รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย 2558

รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย 2558

พ.ศ. 2558 25 ปี ที่สืบ นาคะเสถียรได้จากไป ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ทั้งสิ้น *ร้อยละ 31.62 หรือ 163,656.64 ตร.กม. โดยเพิ่มจากปี 2556 ที่มีอยู่ร้อยละ 31.57 หรือ 163,391.26 ตร.กม.

จากข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ปี 2557 พบว่ามีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 0.05 หรือ 265.38 ตร.กม. เท่านั้น

ถึงแม้ว่าตัวเลขพื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ป่าไม้ที่ถูกคุกคามก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก

ดังนั้น ในทุก 1 ชม. ป่ายังคงถูกทำลายไป 26 สนามฟุตบอล และถ้าอัตราการทำลายป่ายังคงที่อยู่เช่นนี้ อีก 100 ปีข้างหน้า ป่าไม้จะหมดไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน

(* ข้อมูลการสำรวจพื้นที่ป่าล่าสุดจากกรมป่าไม้ จัดเก็บข้อมูลโดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557 – ม.ค. 2558)

สถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ของแต่ละภาคในปัจจุบัน ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52.21 ของพื้นที่ภาค รองลงมา คือภาคกลาง + ภาคตะวันตก ที่มีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 32.86 ภาคใต้ ร้อยละ 23.97 ภาคตะวันออก ร้อยละ 22.18 และภาคที่มีพื้นที่ป่าน้อยที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 15.02 ของพื้นที่ภาค

โดยภาคที่มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้รุนแรงที่สุด คือ ภาคตะวันออก รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ป่าหายไปถึงร้อยละ 35.8 และ 26.97 ของพื้นที่ป่าที่เคยมีเมื่อปี 2504

ส่วนภาคกลาง + ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคเหนือ พื้นที่ป่าลดลงจาก เมื่อปี 2504 ในแต่ละภาค คือ ร้อยละ 20.05, 17.92 และ 16.33 ตามลำดับ

ถึงแม้ภาคตะวันออกจะมีพื้นที่ป่าลดลงมากที่สุด จากปี 2504 แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี 2557 ภาคตะวันออกเองก็ยังคงมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 1.17 และภาคกลาง + ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าเพิ่ใขึ้น ร้อยละ 3.65 ส่วนอีก 3 ภาคกลับมีตัวเลขพื้นที่ลดลงจากปี 2551 ดังต่อไปนี้

ภาคเหนือลดลงร้อยละ 3.88 ภาคใต้ลดลงร้อยละ 3.06 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงร้อยละ 1.87

 

เนื้อหาในรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย 2558 ประกอบไปด้วย

  • แผนที่แสดงคดีบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 57 – 58
  • สถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทย
  • สถานการณ์ป่าไม้รายภาค
  • 5 ข่าวเด่นสิ่งแวดล้อม ก.ย. 57 – ส.ค. 58
  • สถานการณ์สัตว์ป่าเมืองไทยที่น่าสนใจ
  • ประเด็นสิ่งแวดล้อมพิเศษ หมอกควันในภาคเหนือ
  • พื้นที่ป่าไม้รายลุ่มน้ำ ปี 2557
  • จำนวนพื้นที่ป่าไม้เมื่อเทียบกับพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำหลัก

 

อ่านออนไลน์

 


จัดทำโดย ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร