ความสำคัญของเสือโคร่ง และทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์

ความสำคัญของเสือโคร่ง และทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์

เรื่อง ขอชี้แจงข้อมูลความสำคัญของเสือโคร่งและนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์
เรียน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

สืบเนื่องจากพาดหัวข่าวออนไลน์เดลินิวส์ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามหัวข้อ “รมว.เกษตร เหน็บ! เอ็นจีโอ ต้านแม่วงก์กลัวเสือสูญพันธุ์” (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้เข้าใจว่าท่านยังขาดข้อมูลทางด้านระบบนิเวศวิทยาของผืนป่าแม่วงก์ที่เชื่อมโยงความหลากหลายของระบบนิเวศทั้งผืนป่าตะวันตก คุณค่าของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และป่าที่ราบริมน้ำที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และกลไกของระบบนิเวศ เสือโคร่งเป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าหลักที่อยู่บนสุดของสายใยอาหาร (food web) เพราะฉะนั้นป่าแห่งใดที่มีเสือโคร่งดำรงอยู่ จึงแสดงให้เห็นว่าผืนป่าแห่งนั้นมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งมากเพียงพอ

นอกจากนี้เสือโคร่งยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เสือโคร่งจึงสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทำให้น้ำท่วมพื้นที่อาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่เป็นบริเวณป่าที่ราบต่ำริมน้ำที่เหลืออยู่อีกเพียงแห่งเดียว นอกจากสองฝั่งห้วยขาแข้งในผืนป่าตะวันตก จะมีผลกระทบต่อการกระจายพันธุ์ของเสือ และสัตว์ป่าอื่นๆ อย่างแน่นอน นอกจากนี้การเกิดเขื่อนแห่งนี้ยังจะเป็นช่องทางให้เกิดการล่าสัตว์ป่าตลอดเวลาที่ก่อสร้าง และหลังจากที่สร้างแล้วจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการอนุรักษ์ป่าทั่วป่าตะวันตกไม่เฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2)

และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่สร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในรูปแบบอื่นได้หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม

จึงใคร่ของให้ท่านพิจารณาการจัดการน้ำทางเลือกเพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการน้ำที่มีปัญหาเรื้อรัง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนในการเป็นโมเดลของประเทศต่อไป ซึ่งทางเลือกดังกล่าวจะได้จำนวนปริมาณน้ำที่ใกล้เคียง กล่าวคือ กรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะได้น้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ ส่วนทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะได้น้ำ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ และงบประมาณในการจัดทำโครงการดังกล่าวอาจถูกกว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มาก (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 และ 4) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา

โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ประสานจัดส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอเข้าพบพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูลโดยละเอียด ประสานความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณษและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถือ
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
24 มีนาคม 2559

 

เอกสารแนบ

1. ภาพข่าวเดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 21 มีนาคม 2559 หัวข้อ “รมว.เกษตร เหน็บ! เอ็นจีโอ ต้านแม่วงก์กลัวเสือสูญพันธุ์”

“รมว.เกษตร”เหน็บ!เอ็นจีโอ ต้านแม่วงก์กลัวเสือสูญพันธุ์ เข้าถึงได้ที่ https://www.dailynews.co.th/politics/386832

2. แผ่นบันทึกเทปรายการธรรมชาติมาหานคร ตอน เสือแห่งป่าแม่วงก์

3. เอกสารทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่สร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ดาวน์โหลดที่นี่

4. แผนที่ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์


 

จดหมายฉบับนี้ ดำเนินการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559