การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนี่ยแหละคือสงครามโลกครั้งที่สาม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนี่ยแหละคือสงครามโลกครั้งที่สาม

สงครามโลกครั้งนี้จะไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อีกต่อไป แต่จะเป็นการต่อสู้ของมนุษย์เพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน และทวงคืนโลกแบบเดิมกลับมา โลกที่สวยงามและน่าอยู่

ในปี ค.ศ. 1896 นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) ได้ทำการทดลองว่าการที่มีก๊าซดูดซับความร้อนอยู่ในชั้นบรรยากาศจะส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกหรือไม่ เขาคำนวณว่าหากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า (จากตอนนั้น) อุณหภูมิทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส และจะมากกว่า 5 องศาเซลเซียสที่บริเวณขั้วโลก

ศตวรรษถัดมาพวกเราก็ได้ทำการพิสูจน์การทดลองให้อาร์เรเนียสว่ามันเป็นจริง หากเรายังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจกับปัญหาโลกร้อน โลกจะอุ่นขึ้น 4.8 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนยุคอุตสาหกรรม

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั้งนักฟิสิกส์ นักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ ได้กล่าวว่าการที่รัฐบาลของประเทศยังไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีแก้ปัญหาที่ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร 

นักวิทยาศาสตร์จึงได้เสนอแนวทางมา 4 ข้อ เพื่อเป็นอาวุธหลักสำหรับรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการเตือนถึงผลกระทบมาหลายศตวรรษแล้วก็ตาม

1. ปลูกต้นไม้เยอะ ๆ

การปลูกต้นไม้มีศักยภาพมหาศาลในการรับมือกับวิกฤติการการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ การวิจัยได้กล่าวว่า ถ้าทั่วโลกมีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นรวมกัน 9 ล้านตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นป่าอยู่แล้ว จะสามารถดูดซับปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลกได้ถึง 25% และยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำฝนกับทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง

ยกตัวอย่าง เช่น โครงการ Gondwana link ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้ทำการเชื่อมโยงป่าเล็กที่อยู่แยก ๆ กัน ให้เป็นระบบนิเวศของป่าพุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งมีระยะทางยาวถึง 1,000 กิโลเมตร ด้วยการปลูกป่าเชื่อมต่อกัน

แต่ตรงข้ามกันในขณะนี้กลับเป็นกิจกรรมการถางป่าเพื่อการใช้ทรัพยากรป่าไม้ และความต้องการใช้พื้นที่ที่เกิดมากขึ้นทั่วโลก ควรจะมีโครงการปลูกต้นไม้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อที่จะลดปริมาณคาร์บอนอย่างจริงจัง โดยงบในการปลูกสามารถนำมาจากการเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของธุรกิจต่าง ๆ 

ควรมีการปลูกป่าเพิ่มขึ้นให้มากเพื่อเป็นแหล่งดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

2. เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นหิน

กระบวนการที่ทำให้คาร์บอนกลายเป็นหินคือกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นในการสร้างเปลือกของหอย และการเกิดหินปูน โดยจะเปลี่ยนคาร์บอนในรูปคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นคาร์บอนในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต

ได้มีการพยายามเลียนแบบกระบวนการนี้โดยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากปล่องควันของโรงงานแล้วนำมาผ่านน้ำที่มีเกลือ และความร้อนจนเกิดเป็นตะกอนขึ้น หรือมีอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งใช้แบคทีเรียบางชนิดที่มีความสามารถในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์

จากการศึกษาพบว่าวิธีนี้มีความสามารถในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณที่มาก ถ้ามีวิธีและอุปกรณ์ที่เหมาะสม ตอนนี้ควรมีการสนับสนุนงานวิจัยที่จะพัฒนากระบวนการนี้ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และเหมาะสมในเชิงพาณิชย์

3. การทำให้พื้นผิวโลกมีความสามารถในการสะท้อนแสงมากขึ้น

ทฤษฎีนี้ง่าย ๆ เลย คือถ้าพื้นผิวมีความสามารถในการสะท้อนพลังงานมากขึ้น โลกก็จะดูดซับพลังงานน้อยลง และนั่นหมายความว่าพลังงานที่เปลี่ยนจากพลังงานแสงเป็นพลังงานความร้อนก็จะน้อยลงเช่นกัน ซึ่งนั่นจะทำให้อุณหภูมิโลกนั้นเย็นลง

วิธีนี้ทำได้ง่าย ๆ โดยการทาสีหลังคาให้เป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีที่ดูดพลังงานได้น้อยที่สุด ในระดับที่ใหญ่ขึ้นเราสามารถทำให้ถนนมีสีอ่อนลงได้โดยการผสมหินปูนเข้าไปมากขึ้น หรือการปลูกพืชที่มีสีโทนเย็น ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เมืองที่เราอาศัยอยู่นั้นมีอุณหภูมิลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

จากการศึกษาได้บอกว่าการที่เมืองเปลี่ยนจากพื้นผิวที่มีสีเข้มมาเป็นสีอ่อนนั้นจากช่วยลดค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองลงได้มากถึง 3 องศาเซลเซียส

วิธีดังกล่าวยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้จากการลดการใช้พลังงานในทางอ้อม เช่น ถ้าบ้านมีอุณหภูมิที่เย็นลง เครื่องปรับอากาศก็จะทำงานหนักน้อยลงซึ่งนั่นหมายถึงการที่จะใช้ไฟฟ้าน้อยลงอีกด้วย

สีขาวของเมืองซานโตรินีในประเทศกรีกสามารถช่วยสะท้อนแสงแดดได้ดี ผลที่ได้คือเมืองที่มีอุณหภูมิไม่สูง

4. จัดระเบียบการขนส่งใหม่

กลไกทางเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษน้อยลง และการใช้เชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยลง

ในปี ค.ศ.2015 อุตสาหกรรมการขนส่งระหว่างประเทศได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 800 เมกะตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงกลาง ๆ ของคริสต์ศตวรรษนี้

งานวิจัยได้เสนอว่าสำหรับเรือเดินสมุทรทุกลำที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ควรจะลดความเร็วลงจากเดิมที่เคยกำหนดไว้อีก 20% เพื่อลดการใช้พลังงาน และมีการเสนอแนวคิดใช้เก็บภาษีการเทียบท่าตามความเร็วที่เรือแล่นด้วย (ตรวจสอบผ่านดาวเทียมได้)

ในประเทศนอร์เวย์ได้ใช้วิธีการให้สิทธิพิเศษ เช่น การยกเว้นภาษีการขาย และการจอดรถฟรีในบางพื้นที่ สำหรับผู้ที่ใช้ยานพาหนะที่ไม่ปล่อยมลพิษ เช่น ยานพาหนะพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมันได้ผลมาก ประชาชนหันมาใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในเดือนมีนาคมปี ค.ศ.2019 รถยนต์ใหม่เกือบ 60% ที่จำหน่ายในนอร์เวย์ใช้พลังงานจากไฟฟ้า

เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด ควรได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และเหมาะสมในเชิงพาณิชย์

การบังคับให้เรือเดินสมุทรแล่นช้าลงจะทำให้การใช้พลังงานในการเดินเรือลดลงได้ ผลคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง

เรื่องอื่น ๆ 

มีอีกหลายปัจจัยที่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น การเกษตรที่ผิด และการเกิดไฟป่า ถ้ามีการควบคุมที่ดีของทั้งสองประเด็นนี้ก็จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ

สุดท้ายนี้สงครามก็ต้องกองบัญชาการรบ เพื่อที่จะกำหนดทิศทาง ให้ข้อมูลและประสานงานความร่วมมือหน่วยงานด้านต่าง ๆ การรบครั้งนี้ไม่ใช่แค่ทหารที่เป็นกองกำลังหลักแต่รวมถึงประชาชนด้วย การที่จะทำให้ประชาชนมาร่วมรบในครั้งนี้ รัฐบาลควรให้ข้อมูลต้นทุนผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทุก ๆ สินค้า และบริการว่าผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ที่เราบริโภคนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไร และก็ควรเรียกเก็บภาษีตามผลกระทบนั้นด้วย

เทคโนโลยีบางอย่างที่ถูกบอกว่าแพงไป หรือเสี่ยงไปที่จะนำมาใช้ แต่ภายใต้การสนับสนุน และดูแลจากภาครัฐ และประชาชน เทคโนโลยีนั้น ๆ อาจจะมีประโยชน์ในอนาคตก็ได้ ที่สำคัญคือภาครัฐต้องซื่อสัตย์ และทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี เพื่อที่ประชาชนจะได้สนับสนุน และทำตามนโยบายของรัฐได้อย่างเต็มที่ และเต็มใจ

ในขณะที่ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเริ่มที่จะลงมืออย่างจริงจังได้แล้ว ถ้ายังอยากจะชนะสงครามโลกครั้งนี้

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก We must fight climate change like it’s World War III – here are 4 potent weapons to deploy
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร