ปริญญา ผดุงถิ่น – ภาพถ่ายเสือกระต่ายบอกอะไรกับเรา

ปริญญา ผดุงถิ่น – ภาพถ่ายเสือกระต่ายบอกอะไรกับเรา

สัมภาษณ์แบบ Exclusive ปริญญา ผดุงถิ่น หรือพี่ปุ๋ย ช่างภาพสัตว์ป่าชื่อดังในวงการถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติ เจ้าของผลงาน ‘ภาพเสือกระต่าย’ สัตว์ป่าหายากที่ไม่มีภาพถ่ายปรากฎให้เห็นมานาน

หลังภาพเสือกระต่ายได้รับการเผยแพร่บนเฟสบุ๊ค ปริญญา ผดุงถิ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ภาพดังกล่าวมียอดกดไลค์ถึง 6,600 คน กดแชร์ภาพเกือบ 2,000 ครั้ง และมีการนำไปแถลงข่าวการค้นพบอย่างเป็นทางการโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชทำให้ภาพเสือกระต่ายของเขาได้รับการเผยแพร่ไปทางหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ อีกมากมาย

และนี่เป็นอีกครั้งที่เราภาพถ่ายเสือกระต่ายมานำเสนอ พร้อมเหตุผลว่าทำไมภาพนี่ถึงกลายเป็นกระแสสนใจของสาธารณชนเป็นจำนวนมาก

 

PHOTO ปริญญา ผดุงถิ่น

 

“เท้าความถึง ‘เสือกระต่าย’ ก่อนเข้าสู่การสัมภาษณ์”

เสือกระต่าย หรือแมวป่า เป็นสัตว์วงศ์ เฟลิดี (Felidae) ที่เป็นวงศ์ของเสือกับแมว แต่แยกย่อยในส่วนของสกุล (Genus) เฟลิส (Felis) สกุลของแมว โดยมีรูปร่างปราดเปรียว ขายาวโย่งเก้งก้างกว่าแมวบ้าน และพี่ปุ๋ยเล่าว่าเสือกระต่ายจะมีมาร์คขีดดำที่โคนขาหน้าเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งจากที่ออกข่าวมานั้นมีด้วยกันอยู่สองกระแส บ้างว่าสาบสูญไปนานกว่า 40 ปี (รายงานสัตว์ป่าเมืองไทย โดย นพ.บุญส่ง เลขะกุล ปี 2519) กระทั่ง 100 ปีบ้าง (รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง กล่าวในงานเสวนาเสือกระต่าย จากการสืบค้นข้อมูล เสือกระต่ายถูกพบอย่างเป็นทางการล่าสุด ปี 2458) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น 40 ปี หรือ 100 ปี ก็เรียกได้ว่าแทบครึ่งชีวิตหรือชั่วอายุคนคนหนึ่งเลยทีเดียว จนเราได้มีโอกาสเห็นภาพอย่างเป็นทางการจากพี่ปุ๋ยทั้งตัวผู้และตัวเมียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้

 

“ทำไมภาพถ่ายสัตว์ป่าจึงกลายเป็นข่าวดัง”

ผมมองว่าคนไทยอาจขาดข่าวดีในเรื่องของสัตว์ป่า ส่วนมากมีแต่ข่าวร้าย เช่น ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวใหญ่เรื่องพบเสือโคร่งบุญเหลือ (รหัส HKT178) หลังถูกยิงที่ อ.เถิน จ.ลำปาง และตายขณะพาไปรักษา หรือวัวแดงขาแข้งถูกยิง นี่ถือเป็นข่าวใหญ่เหมือนกันแต่เป็นข่าวในเชิงลบ จึงแพ้ข่าวเชิงบวกอย่างข่าวการถ่ายภาพเสือกระต่าย ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

รวมเข้ากับ ‘ออร่า’ ของสัตว์วงศ์เสือและแมวที่มีเสน่ห์ ศักดิ์ศรี และมีบารมีประจำตัว มากกว่าสัตว์กินพืช แม้จะเทียบกับสัตว์นักล่าด้วยกันอย่าง ชะมด หรืออีเห็นน้ำที่เป็นนักล่าเหมือนกัน แต่ความรู้สึกของคนชมและคนถ่ายภาพต่างจะกันโดยอัตโนมัติ จึงขอใช้คำว่ามีออร่าที่สูงกว่าสัตว์วงศ์อื่น

ผมคิดว่าหากจะมีข่าวที่สามารถฮือฮาในระดับไล่เลี่ยกันได้อีกครั้งในเมืองไทย น่าจะเป็นการการถ่ายภาพสัตว์อย่างกูปรี แต่เป็นไปได้ยากมากที่จะมีการตกสำรวจ นอกจากนี้ผมยังนึกไม่ออกว่าภาพถ่ายสัตว์อะไรที่จะเป็นข่าวครึกโครมได้เท่านี้

 

PHOTO ปริญญา ผดุงถิ่น

 

“การถ่ายภาพสัตว์ป่าที่เป็นมากกว่าภาพถ่าย”

ถ้าพูดถึงมุมมองคนชมภาพ ที่ได้ยินคอมเม้นท์บ่อยๆ คือ มันสื่อให้เรารู้สึกว่าป่าบ้านเรามีความสมบูรณ์นะ สัตว์ป่ายังมีอยู่นะ ภาพที่สื่อไปถึงประชาชนก็หวังว่าจะเกิดความรักขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งบางคนอาจรู้สึก แต่บางคนอาจไม่รู้สึกเลยก็เป็นเรื่องตามปัจเจกบุคคลไป

ส่วนมุมมองของช่างภาพ ให้พูดตรงๆ การดิ้นรนไปถ่ายภาพสัตว์ป่า มันถือเป็นการสนองตัณหา (Passion) ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้นแหละ (พี่ปุ๋ยยอมรับอย่างซื่อตรงพร้อมพูดกลั้วหัวเราะ) ทั้งดิ้นรนซื้ออุปกรณ์แพงๆ ไปเหนื่อยลำบาก เวลาเราไปถ่าย ยิ่งเจอสัตว์หายากมันยิ่งสนุกกว่าสัตว์หาง่าย ผมเชื่อว่าช่างภาพเป็นกันทุกคน ขึ้นอยู่กับคุณจะยอมรับหรือไม่

อย่างผมเองผมเริ่มจากการเป็นนักดูนกมาก่อน การส่องเจอนกหายากมันมีความสุขกว่าการส่องเจอนกหาง่าย ที่นี้หากช่างภาพสัตว์ป่าไม่ยึดติดกับสิ่งนี้ คุณไม่ต้องไปดิ้นรนจริงไหม ทุกคนพยายามหาสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ได้ตัวนี้ก็ไปตัวนั้น อาจกลับมาถ่ายสัตว์ตัวเดิมซ้ำแต่ต้องได้ภาพที่ดีขึ้น แสงที่ดีกว่า สิ่งแวดล้อมที่สวยกว่าเดิม เมื่อถ่ายภาพมาแล้วการนำไปสู่โลกภายนอกมันก็เป็นเรื่องของแต่ละคนไปว่าจะมีวิธีการนำเสนออย่างไร

แต่นอกจากการสนองตัณหา ความมันส์ส่วนตัวในการถ่ายภาพสัตว์ป่าแล้ว ผมเชื่อว่าจุดหมายปลายทางเดียวกันก็คือการสร้างความประทับใจต่อสัตว์หรือสมบัติทางธรรมชาติของไทย ให้เกิดความรู้สึกรัก หวงแหน หากก่อเกิดความรู้สึกเหล่านี้ได้ ภาพแต่ละภาพก็จะเป็นสิ่งที่มากกว่าภาพถ่ายเพราะมันสื่อสารไปพร้อมการอนุรักษ์

 

“พูดถึงการชี้เป้ากรณีของเสือกระต่าย”

ผมเคยถูกด่าว่าเป็นคนชี้เป้า แต่ผมก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำแบบนั้น อันที่จริงประเด็นเรื่องสถานที่ ผมรู้เพียงว่ามันเป็นป่าอมก๋อย แต่ไม่รู้ว่าอยู่จุดไหน มีแต่เจ้าหน้าที่ที่รู้ ผมจะตอบตลอดว่าไม่รู้อยู่บริเวณไหน มองไปทางไหนสภาพป่าเหมือนกันหมด ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษากันไป

 

“ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่ามันเป็นดาบสองคม”

ถือว่าเป็นดาบสองคม เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนเห็นแล้วอยากล่า บางคนก็อยากเลี้ยงบ้าง เป็นสิ่งที่พูดยาก แต่อยากให้คนส่วนมากเกิดความประทับใจ ช่วยกันดูแลปกป้องทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติก็จะดีที่สุด ไม่อย่างนั้นช่างภาพก็มีความสุขอยู่คนเดียว อยากให้คนอื่นได้ปลื้มกับทรัพยากรธรรมชาติของเราบ้าง ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะไม่มีอุปกรณ์ รวมถึงไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้

ผมคิดว่าการถ่ายภาพเสือกระต่ายมันประสบความสำเร็จ เพราะหากไม่มีรูปที่ชัดเจน การแถลงข่าวก็อาจไม่ได้รับความสนใจ หรือหากมีเพียงภาพรอยตีน รึภาพจากกล้องอินฟาเรดแฟลชของนักวิจัยที่อาจเห็นไม่ชัดเจนนัก เมื่อเป็นภาพที่ชัดเจนมันก็สิ้นข้อสงสัย สามารถเห็นกระทั่งรายละเอียดที่มีตำหนิขีดใต้ตาที่แตกต่างกับเสือกระต่ายที่อื่นซึ่งคาดว่าอาจเป็นสายพันธุ์ย่อย

การแถลงการณ์ค้นพบเสือกระต่ายที่เป็นสัตว์หายาก ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เขาทราบถึงความเสี่ยง แต่ตัดสินใจแถลงข่าวดีออกไป เพื่อให้ทราบว่าเมืองไทยยังสามารถรักษาพื้นที่และยังมีสัตว์หายากอาศัยอยู่ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ คุณธัญญา เนติธรรมกุล จึงเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในพื้นที่ รวมถึงมาตรการการดูแลป้องกันไว้ก่อน สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือการสร้างหน่วยเพิ่ม การเพิ่มจุดสกัดถึง 2 จุด ซึ่งหากไม่มีจุดนี้ผมก็ไม่สบายใจ

 

PHOTO ปริญญา ผดุงถิ่น

 

“กลับมาที่การถ่ายภาพ เทคนิคการถ่ายสัตว์ป่าติดแสงดาวมาอย่างไร”

ยอมรับเลยว่าตอนนี้ผมชอบเทคนิคนี้มากที่สุด การตั้งกล้อง Camera Trap หรือ กล้องดักถ่ายภาพที่นำกล้อง DSLR มาประยุกต์ ไม่ว่าจะติดดาว พระจันทร์ หรืออวกาศทั้งหลายที่เป็นสิ่งแวดล้อมในเวลากลางคืน มันน่าประทับใจกว่าการถ่ายสัตว์ป่าเวลากลางคืนที่เห็นเพียงฉากหลังสีดำ

เทคนิคการถ่ายแบบนี้ทำให้เห็นบรรยากาศของป่าเวลากลางคืนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นขั้นสูงของกล้องดักถ่ายภาพ ที่ทั่วโลกเริ่มเล่นกันมานานแล้ว ส่วนตัวคิดว่าผมเป็นคนบุกเบิกในเมืองไทยเพราะยังไม่เคยเห็นใครเคยถ่ายแบบนี้

ผมได้แรงบันดาลภาพถ่ายของช่างภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกจากต่างประเทศ จอร์จ สเตนเมทซ์ (George Steinmetz) ที่ถ่ายภาพเสือพูม่า หรือสิงโตภูเขาที่ทะเลทรายแห่งหนึ่ง ประมาณปี 2548

ด้วยความไม่รู้ ผมเถียงเลยว่ามันเป็นไปไม่ได้ คุณจะเอาดาวมาได้อย่างไร มันไม่มีใครสอนเทคนิคแบบนี้ เหมือนเส้นผมบังภูเขา จนกระทั่งผมคิดตามหลักเหตุผล สอบถามจากกลุ่มที่ถ่ายดาวว่าเขาถ่ายกันอย่างไร แล้วนำมาผสมผสาน และผลลัพธ์ที่ได้มันออกมาแล้วมันใช่ ถ้ามันถูกต้องอย่างไรดาวก็ต้องปรากฏ (ถ้าเป็นคืนที่มีดาวอย่างไรดาวก็ต้องปรากฏอยู่ในภาพ) แต่มันมีข้อเสียคือ มันไวแสงเกินไปสำหรับภาพกลางวัน จึงทำให้การตั้งกล้องด้วยเทคนิคนี้เหมาะสำหรับภาพถ่ายกลางคืน

ในต่างประเทศเขาถ่ายกันมานานตั้งแต่สมัยยุคกล้องดิจิตอลเข้ามา ต้องยอมรับว่าพวกเขาก้าวหน้ามาก คิดค้นกันมาก่อน ในภาพที่ จอร์จ สเตนเมทซ์ ทดลองถ่ายกับตัวเองติดทางช้างเผือกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง แต่ภาพสิงโตภูเขาที่อยู่ในภาพมีบรรยากาศกลางคืนและแสงดาว เนื่องจากไม่ใช่เวลาของทางช้างเผือกจึงน่าเสียดาย ผมเห็นความพยายาม ความตั้งใจของเขาที่จะให้ได้ภาพที่สวยที่สุดหรือดีที่สุด ซึ่งในขณะนั้นเป็นสิ่งที่เมืองไทยยังไม่มีการถ่ายภาพสัตว์ป่าด้วยเทคนิคเช่นนี้

 

เมื่อเทียบกันแล้ว เสือกระต่ายคงไม่ต่างไปจากดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน แม้เรามองไม่เห็นมันด้วยตาเปล่าในเวลากลางวัน แต่ภาพถ่ายที่สื่อสารออกมาทำให้เราทราบโดยทั่วกันว่ามันมีอยู่ในผืนป่าจริงๆ ทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าเรื่องน้อยใหญ่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรอนุรักษ์ปกปักษ์รักษา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันรักสัตว์ป่า รักท้องฟ้า รักธรรมชาติที่สำคัญเหล่านี้ ให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน เหมือนดวงดาวที่ยังคงทอแสงสุกสกาวอยู่บนฟากฟ้า

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ปริญญา ผดุงถิ่น