‘วาฬและโลมา’ ไม่ใช่ปลา! ชวนรู้จัก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อยู่ในทะเล เนื่องใน ‘วันวาฬและโลมาโลก’ 

‘วาฬและโลมา’ ไม่ใช่ปลา! ชวนรู้จัก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อยู่ในทะเล เนื่องใน ‘วันวาฬและโลมาโลก’ 

‘โลมาก็คือโลมา และโลมามันไม่ใช่ปลา ถึงมีครีบและมีหางมันก็ยังไม่ได้เป็นปลา’ 

เนื้อเพลงบางส่วนจากเพลงโลมาไม่ใช่ปลา ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าโลมาก็คือโลมาและไม่ใช่ปลาอย่างที่ใครบางคนเข้าใจ ว่าแต่เคยสงสัยกันไหม? ทำไมสัตว์บางชนิดที่มีทั้งครีบและหางดูคล้ายปลาขนาดนี้ แต่กลับไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มปลา เกร็ดความรู้ในสัปดาห์นี้เนื่องในวันวาฬและโลมาโลก แอดมินชวนมาทำความรู้จัก ‘วาฬและโลมา’ กับวิวัฒนาการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบนบกสู่ท้องทะเล 

วันวาฬและโลมาโลก (World Whale and Dolphin Day) ตรงกับวันที่ 23 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และช่วยกันอนุรักษ์ท้องทะเลไว้

ย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ 48 ล้านปีก่อน วาฬและโลมามีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มี 4 ขาและอาศัยอยู่บนบก มีบรรพบุรุษร่วมกันคือ ปากีเซตัส (Pakicetus) ซึ่งหากินตามแหล่งน้ำ ลำธาร ต่อมาบรรพบุรุษบางกลุ่มเริ่มมีการปรับตัวและมีวิวัฒนาการให้สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้ เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิต

เมื่อสิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวมากขึ้น วิวัฒนาการเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในเวลาต่อมา จึงได้ถือกำเนิดสัตว์น้ำเต็มตัวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โดรูดอน (Dorudon) ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 37 ล้านปีก่อน และมีความยาวประมาณ 4.5 เมตร

และสิ่งมีชีวิตโดรูดอนนี้ ทำให้เราเริ่มเห็นลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกถึงลักษณะทางกายภาพของวาฬและโลมาในยุคปัจจุบัน นั่นคือรูจมูกที่ย้ายจากบริเวณปลายจมูกขึ้นไปอยู่ด้านบนของศีรษะ ส่วนของแขนขาด้านหน้าเปลี่ยนเป็นครีบแข็ง ลำตัวมีความยาวขึ้น ขาหลังแทบจะหายไปและที่สำคัญคือมีหาง ซึ่งมีวิวัฒนาการให้มีแผ่นหางคู่ที่ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวในน้ำได้ โดยมีลักษณะการโบกไปในทิศขึ้นและลง ซึ่งต่างจากปลาที่หางจะเคลื่อนไหวไปทางด้านข้าง

จากนั้นวาฬและโลมาจึงถือกำเนิดขึ้น จากสัตว์บกลงสู่สัตว์ทะเลอย่างสมบูรณ์ และถึงแม้จะอาศัยอยู่ในทะเล แต่วาฬและโลมายังคงมีคุณสมบัติเฉพาะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยยังคงใช้ปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ 80 ถึง 90% ต่อการหายใจหนึ่งครั้ง เทียบกับมนุษย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนได้แค่ 10 ถึง 15% จึงทำให้วาฬและโลมาสามารถเก็บออกซิเจนไว้ใช้ใต้น้ำได้นานโดยไม่ต้องขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำบ่อย ๆ

วาฬและโลมาเป็นสัตว์เลือดอุ่นและมีระบบควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เนื่องจากวาฬและโลมาไม่มีขนปกคลุมลำตัวเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ แต่สามารถรักษาความอบอุ่นของร่างกายได้ด้วยไขมันใต้ผิวหนัง จากข้อมูลพบว่าวาฬและโลมาในปัจจุบันทั่วโลกพบทั้งหมด 78 ชนิด จาก 13 วงศ์ และในประเทศไทยพบวาฬและโลมาจำนวน 27 ชนิด จาก 6 วงศ์

ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล

‘วาฬ’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเล และมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะโลกเดือด เนื่องจากวาฬ 1 ตัวสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 33 ตัน!

วาฬมีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 60 ปี และแม้จะตายไป ซากของวาฬจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ทะเลลึกได้ถึง 100 ปี เทียบกับต้นไม้ 1 ต้นสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 20 กิโลกรัมต่อปี หากต้นไม้มีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2 ตัน ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าที่วาฬสามารถกับเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้เกือบ 20 เท่า

ปัจจุบันประชากรของวาฬเหลืออยู่ทั่วโลกประมาณ 1.3 ล้านตัว ซึ่งมีการลดลงอย่างต่อเนื่องและมีอัตราการตายที่สูงขึ้น ทั้งจากปัญหาขยะพลาสติกในทะเล มลพิษทางทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงการล่า แม้ว่าวาฬจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และถูกสั่งห้ามล่าเพื่อการค้าในหลายประเทศ แต่ยังคงมีวาฬมากกว่า 1,000 ตัวที่ถูกล่าในแต่ละปี 

รู้หรือไม่? ‘วาฬสีน้ำเงิน (Blue Whale)’ เป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสถานะการอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าสงวน รวมถึงวาฬอีก 2 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้าและวาฬโอมูระ ที่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล จากทั้งสิ้น 21 ชนิดของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

1 ในสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในโลก

‘โลมา’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีความฉลาด มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุล และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากเป็นผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร คอยควบคุมประชากรสัตว์ทะเลให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

สมองของโลมาถือว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดตัว โดยโครงสร้างสมองบางส่วนจะคล้ายกับมนุษย์โดยเฉพาะบริเวณที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความทรงจำ และการตัดสินใจ โลมาสามารถสื่อสารกันผ่านคลื่นเสียงที่มีความถี่สูง เรียกว่า ‘โซนาร์’ โดยจะปล่อยเสียงคลิกไว้ใช้ในการล่าเหยื่อ เพื่อให้เกิดเสียงสะท้อนกลับมา สามารถรู้ตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของเป้าหมายได้

ปัจจุบันโลมามีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องและต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่สำคัญ อาทิ ขยะพลาสติกในทะเล  มลพิษทางทะเล การทำประมงเกินขนาด ติดเครื่องมือประมง รวมถึงการทำลายถิ่นอาศัย ส่งผลให้โลมาต้องอพยพและเกิดภาวะขาดแคลนอาหารได้

ดังนั้นโลมาก็คือโลมา และวาฬก็คือวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้โดยการมีจิตสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบยั่งยืน เพื่อรักษาและปกป้องท้องทะเลไทย

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว