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhincodon typus 

ปลาฉลามวาฬ เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นปลากระดูกอ่อน อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น ตามแนวปะการังที่ความลึกไม่เกิน 700 เมตร สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการพบปลาฉลามวาฬทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน 

ปลาฉลามวาฬมีลักษณะเด่นคือ หัวแบนกว้าง ปากกว้างอยู่ปลายจะงอยปาก ฟันเล็กปลายแหลมงุ้ม มีสันนูนขวางลำตัวหลายแถว ครีบแรกเริ่มหน้าครีบท้อง คอดหางแบนมีสันข้าง มีร่องบนคอดหาง หางรูปตัววีหรือพระจันทร์เสี้ยว ลำตัวสีน้ำตาลเข้มแกมดำ ท้องขาว มีจุดขาวพาดขวางไม่ซ้ำกัน ทำให้จำแนกแต่ละตัวได้ 

อาหาร 
ปลาฉลามวาฬกินอาหารด้วยการอ้าปากกว้าง แล้วกรองสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กผ่านซี่กรองบริเวณเหงือก โดยอาหารหลัก ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์ รวมถึงปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ใกล้ผิวน้ำ กุ้งตัวเล็ก และตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ 

ถิ่นอาศัย 
ในน่านน้ำไทยสามารถพบปลาฉลามวาฬได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบอาศัยบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำในทะเลเปิด บางครั้งอาจหลงเข้าตามชายฝั่งที่มีน้ำตื้น เป็นปลาที่มีการอพยพเป็นระยะทางไกลระหว่างมหาสมุทร ไกลสุดถึง 13,000 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลามากกว่า 36 เดือน 

การสืบพันธุ์ 
ปลาฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่ออกลูกเป็นตัว ซึ่งในการท้องแต่ละครั้ง แม่ปลาฉลามวาฬอาจออกลูกได้มากถึง 300 ตัว 

ปัจจัยคุกคาม 
สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ปลาฉลามวาฬลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คือ การทำการประมง จากการติดเครื่องมือประมง และอีกหนึ่งสาเหตุ คือการดำน้ำดูปลาฉลามวาฬ ซึ่งทำให้เรือเข้าไปใกล้และถูกเรือชนเป็นประจำ รวมถึงปัญหาไมโครพลาสติกที่ติดมากับแพลงก์ตอน สารพิษที่สะสมอยู่ในไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพ และส่งผลเสียต่อชีววิทยาการสืบพันธุ์ของฉลามวาฬได้ 

สถานภาพ 
ปัจจุบันปลาฉลามวาฬในประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered)  

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว