เขาไกรลาส – ป่าหิมพานต์ : ต้นกำเนิดแห่งสายน้ำอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านบนชมพูทวีป

เขาไกรลาส – ป่าหิมพานต์ : ต้นกำเนิดแห่งสายน้ำอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านบนชมพูทวีป

‘ป่าหิมพานต์’ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่อยู่ในจินตนาการของมนุษย์มานับตั้งแต่โบราณ ซึ่งถูกสืบทอดแนวคิดทางความเชื่อผ่านงานวรรณกรรม งานศิลปะ และตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเล่าให้ฟังกลายเป็นนิทานพื้นบ้าน ด้วยพื้นฐานของเรื่องราวที่น่าสนใจของป่าอัศจรรย์อันเชื่อกันว่า มีอยู่เพียงแต่ในมโนคติ หลายคนมักตั้งคำถามในหัวว่า ดินแดนลี้ลับในวรรณคดีแห่งนี้ ‘มีอยู่จริงหรือไม่’ แล้วถ้ามีจริงจะอยู่ที่แห่งใดในโลกใบนี้

หากพิจารณาโดยการใช้หลักทางอักษรศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถานระบุว่า ‘หิมพานต์’ มาจากคำภาษาบาลีว่า หิมวนฺต (อ่านว่า หิ-มะ-วัน-ตะ) แปลว่า ซึ่งมีหิมะมาก อันหมายถึง สถานที่ที่มีหิมะมาก  

ในขณะที่ ‘ไตรภูมิพระร่วง’ หรือ ‘เตภูมิกถา’ วรรณกรรมทางพุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย พระราชนิพนธ์โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งอาณาจักรสุโขทัย ได้อธิบายว่า หิมพานต์ เป็นชื่อของภูเขาใหญ่และเป็นชื่อของป่าใหญ่ ซึ่งเป็นพงไพรสถิตของเหล่าบรรดาเทพยดาบางพวก รวมถึงฤๅษี นักสิทธ์ และวิทยาธร ตลอดจนสัตว์และพืชพันธุ์ที่มีลักษณะแปลกตา ต่างจากที่มีอยู่ในโลกมนุษย์

Photo : www.differsheet.com

สุดหล้าฟ้าป่าหิมพานต์

แดนหิมพานต์แห่งนี้ มีสถานที่สำคัญอันถือเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง ‘ความเชื่อ’ กับ ‘หลักการทางภูมิศาสตร์’ คือ ‘เขาไกรลาส’ ซึ่งศาสนาพราหมณ์ฮินดูเชื่อว่า เป็นเขตที่ประทับของพระศิวะ หรือพระอิศวร 

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักเทวตำนานของชาวชมพูทวีปแห่งนี้ มีอยู่จริงในแผนที่โลกและถือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นเทือกเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะตั้งอยู่ในเขตทวีปเอเซีย ที่แยกอนุทวีปอินเดียทางทิศใต้ออกจากที่ราบสูงทิเบตทางทิศเหนือ มียอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือยอดเขาเอเวอเรสต์ เป็นมงกุฎของบรมบรรพต

นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 ประจำเดือน มกราคม 2558 ได้อธิบายเขาไกรลาส ตามหลักทางภูมิศาสตร์ว่า เขาไกรลาส (Mount Kailash, Mount Kailas) มีชื่อภาษาทิเบตว่า ‘คัง-ติเซ’ (Gang Tise) แปลว่า ธารน้ำแข็ง เป็นยอดเขาหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกันกับที่ตั้งของยอดเขาศักกะมารตาหรือเอฟเวอเรสต์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตอนเหนือของยอดเขานันทาเทวีราว 100 ไมล์ ถ้าจะเปิดแผนที่ดู ต้องหาชื่อที่เป็นทางการว่า กังติ-สู-ชาน (Kangti-ssu-shan)

เทือกเขาในวรรณคดีที่มีอายุราว 50 ล้านปี แห่งนี้ มีความสูงถึง 22,020 ฟุต สูงเป็นลำดับที่ 19 ในบรรดายอดเขาทั้งหมดของเทือกเขาหิมาลัย และมีความสูงเป็นลำดับที่ 32 ของโลก ปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งตลอดทั้งปี

Photo : wallpapercave.com

ด้วยลักษณะภายนอกที่โดดเด่นของหิมะสีขาวโพลนเมื่อต้องแสงแดด ทำให้บรมบรรพตแห่งนี้ดูประดุจแผ่นเงินหรือหน้าผาสีขาว จนมีสมญาว่า ‘ภูเขาสีเงิน’ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของสถานที่แห่งนี้คือ ไกรลาส หรือ ไกลาส อันเป็นคำวิเศษณ์ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ‘สีเงินยวง’ นั่นเอง

หากพูดถึงความสำคัญของพื้นที่ในแดนหิมพานต์ (ตามความเชื่อ) คงหนีไม่พ้นข้อมูลทางวิชาการที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า เชิงเขาไกรลาส ถือเป็นต้นกำเนิดของมหานทีสายสำคัญ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านชีวิต อันได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งไหลไปทางภาคกลางของทิเบต ลงไปสู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย แม่น้ำสินธุ ที่ไหลผ่านประเทศปากีสถาน แม่น้ำสัตเลจ ซึ่งไหลรวมกับแม่น้ำสินธุ แม่น้ำการ์ลี ซึ่งได้กลายเป็นแม่น้ำคงคา เส้นเลือดใหญ่ของชาวชมพูทวีป

นอกจากธาราสายต่าง ๆ ที่ไหลมาจากต้นน้ำธรรมชาติกำเนิดเกิดจาก การละลายของหิมะและน้ำแข็งในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในแดนหิมพานต์แห่งนี้ ได้สร้างสมดุลให้กับธรรมชาติและหล่อเลี้ยงผู้คนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ สองข้างฟากฝั่งที่ไหลผ่านได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมที่สำคัญของโลกอย่างวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และแม่น้ำคงคา ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี 

ชลธีแห่งศรัทธากับปัญหามลพิษทางทะเล

เมื่อการเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน สายน้ำที่อุดมไปด้วยความเชื่อและวัฒนธรรม ที่ปัจจุบันถูกใช้สอยในการทำพิธีกรรมซึ่งเป็นไปตามครรลองของชีวิต รวมไปถึงความก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม

มีรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีไทย ว่าด้วยเรื่อง ‘แม่น้ำคงคาที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก’ มีการตั้งคำถามว่า แม่น้ำคงคาอันมีสภาพใสสะอาดขณะที่ไหลลงมาจากเทือกเขาหิมาลัย เหตุไฉนถึงกลายสายน้ำที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก 

บีบีซีไทยได้ให้เหตุผลว่า เกิดจากการที่น้ำเสียไม่ได้ถูกบำบัด รวมไปถึงของเสียจากภาคอุตสาหกรรม และจำนวนพลาสติกกว่าครึ่งล้านตัน ที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำสายนี้ในแต่ละปี

Photo : www.sciencemag.org

“มีคำพูดโบราณบอกว่า แม่น้ำคงคา เป็นของทุกคน คุณมีอิสระจะทำอะไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ โยนอะไรก็ได้ที่อยากโยน เผาศพคนตาย อาบน้ำ ซักล้าง คุณจะได้รับการไถ่บาป เราไม่มีสิทธิ์ที่จะสร้างมลพิษในแม่น้ำคงคาด้วยวิธีนี้ เรากำลังขาดความรับผิดชอบ” สันเจย์ ตริปาที ชาวเมืองพาราณสี กล่าวกับบีบีซี 

ในขณะที่ สำนักข่าวอิศราได้มีการเผยแผ่สารคดีเชิงข่าวเรื่อง แม่น้ำในเอเชีย 8 ใน 10 แห่ง ต้นธาร ‘ขยะพลาสติก’ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 โดยสามารถสรุปเป็นใจความได้ว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก 

พบตัวเลขมากกว่าปีละ 8 ล้านตัน ซึ่งคาดกันว่า หากมนุษย์ยังก่อมลพิษในอัตราเช่นนี้ ภายในปี 2050  ท้องทะเลที่สวยงามอาจมีพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา ทั้งนี้ แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำคงคา ถือเป็น 2 มหานทีที่ติดอันดับมลพิษแม่น้ำที่มีผลพิษสูงสุดด้วย

อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดใหญ่อันมีต้นกำเนิดมาจากเขาไกลลาส ยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ของอินเดีย และแนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากรที่สูงขึ้นตลอดเวลา ‘สายน้ำทิพย์’ ที่แปรเปลี่ยนเป็น ‘ชลธีมลพิษ’ จะคืนคงความสุกใสเหมือนดั่งเฉกเช่นต้นน้ำที่ไหลหลากจากเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่

 


ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก นิตยสารธรรมลีลา สำนักข่าวบีบีซีไทย และสำนักข่าวอิศรา
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร