สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อกรณีโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยพูดถึงมีแนวคิดเพิ่มการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบคล้ายรถกอล์ฟ/รถรางไฟฟ้าขนาดเล็กบนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดิน เพื่อให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ และลดผลกระทบพื้นที่ให้มากที่สุด และกล่าวถึงการท่องเที่ยวคล้ายนั่งรถซาฟารีโซนที่มีช้างป่าออกมา ในอนาคตคิดว่าต้องทำแบบซาฟารี คือให้ขึ้นรถไปเที่ยว
จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวถึงแม้จะระบุว่าเป็นเพียงแค่แนวคิด แต่เป็นการตอกย้ำสิ่งที่นักอนุรักษ์เป็นห่วงและกังวลมาตลอดคือหากมีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะไม่จบแค่การสร้างกระเช้าแต่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน เพราะจุดท่องเที่ยวบนภูกระดึงแต่ละจุดมีระยะทางค่อนข้างไกล
ความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งบนภูกระดึงและพื้นที่โดยรอบได้นานเพียงใด เมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นจากความสะดวกในการขึ้นลง และการรบกวนระบบนิเวศในพื้นที่ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะสามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศได้หรือไม่
อีกทั้งอุทยานแห่งชาติภูกระดึงนอกจากจะเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองของไทย ในปี 2566 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน เพราะพื้นที่ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว ด้วยความพิเศษของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน
ดังนั้น การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และสัตว์ป่าเป็นตัวตั้ง อาจนำไปสู่สถานภาพของพื้นที่ที่ลดคุณค่าลงตามที่ได้นำเรียนข้างต้น จนอาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเพิกถอนเพื่อเหตุผลแห่งการพัฒนาในที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอยืนยันคัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อคงคุณค่าการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ต่อไป
เนื้อหาที่อ้างถึง