วันช้างไทย ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี

วันช้างไทย ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี

วันช้างไทย – ช้างบ้าน และช้างป่าที่พบได้ในประเทศไทย เป็นช้างเอเชียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elephas maximus เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่

ช้างเอเชีย เมื่อโตเต็มวัยมีความสูงประมาณ 2.5 เมตร และหนักได้ถึง 3 ถึง 4 ตัน เป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง (โขลง) โดยจะมีช้างเพศเมียอายุมากที่สุดเป็นจ่าฝูง เรียกว่า ช้างแม่แปรก สำหรับช้างเพศผู้ เมื่ออายุประมาณ 6 ถึง 7 ปี มักจะแยกไปอยู่ตามลำพัง หรือจับกลุ่มชั่วคราวกับช้างเพศผู้ด้วยกัน และจะกลับเข้าโขลงอีกครั้ง เพื่อผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 10 ถึง 15 ปี

ช้างตั้งท้องนานถึง 22 เดือน และตกลูกครั้งละ 1 ตัว แต่ละครอกจะมีระยะเวลาห่างกัน 4 ปี ช้างโตเต็มวัยจะมีอัตราการตายที่ต่ำมาก บางตัวอาจมีอายุยืนได้ถึง 70 ปี!

ขนาดพื้นที่หากิน (Home range) และชนิดพืชอาหารของช้างป่า ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ สภาพพื้นที่ และฤดูกาล พบว่าช้างป่าที่อินเดีย เพศเมียมีพื้นที่หากิน 184 ถึง 326 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่เพศผู้มีพื้นที่หากิน 188 ถึง 407 ตารางกิโลเมตร 

วันช้างไทย

ช้างเอเชียใช้เวลาส่วนใหญไปกับการกิน 14 ถึง 19 ชั่วโมงต่อวัน อาหารที่กินไปมากถึง 150 ถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน และถ่ายมูล 16 ถึง 18 ครั้งต่อวัน ซึ่งมากกว่า 100 กิโลกรัม มูลของช้างนอกจากจะเป็นปุ๋ยที่ดีแล้ว ยังเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ (Seed dispersal) ขนาดใหญ่ที่สัตว์อื่นไม่สามารถกินได้ และนำพาเมล็ดนั้นไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วผืนป่าอีกด้วย นอกจากนี้ มูลช้างยังเป็นแหล่งอาหาร และที่อยู่ที่สำคัญของแมลงป่าหลายชนิด

ช้างเอเชีย พบการกระจายตัวในแถบเอเชีย ทั้งประเทศเนปาล บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และสุมาตรา ปัจจุบันพบช้างเอเชียทั้งหมด 48,323 ถึง 51,680 (IUCN Red List, 2019) และช้างป่าในไทยมีจำนวน 3,126 ถึง 3,341 (IUCN Red List, 2019) 

ประชากรช้างป่าที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสวนทางกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเล็กลง เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์ อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อนในป่าอนุรักษ์ หรือการขยายตัวของชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ และเข้ามาในชุมชนมากขึ้น เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า (Human-Elephant Conflict) มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ช้าง ถือเป็นสัตว์ที่ให้ร่มเงาแก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในป่าใหญ่ (Umbrella species) ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ และเป็นสัตว์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) เพราะถ้าหากเราสามารถอนุรักษ์ช้างได้ เราก็จะสามารถอนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน และพึ่งพาสัตว์ป่าสำคัญชนิดนี้ได้    

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว