ก่อนจะถึง 30 ปี : ดาบลุงหม่องเปตอนที่ 3

ก่อนจะถึง 30 ปี : ดาบลุงหม่องเปตอนที่ 3

หลังจากอาหารมื้อเช้า ที่ต้องมีน้ำพริกกะเหรี่ยง และผักต้ม เป็นกับข้าวหลักที่ครัวลุงหม่องเป บ้านทิไล่ป้า ผมรื้อสัมภาระในเป้ใบใหญ่ที่อุตสาห์ฝ่าฟันแบกขึ้นหลังมาถึงจนได้ พบว่าเสื้อผ้าเกือบทั้งหมดยังสะอาดไม่ได้ใช้งานแม้เดินทางผ่านมาสองวัน อุปกรณ์สารพัดหนักอึ้งแต่ไร้ประโยชน์ มีแต่เป็นสิ่งถ่วงให้ผมเดินช้าและบาดเจ็บ โครงเหล็กของเป้เบี้ยวๆ ขันน็อตไม่แน่นทำให้เสียสมดุล และดันหลังผมจนระบม ผมหยิบย่ามใบย่อมๆ ที่ติดมาด้วยออกมาจากก้นเป้ ใส่แผนที่ ผ้าขาวม้าผืนเล็กและมีดเดินป่า เปลี่ยนชุดเป็นกางเกงขาสั้นคลุมเข่า เสื้อยืดง่ายๆ หยิบเป้สะพายไปใส่รองเท้าผ้าใบสมทบกับพี่หลงและลุงหม่องเปที่รออยู่ลานบ้าน เมื่อไม่มีสัมภาระผมเบาสบายผิดกับเมื่อวาน และเมื่อเปลี่ยนกางเกงยีนส์หนาออกไป ความเจ็บแสบที่ขาหนีบก็บรรเทาไปมาก แต่อาการกล้ามเนื้อฉีกขาดที่โคนขา ก็ทำให้จังหวะการเดินตามลุงไปดูไร่ข้าว กระย่องกระแย่งน่าสมเพชเวทนาไม่น้อย เมื่อเดินสวนกับชาวบ้านที่แข็งแรงเดินสวนไปมาในหมู่บ้านบนทางขึ้นลงเนินดิน และข้ามสะพานไม้ไผ่ลำเดียวข้ามทางน้ำหลายสายในหมู่บ้าน

ลุงค่อยๆ พาผมเดินออกจากหมู่บ้านเข้าทางป่าไปโผล่กลางไร่ข้าวที่มีกระท่อมไม้ไผ่เล็กๆ ไว้เฝ้าไร่ เมื่อเกือบเที่ยง ตลอดทางตอนเช้าลุงพาดูพื้นที่ตามประเพณีของคนกระเหรี่ยงที่มีข้อห้ามตามความเชื่อว่าไม่ควรเปิดป่าทำไร่ เช่นพื้นที่ที่มีน้ำซึมขึ้นมาเป็นตาน้ำ หรือที่ผมยังจำได้ถึงคำศัพท์ภาษากะเหรี่ยงว่า “ทิพุผ่อง” พื้นที่อื่นๆ เช่นพื้นที่ลาดชันบนยอดเนินเขาเป็นหลังเต่า บริเวณที่มีทางน้ำสองสายมาบรรจบกัน ระหว่างนั้นก็ชวนดูพื้นที่ไร่ซากที่พักดินไปหลายปีก่อนที่ดินจะอุดมสมบูรณ์พอที่จะมาทำไร่ใหม่ หลายครั้งลุงชี้ให้ดูร่องรอยที่สัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์ ลุงหม่องเปชี้ให้ดูหลุมหญ้าที่กวางมาใช้นอน และร่องรอยการกัดกินยอดไม้ อย่างที่ผมไม่มีทางสังเกตเห็นได้เอง ผมจำไม่ได้ว่าพอถึงกระท่อมกลางไร่แห่งหนึ่งลุงขอตัวหลบไปไหน ให้ผมกับพี่หลงขิ่งโพ่ไปขออาศัยพักกลางวันที่กระท่อมเฝ้าไร่เก่าๆ แห่งหนึ่ง

พี่หลงบอกว่า เราไม่ได้ห่อข้าวมากิน ส่วนใหญ่คนกะเหรี่ยงกินข้าวแค่สองมื้อ ตอนเช้าและบ่ายๆ เย็นๆ กลางวันก็หาผลหมากรากไม้ป่ากินประทังหิว อาศัยกินตอนเช้ามากๆ ไว้ก่อน แต่ถ้าหิวก็มีข้าวสารหุงกินง่ายๆ ตามกระท่อมเฝ้าไร่ คนไม่รู้จักกันก็ไปขอกินกันได้หมด ว่าแล้วแกก็เดินนำตะโกนโหวกเหวก ไปทางกระท่อมหลังเล็ก

ผมเดินตามพี่หลงไปถึงพบกระท่อมหลังคาเปิด มีบันไดไม้ไผ่พาดไว้ ข้างบนเห็นเด็กผู้ชายเกือบวัยรุ่นสองคนนั่งพักอยู่ มองสภาพแล้วก็รู้ว่ามาช่วยพ่อแม่ทำไร่ และมาพักผ่อน พี่หลงคงอยากให้ผมได้กินข้าวกลางวัน เห็นคุยภาษากะเหรี่ยงกับเด็กหนุ่มสองคนหัวเราะกันลั่น คนหนึ่งกุลีกุจอก่อไฟ อีกคนกระโดดลงบันไดหายเข้าไปในป่า พี่หลงค้นกระบุงข้างๆ เส้าไฟ ได้กระเทียมสองสามกลีบ และกระปุกเกลือเม็ด ยกขึ้นมาโชว์ผม แล้วแกก็ลงบันไดไปข้างป่า ไม่นานก็ได้พริกสดมากำใหญ่

เด็กหนุ่มก่อไฟและหุงข้าว ระหว่างนั้นอีกคนกลับมาพร้อมหัวปลีกล้วยป่าหัวใหญ่ สองคนช่วยกันต้มหัวปลีและฉีกลงครก เอาพริกและกระเทียมที่เผาไฟโขลกรวมกันกับเกลือสองสามเม็ด ไม่นานข้าวสุก พี่หลงหาจานเก่าๆ บนกระท่อมมาคดข้าว ชวนเด็กสองคนที่เป็นพ่อครัวจำเป็นมาร่วมวง ไม่มีผัก ไม่มีกับข้าวอื่นๆ เราล้อมวงกินข้าวคลุกน้ำพริกหัวปลีต้มด้วยมือกันอย่างเอร็ดอร่อย อร่อยจริงๆ บนภาชนะเก่าคร่ำสกปรก กับเด็กมอมแมมมือเปื้อนดำสองคน

ความเผ็ดของน้ำพริกป่าแท้ๆ ข้าวไร่หอมกรุ่น นำมิตรภาพและน้ำจิตน้ำใจเข้าไปหล่อเลี้ยงชีวิตหนุ่มเมืองที่บังเอิญหลงมาอีกโลกหนึ่งอย่างไม่มีวันลืม มีแรงเพื่อไปเรียนรู้เรื่องป่ากับลุงหม่องเปต่อในตอนบ่าย

บ่ายวันนั้นผมไปนั่งคุยกับลุงหม่องเปสารพัดเรื่องทั้งความเป็นมา วัฒนธรรม ความเชื่อ ลุงเองเป็นปัญญาชนอยู่กลางป่า ได้รับการศึกษาจากวัดกะเหรี่ยง และผู้เฒ่าผู้แก่ จากนั้นก็เคยเข้าร่วมสงครามปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีมาแล้วตั้งแต่เป็นหนุ่มได้เรียนทฤษฎีต่างๆ มาจากนักศึกษาและครูจากเมืองจีน เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ กันจนเย็นกว่าจะเดินทางกลับมาที่บ้านเพื่อเตรียมตัวเดินทางไกลในวันรุ่งขึ้นไปยังหมู่บ้านจะแกที่ห่างออกไปอีกราวๆ วันหนึ่ง

ลุงหม่องเปบอกว่าถือโอกาสไปหาเพื่อนที่จะแกด้วยไม่ได้ไปมาหลายปี ตอนเช้าแกเอาห่อยาเส้นใส่ถุงพลาสติกห่ออย่างดี บอกว่าเอาไปฝากลุงหม่องโทงอุ๊ ผู้อาวุโสรุ่นแก่กว่าแก เพราะที่บ้านจะแก ยาเส้นคุณภาพไม่หอมสู้ของบ้านทิไล่ป้าไม่ได้ ลุงไม่มีสัมภาระอะไรนอกจากย่ามเล็กๆ ใบนั้น เดินนุ่งโสร่งนำลงบ้านสวมรองเท้าแตะแบบหนีบเก่าๆ นี่คือชุดที่จะพาผมเดินป่าไปอีกหนึ่งวันของลุง

เมื่อผมมองเห็นลุงเตรียมตัวแบบนั้น ผมวางเป้ที่เตรียมไว้ลง หยิบของจำเป็นสองสามอย่างใส่ย่าม ที่ใช้เมื่อวาน เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดขาสั้นที่ใช้เมื่อวาน และหยิบโสร่งกะเหรี่ยงและผ้าขาวม้ายัดลงในย่าม เดินตามลุงและพี่หลงดุ่มออกไป

ระหว่างทางเดินป่า ผมสังเกตจังหวะการเดินของผู้เฒ่าอายุหกสิบกว่าร่างผอมเกร็ง ที่มั่นคงไปกับรองเท้าแตะ แม้ต้องบุกป่าปีนหิน ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค โสร่งกะเหรี่ยงสามารถเดินลุยข้ามน้ำได้โดยไม่เปียก เมื่อถกสูงขึ้นตามระดับน้ำ เมื่อผ่านทางแฉะลื่น ผมสังเกตว่าลุงหม่องเป จะถอดรองเท้าแตะด้วยความเร็วที่แทบสังเกตไม่ทัน ใช้เท้าเปล่าลุยโคลน และเช็ดกันไปมาเมื่อผ่านและสวมรองเท้าแตะเดินต่อ แกทำได้โดยไม่ต้องให้ผมและพี่หลงต้องหยุดรอ ในขณะที่พี่หลงกับรองเท้ายางชาวบ้านของแกไม่มีปัญหาในทุกสถานการณ์อยู่แล้ว แน่นอนว่ารองเท้าผ้าใบของผม ทั้งลื่น เจ็บ เปียกชุ่ม

เราเดินทางไปถึงหมู่บ้านจะแกตอนบ่อยเกือบเย็นด้วยทางลัดที่ลุงพาตัดขึ้นภูเขาไป ลุงแยกย้ายไปหาญาติมิตร ผมกับพี่หลงขิ่งโพ่ เดินทางไปคุยกับผู้นำหมู่บ้าน แจ้งความประสงค์ที่จะมาทำความรู้จัก และปรึกษาหารือเรื่องงาน

ไม่น่าเชื่อว่าพอรู้ว่าผมเดินเท้าเข้ามาสามสี่วัน และยังมาพร้อมกับลุงหม่องเป การหารือข้อขัดข้อง และความไม่ไว้วางใจของผู้คนที่นั่นต่อโครงการที่เราทำล้วนดูผ่อนเบาลง และเมื่อผมสามารถอธิบายเรื่องราวของไร่หมุนเวียนที่ผมเรียนรู้มาให้ผู้นำชุมชนฟัง ก็ดูว่าพวกเขาก็เข้าใจผม และสิ่งที่เราจะเข้ามาช่วยแก้ไขความขัดแย้ง และอาสาเป็นคนกลางที่จะสำรวจพื้นที่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของทางราชการ

สองวันต่อมาผมเดินกลับมาบ้านทิไล่ป้าพร้อมลุง เสื้อผ้าที่เตรียมไปเท่านั้นพอดีกับที่จะใช้ สภาพของผมคงเริ่มกลมกลืนกับพี่น้องชาวบ้าน การพูดคุยต่างๆล้วนราบรื่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในราวสองปีของการเข้ามาทำงาน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในช่วงที่ผมเข้ามาก่อนหน้านี้หลายครั้งบนพาหนะที่เป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันโตมาจอดกลางหมู่บ้านที่ไม่มีรถยนต์เลย พร้อมสัมภาระที่คงจะน่าหัวเราะของชาวบ้าน ทำไมการหารือการทำงานจึงไม่สำเร็จ ต่างจากการดุ่มเดินเข้ามาคนเดียวพร้อมคนที่เขาคุ้นเคย

ผมรู้แล้วว่าอุปสรรคการทำงานเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเมื่อเปลี่ยนอาชีพจากอาจารย์หนุ่มจากมหาวิทยาลัยออกมาทำงานอนุรักษ์ในป่ากับชุมชนแบบนี้คืออะไร

 

ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร #30thSeub ภายใต้คอนเซ็ปต์ 30 ปีงานอนุรักษ์ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” บรรณาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ จับพู่กันวาดภาพสีน้ำลากเส้นความทรงจำการทำงานในผืนป่าตะวันตกตลอดระยะที่ผ่านมา ประกอบเรื่องเล่า พาเราไปพบเจอผู้คนที่เกี่ยวพันธ์กับงานรักษาผืนป่า

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ ก่อนจะถึง 30 ปี – บันทึกการทำงานในผืนป่าตะวันตกจากศศิน เฉลิมลาภ


เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เนื้อหาส่วนใหญ่เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ไฟป่า” ในนิตยสาร a day ปี 2558 และรวมเล่มในหนังสือ “ไฟป่า” โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี 2560