รู้จัก 6 ชนิดพันธุ์ย่อยของ ‘เสือโคร่ง’

รู้จัก 6 ชนิดพันธุ์ย่อยของ ‘เสือโคร่ง’

เสือโคร่งหรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นับว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ใหญ่ที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากการปรากฏตัวของเสือโคร่ง คือสิ่งที่บ่งหมายว่าป่าแห่งนั้นมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชพรรณและสัตว์กินพืชต่างๆ และหากระบบนิเวศเสียสมดุลดังกล่าวไป ชนิดพันธุ์ที่จะสูญหายไปเป็นอันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้นเสือโคร่ง จึงไม่น่าแปลกใจ หากเสือโคร่งจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ผืนป่า

เสือโคร่งที่พบในโลกปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 6 ชนิดพันธุ์ย่อย (subspecies) คือเสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ เสือโคร่งมลายู และสูญพันธุ์ไปแล้ว 3 ชนิดพันธุ์ย่อย คือเสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี

 

เสือโคร่งเบงกอล (Bengal tiger : Panthera tigris tigris)

เสือโคร่งเบงกอล (Bengal tiger : Panthera tigris tigris) นักวิทยาศาสตร์ประมาณการณ์ว่า ในปัจจุบัน เสือโคร่งเบงกอลในธรรมชาติเหลืออยู่เพียง 3,000 ตัว จากครั้งหนึ่งที่พวกมันเคยมีถิ่นที่อยู้อาศัยตั้งแต่ประเทศตุรกี ยาวไปถึงด้านตะวันออกของรัสเซีย และราวศตวรรษที่แล้ว ก่อนการล่าและการทำลายผืนป่าอย่างรุนแรง ในทวีปเอเชียมีเสือโคร่งเบงกอลกว่า 100,000 ตัว

ปัจจุบัน ลูกหลานของพวกมันอยู่อาศัยในผืนป่าเพียงส่วนเสี้ยวจากในอดีต กระจัดกระจายไปตามหย่อมเล็กหย่อมน้อย ลดโอกาสที่จะขยายพันธุ์ต่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชนิดพันธุ์เสือโคร่งอย่างเสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี จะสูญหายไปจากโลก เหลือไว้เพียงอีก 6 ชนิดพันธุ์ให้เราได้อ่านในบทความนี้

จากการศึกษาล่าสุด พบว่าใน 3 ช่วงชีวิตของเสือ (ราว 21 ปี ถึง 27 ปี) ประชากรของเจ้าแมวยักษ์ได้ลดลงราวร้อยละ 50 เช่นเดียวกับพื้นที่อยู่อาศัยของมันก็ลดลงครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน การลดลงของพื้นที่ และการล่าที่โหดร้ายเพื่อนำชิ้นส่วนไปทำยาแผนโบราณของประเทศจีน ทำให้อนาคตจของเสือโคร่งตามธรรมชาติค่อนข้างมืดมน

เกือบครึ่งของประชากรเสือโคร่งตามธรรมชาติคือชนิดพันธุ์เบงกอล (Panthera tigris tigris) หรือบางครั้งอาจเรียกว่าเสือโคร่งอินเดีย (Indian Tiger) เนื่องจากพวกมันส่วนใหญ่อยู่อาศัยในประเทศอินเดีย และกระจายตามผืนป่าในประเทศยบังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน และพม่า

หากมีพื้นที่และเหยื่อ เสือโคร่งเบงกอลสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าหรือทุ่งหญ้า และเสือโคร่งเบงกอลยังเป็นชนิดพันธุ์ย่อยชนิดพันธุ์เดียวที่สามารถอาศัยได้ในป่าชายเลน คือบนหมู่เกาะ Sundarbans บริเวณอ่าวเบงกอล

เสือโคร่งส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว แต่หากพื้นที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เราก็สามารถพบเสือโคร่งอาศัยอยู่ร่วมกันได้จำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศอินเดียคือพื้นที่ที่ดีที่สุดของพวกมัน เสือโคร่งเบงกอล คือชนิดพันธุ์ย่อยที่ชื่นชอบเหยื่อประเภทหมู กวาง และสัตว์กีบอื่นๆ ความอุดมสมบูรณ์ในอินเดีย สะท้อนได้จากการใช้พื้นที่ราว 100 ตารางกิโลเมตร ที่จะพบเสือโคร่งเบงกอลถึง 18 ตัวในเขตคุ้มครองเสือโคร่ง Corbett ประเทศอินเดีย ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าว สามารถรองรับเสือโคร่งสุมาตราได้เพียงตัวเดียว และสำหรับเสือโคร่งไซบีเรียตัวผู้หนึ่งตัว จำเป็นต้องใช้พื้นที่อยู่อาศัยถึง 1,000 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

 

เสือโคร่งไซบีเรีย (Siberian tigers: Panthera tigris altica)

เสือโคร่งไซบีเรีย (Siberian tigers: Panthera tigris altica) แม้จะได้ชื่อว่าเสือโคร่งไซบีเรีย แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันอยู่ในบริเวณผืนป่าที่หนาวเย็น ทางตะวันออกของรัสเซีย และนับว่าเป็นชนิดพันธุ์ของเสือโคร่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก เนื่องจากประชากรที่สำรวจได้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เหลือเพียงไม่กี่สิบตัว แต่ปัจจุบัน เสือโคร่งไซบีเรียสามารถพบในรัสเซียราว 400 ถึง 500 ตัว กระจายพันธุ์เล็กน้อยในประเทศจีน และบางทีอาจมีในประเทศเกาหลีเหนือ

การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งไซบีเรีย นับเป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และอาจเป็นความหวังใหม่ให้กับอนาคตของเสือโคร่ง เนื่องจากเสือโคร่งตัวเมีย 1 ตัว สามารถคลอดลูกได้ 15 ตัวในหนึ่งช่วงชีวิต และหากยังมีพื้นที่ให้สมาชิกใหม่ที่แข็งแรงสามารถอยู่อาศัยได้ การฟื้นฟูประชากรก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มนุษย์จะต้องมีข้อตกลงในการห้ามล่าอย่างเด็ดขาด

ข้อตกลงดังกล่าวสำเร็จได้ไม่ยากในกรณีของเสือโคร่งไซบีเรีย เนื่องจากพวกมันอยู่อาศัยในผืนป่าทางตอนเหนือที่แทบไม่มีมนุษย์อยู่อาศัย และมีพื้นที่มหาศาลที่ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผืนป่าทางทิศตะวันออกของรัสเซีย นับว่าเป็นชิ้นส่วนป่าที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่อาณาจักรแห่งนี้จะได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว

 

เสือโคร่งอินโดจีน (Indochinese tiger : Panthera tigris corbetti)

เสือโคร่งอินโดจีน (Indochinese tiger : Panthera tigris corbetti) การวิจัยทางพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่า เสือโคร่งอินโดจีนอาจเป็นบรรพบุรุษของเสือโคร่งทุกชนิดพันธุ์ ก่อนที่สายพันธุ์เสือโคร่งจะแตกแขนงเป็นชนิดพันธุ์ต่างๆ เมื่อราว 108,000 หรือ 72,000 ปีที่ผ่านมา

ราวปลายทศวรรษที่ 1990 เสือโคร่งอินโดจีนนับว่าสามารถพบเห็นได้ไม่ยากในพื้นที่ประเทศพม่า ไทย เวียดนาม ลาว ทางตอนใต้ของจีน และกัมพูชา แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง ปัจจุบัน รายงานของ IUCN ชี้ว่าเสือโคร่งอินโดจีนนับว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered status) โดยคาดว่าเหลืออยู่เพียง 300 ตัวตามธรรมชาติ

การล่าอย่างรุนแรงไม่ได้กระทบเพียงเสือโคร่งอินโดจีน แต่ยังส่งผลต่อประชากรของหมูป่า กวาง วัวแดง และสัตว์กีบขนาดใหญ่ชนิดอื่นที่เสือโคร่งมักล่าเพื่อเป็นอาหาร โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาคพื้นทวีปดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นถนน เขื่อน หรือเหมืองแร่ ต่างก็เป็นแรงกดดันต่อเจ้าแมวยักษ์ชนิดนี้ แต่นับว่ายังโชคดีที่พื้นที่ป่าดิบชื้นขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจเป็นความหวังให้กับการอนุรักษ์ หากมีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

 

เสือโคร่งมลายู (Malayan tiger : Panthera tigris jacksoni)

เสือโคร่งมลายู (Malayan tiger : Panthera tigris jacksoni) ปัจจุบันคาดว่าเหลือเสือโคร่งมลายูราว 500 ตัว ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรมลายู บริเวณประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย แต่พื้นที่ป่าในบริเวณดังกล่าวกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก เนื่องจากการแผ้วถางเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาที่ดินเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ จึงทำให้ในบริเวณดังกล่าว เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือโคร่ง เช่นการที่เสือโคร่งบุกเข้ามากินสัตว์เลี้ยงของชุมชน และราคาที่มันต้องจ่ายก็คือชีวิตของมัน

เสือโคร่งมลายูนั้นอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยที่คาบสมุทรมลายู ซึ่งได้มีการวิจัยว่าเสือโคร่งมลายู 2 ตัว จะใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 100 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากเหยื่อของพวกมันอย่างหมูป่า กวาง และอาหารอื่นๆ ของเสือโคร่งนั้นมีค่อนข้างน้อย แต่โชคดีที่เจ้าเสือโคร่งพวกนี้ยังมีคนที่คอยปกป้องพวกมัน เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียได้มีแผนการจะสร้างทางเชื่อมป่า เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายพันธุ์เสือ และเพื่อเพิ่มจำนวนของสัตว์ป่าให้เป็นสองเท่าในภายในปี ค.. 2022

เสือโคร่งมลายู นับว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับเสือโคร่งอินโดจีนทั้งสี ลาย และสัณฐานของกระโหลก จนเรียกว่ายากที่จะแยกด้วยตาเปล่า กระทั่งการศึกษาทางพันธุกรรมในปี ค.. 2004 ได้แยกเสือโคร่งมลายูออกจากเสือโคร่งอินโดจีน เป็นชนิดพันธุ์ย่อยใหม่ของโลก

 

เสือโคร่งสุมาตรา (Sumatran tiger : Panthera tigris sumatrae)

เสือโคร่งสุมาตรา (Sumatran tiger : Panthera tigris sumatrae) ในปี ค.. 1978 มีการสำรวจประชากรเสือโคร่งสุมาตรา บนเกาะสุมาตราได้ราว 1,000 ตัว แต่ปัจจุบัน คาดว่ามีเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการล่าที่รุนแรงมากขึ้น และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและกระดาษ ที่บุกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน

ในปี ค.. 2004 องค์กร TRAFFIC ได้รายงานว่า องค์กรนานาชาติอย่าง IUCN และ WWF ได้พยายามที่จะติดตามการล่าและค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า ทุกๆ ปี จะมีการล่าเสือโคร่งสุมาตราราว 40 ตัว

เสือโคร่งสุมาตรา นับเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือที่อยู่บนเกาะชนิดสุดท้าย ซึ่งในอดีตเกาะที่อยู่ไม่ไกลกันอย่างหมู่เกาะบาหลี และหมู่เกาะชวาในอินโดนีเซีย ต่างก็เคยเป็นที่อยู่อาศัยของ เสือโคร่งบาหลี (Panthera tigris balica) และเสือโคร่งชวา (Panthera tigris sondaica) ทั้งสองชนิดพันธุ์นั้นสูญพันธุ์ในราวศตวรรษที่ 20

และจากประสบการณ์ในอดีต ทำให้นักอนุรักษ์ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อรักษาเสือโคร่งสุมาตราไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์เช่นเดียวกับญาติของมัน

 

เสือโคร่งจีนใต้ (South China tiger : Panthera tigris amoyensis)

เสือโคร่งจีนใต้ (South China tiger : Panthera tigris amoyensis) อาจเรียกได้ว่าเวลาของเสือโคร่งจีนใต้ได้หมดลงแล้ว เพราะนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ก็ไม่มีใครสามารถบันทึกพวกมันตามธรรมชาติได้อีก แม้ว่าอาจจะมีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่คาดว่าชนิดพันธุ์ย่อยนี้อาจสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้วก็เป็นได้ แม้ว่าในทศวรรษที่ 1950 มีการประมาณการว่าประชากรของพวกมันมีอยู่ราว 4,000 ตัว (อาจเป็นตัวเลขที่มากเกินความเป็นจริง) ซึ่งนับได้ว่ามีจำนวนมากกว่าประชากรเสือที่หลงเหลืออยู่บนโลกปัจจุบัน

เสือโคร่งจีนใต้ เป็นเหยื่อของการพัฒนาอย่างทำลายล้างจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศจีน (China’s Great Leap Forward) ในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ซึ่งการมาถึงของกฎหมายคุ้มครองนั้นค่อนข้างสายไป หลังจากที่ได้รับการประกาศให้ห้ามล่าในปี ค.. 1979 รวมทั้งออกมาตรการเพื่อการอนุรักษ์อีกมากมายในทศวรรษ 1990 แต่น่าเสียดาย ที่เมื่อเวลานั้นประชาการเสือโคร่งก็ลดลงอย่างไม่อาจฟื้นฟู

นักอนุรักษ์บางคนมองว่า พื้นที่คุ้มครองที่ไม่มีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ยังมีไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งขึ้นมาใหม่ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นพ้องกัน เพราะกลุ่ม ‘Save China’s Tigers’ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าของรัฐ ได้ดำเนินโครงการที่หลายคนไม่เห็นด้วยคือ ‘Rewilding’ ที่จะนำชนิดพันธุ์ที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นไปปล่อยไว้ในเขตอนุรักษ์ทางตอนใต้ของแอฟริกา เพื่อเรียนรู้การเอาตัวรอดและเพิ่มจำนวนประชากร ก่อนที่จะนำกลับมาปล่อยในป่าของประเทศจีน ในขณะที่นักอนุรักษ์หลายกลุ่มมองว่าเป็นการกระทำที่สิ้นหวัง แต่โครงการก็ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งในปี ค.. 2012 มีลูกเสือโคร่งราว 12 ตัวได้รับการเพาะเลี้ยงเพื่อโครงการนี้



ถอดความจาก
Pictures: Tiger Subspecies – http://www.nationalgeographic.com/animals/photos/tiger-subspecies-photos/
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์