รู้รักษ์ป่า – ไฟป่า

รู้รักษ์ป่า – ไฟป่า

ชวนทำความรู้จักเรื่องราวของไฟที่เกิดขึ้นในป่า

รูปร่างของไฟ

การเกิดไฟป่ามักเกิดจากการติดไฟในจุดเล็กๆ ก่อนแล้วจึงขยายเป็นวงกว้างตามเชื้อเพลิงและทิศทางของลม รูปร่างของไฟประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

จุดเริ่มต้นจากไฟเริ่มจาก หางไฟ (Rear) เป็นส่วนของไฟที่ไหม้ไปตรงกันข้ามกับหัวไฟหรือสวนกับทิศทางลม ทำให้เป็นไฟที่ลุกลามช้าและดับได้ง่าย

ปีกไฟ (Flanks) เป็นส่วนที่ลุกลามขยายออกด้านข้างของหัวไฟ แบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา มักลุกลามตามหัวไฟ มีความรุนแรงน้อยกว่าหัวไฟและมากกว่าหางไฟ

นิ้วไฟ (Finger) เป็นส่วนที่ลุกลามแนวแคบๆ ยื่นออกไปจากตัวไฟหลัก นิ้วไฟแต่ละนิ้วจะมีปีกไฟเป็นของมันเอง

ขอบไฟ (Edge) เป็นขอบเขตของไฟป่านั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไฟกำลังลุกไหม้ หรือดับแล้วก็ได้

ง่ามไฟ (Bay) เป็นส่วนของขอบไฟที่อยู่ระหว่างนิ้วไฟ มีการลุกลามช้ากว่านิ้วไฟ

หัวไฟ (Head) เป็นส่วนไฟป่าที่ลุกลามได้เร็วและมีเปลวไฟยาวมากที่สุด มักลุกลามไปตามความลาดชันตามพื้นที่และทิศทางลม จึงเป็นส่วนที่รุนแรงและอันตรายมากที่สุด

และสุดท้ายส่วนที่ลุกลามนำหน้าตัวไฟหลัก โดยเกิดจากสะเก็ดไฟที่ลอยออกไปตกหน้าแนวไฟหลักและเกิดการลุกไหม้กลายเป็นไฟป่าขึ้นอีกลูก เรียกว่า สะเก็ด (Spot fire)

 

ความชันกับไฟป่า

ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของไฟป่า มีอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ ลักษณะเชื้อเพลิง ลักษณะอากาศ และลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นปัจจัยที่มีความแตกต่างไปจาก 2 ปัจจัยแรก คือ เป็นปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด และเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างคงที่ ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของไฟป่าอย่างมาก เช่น ความลาดชัน (Slope)

ความลาดชัน (Slope) มีอิทธิพลโดยตรงต่อทิศทางและอัตราการลุกลามของไฟ ยิ่งภูเขามีความลาดชันมากเท่าไร การลุกลามของไฟก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย จากการศึกษาของศิริ (2532) พบว่า ถ้าความลาดชันเพิ่มขึ้นทุกๆ 10% อัตราการลุกลามของไฟจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวของอัตราการลุกลามที่ความลาดชัน 15-17 %

และยิ่งภูเขาที่มีความลาดชันมากๆ ไฟจะลุกลามเร็วมากกว่าภูเขาที่มีความลาดชันน้อยๆ ทั้งนี้เพราะยอดของเปลวไฟจะพุ่งขึ้นไปด้านบน ทำให้เชื้อเพลิงด้านบนแห้ง และติดไฟได้ง่ายนั่นเอง

 

ไฟใต้ดิน

‘ไฟใต้ดิน’  เป็นไฟที่เกิดแล้วสร้างความเสียหายต่อป่าได้มากที่สุด

ไฟใต้ดิน (Ground Fire) คือ ไฟที่ไหม้อยู่ใต้ชั้นผิวของพื้นป่า โดยมีอินทรียวัตถุที่สะสมอยู่ใต้ดินเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ไฟจะลุกลามไปอย่างช้าๆ และปรากฏควันเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไฟผิวดิน ซึ่งไฟใต้ดินนั้นจะเกิดขึ้นในป่าที่มีการสะสมอินทรียวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ป่าพรุทางตอนใต้ของประเทศไทย

เหตุที่ไฟใต้ดินเป็นไฟสร้างความเสียหายให้แก่ป่ามากที่สุด นั่นเพราะไฟที่เกิดขึ้นจะไหม้และทำลายรากไม้ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีกลไกในการป้องกันไฟป่า ทำให้ต้นไม้บริเวณที่โดนไฟไหม้ต้องตายในเวลาต่อมา ซึ่งไฟป่าประเภทนี้สามารถตรวจจับได้ยาก ส่งผลให้ยากต่อการควบคุมการลุกลามของไฟนั่นเอง

 

ไหม้ถูกที่มีประโยชน์

ตั้งแต่อดีตไฟป่าเป็นสิ่งที่เกิดคู่กับป่าผลัดใบ เพราะลักษณะของป่าจะเป็นป่าที่มีความชื้นน้อย ทิ้งใบในฤดูแล้งทำให้มีเศษซากพืชจำนวนมากปกคลุมดินอยู่ หากไม่เกิดไฟป่าเลยก็จะส่งผลกระทบต่างๆ ตามมา เช่น กล้าไม้งอกได้ยากขึ้น เพราะรากแทงสู่ดินได้ยากขึ้น ความชื้นเพิ่มขึ้น ทำให้ป่าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปเป็นป่าอย่างอื่น

สัตว์ที่เคยอาศัยในป่าผลัดใบก็จะหายไป นอกจากช่วยรักษาสภาพโครงสร้างเดิมของป่าได้แล้ว ไฟป่ายังมีประโยชน์อื่นอีก เช่น ลดการแก่งแย่งของกล้าไม้ ลูกไม้ เป็นการป้องกันการระบาดของโรคและแมลง เกิดหญ้าระบัดทำให้สัตว์ป่ามีอาหารกิน

ซึ่งป่าที่มีวิวัฒนาการคู่กับไฟป่า ต้นไม้ก็จะมีกลไกปรับตัวต่างๆ เช่น ต้นเต็งทำให้ตัวเองมีเปลือกที่หนาเพื่อป้องกันระบบส่งน้ำและอาหาร กล้าไม้หลายชนิดมีลำต้นใต้ดิน เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น ไฟก็จะไหม้เฉพาะข้างบน กล้าก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ป่าจึงดำรงอยู่ได้แม้ว่าจะเกิดไฟป่าก็ตาม

แต่ในปัจจุบันการเกิดไฟป่าล้วนเกิดจากมนุษย์ที่เผาป่าเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า ทำให้ความถี่ในการเกิดไฟป่ามากขึ้น ทั้งยังเกิดในป่าไม่ควรเกิด เช่น ลุกลามเข้าไปในพื้นที่ของป่าดิบ ซึ่งต้นไม้ไม่มีกลไกป้องกันไฟป่า ทำให้เกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศมาก

 


เรียบเรียง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร