ภูมิปัญญาการทอผ้า กับงานรักษาผืนป่า

ภูมิปัญญาการทอผ้า กับงานรักษาผืนป่า

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนในทุกๆ ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จะจัดนิทรรศการแสดงผลงานภายใต้โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก

โครงการนี้เป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่พื้นที่อนุรักษ์และรอบข้าง ให้สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว โดยไม่สร้างผลกระทบต่อป่า

หรือกล่าวอีกอย่างคือ เป็นงานสร้างอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่า เพื่อให้ คนอยู่ได้ ป่าอยู่ และสัตว์ป่าก็อยู่ได้

หากท้าวความถึงที่มาของโครงการ คงต้องย้อนไปตั้งแต่ครั้งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (โครงการจอมป่า) พ.ศ. 2547 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่กลางป่ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลกฎหมาย

แม้โครงการจะสำเร็จลุล่วงในการกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน ควบคุมขอบเขต วางกฎเกณฑ์กติกาการใช้พื้นที่ เพื่อมิให้มีการคุกคามผืนป่าไปมากกว่าเดิม

แต่ความยั่งยืนของผืนป่าจะเกิดขึ้นได้ ชุมชนจำเป็นต้องอยู่ได้ด้วย

จึงที่มาของการเริ่มต้นโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า ดำเนินควบคู่ไปกับโครงการจอมป่าในระยะที่ 2 พ.ศ.2553-2557

 

กลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ ในโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการลดใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าต้นน้ำ
บุญเลิศ เทียนช้าง เจ้าของศูนย์เรียนรู้ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุทัยธานี เป็นหนึ่งในแนวร่วมสำคัญของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการพื้นที่รอบบ้านอย่างยั่งยืนโดยสามารถสร้างผลผลิตได้พอกินพอขายและไม่เป็นการรบกวนผืนป่า

 

โครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า เป็นการสนับสนุนการสร้างรายได้จากอาชีพดั้งเดิมและทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่เดิม ทั้งทางด้านผลผลิตที่ไม่ใช่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตลอดองค์ความรู้ทางภูมิปัญญา นำมาประยุกต์เป็นงานสร้างรายได้ เพื่อให้ชุมชนลดการพึ่งพิงป่าให้มากที่สุด

ผลผลิตของโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า คือ เกิดกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มปลูกสมุนไพรอินทรีย์ กลุ่มปลูกกาแฟ กลุ่มบ้านเรียนรู้หรือครอบครัวเรียนรู้ (ครอบตัวตัวอย่างในการดำรงวิถีชีวิตอย่างพอเพียง และบริการจัดการพื้นที่ทำกินของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด) โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นผู้ดำเนินงาน สนับสนุนองค์ความรู้ มีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ มูลนิธิสืบฯ จึงได้ต่อยอดโครงการดังกล่าว และเกิดโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ซึ่งนอกจากให้ชุมชนสามารถเป็นมิตรกับผืนป่าได้แล้ว กลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา ยังต้องพึ่งพาตนเองได้ด้วย

กล่าวคือ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มต่างๆ ให้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ไปจนถึงการพัฒนาช่องทางการขายได้เอง

โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 มีกำหนดโครงการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 มีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

 

การลงนามบันทึกข้อตกลงทำโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ระหว่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558

 

สำหรับการจัดนิทรรศการแสดงผลงานภายใต้โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้วนั้น ในแต่ละปี มูลนิธิสืบฯ จะนำผลผลิตของโครงการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาโชว์ เช่นในปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบฯ นำเสนอผลงานกลุ่มกาแฟจอมป่าเป็นเนื้อหาหลัก

สำหรับในปีนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเรื่องราว ผ้าทอจอมป่า อีกหนึ่งผลงานที่กำลังสร้างตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจและกำลังเติบโตในเรื่องการจัดการตัวเอง

กลุ่มผ้าทอจอมป่าเกิดจากการรวมตัวของหญิงสาวชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและโผล่วที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จากหลายหมู่บ้าน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 คน

 

สมาชิกกลุ่มผ้าทอจอมป่า

 

จุดเด่นของกลุ่มผ้าทอจอมป่า คือ การฟื้นคืนวิถีการทอผ้าภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน มาประยุกต์เป็นงานสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ผ่านลวดลายเฉพาะถิ่น และการย้อมด้ายแบบธรรมชาติทำให้ผ้าที่ทอออกมาสีสันไม่ฉูดฉาด แต่ให้ความรู้สึกสบายตาและเป็นธรรมชาติเอามากๆ แต่ก็มีบางส่วนที่เน้นสีสันผ่านการย้อมด้วยสีเคมีตามรสนิยมและความชอบส่วนบุคคลปะปนกันไป

ในแต่ละปี สมาชิกจะผลิตผลงานออกมา มีทั้งแบบทอคนเดียวทั้งผืน หรือเป็นผืนใหญ่ช่วยกันทอหลายๆ คน จนเสร็จเป็นผลงานพร้อมจำหน่าย นอกจากจะเป็นรายได้แก่ครอบครัวของคนทอแล้ว ทางกลุ่มยังมีการบริหารจัดงานเงินทุนเป็นของตัวเอง

จากเดิมที่ตั้งต้นมูลนิธิสืบฯ ช่วยสนับสนุนงบประมาณด้านสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่องานทอผ้า วันนี้ทางกลุ่มได้เริ่มบริหารการเงินโดยนำรายได้บางส่วนหักมาเก็บไว้ในกองทุนกลุ่มผ้าทอเพื่อเป็นต้นทุนในการหาทรัพยากรที่ต้องการมาทำงาน

แต่ที่มากไปกว่านั้น นอกจากหักรายได้มาไว้ในกองทุนแล้ว อีกส่วนหนึ่งของรายได้ยังแบ่งไว้สำหรับการบริการจัดการด้านการดูแลทรัพยากรของชุมชน เป็นกองทุนให้คณะกรรมการหมู่บ้านที่ออกมาทำงานลาดตระเวนร่วมรักษาป่าได้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายการเดินลาดตระเวนหรือเป็นค่าเสบียงระหว่างการทำงาน

นอกจากมีรายได้แล้ว ก็ยังแบ่งปันบางส่วนไว้สำหรับงานรักษาป่า ดังที่กล่าวไปข้างต้น ว่าป่าจะอยู่ได้ คนก็ต้องอยู่ได้ด้วย

 

ตัวอย่างผ้าทอที่นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในปีนี้

 

วันนี้ของกลุ่มผ้าทอจอมป่า นอกจากจะมีสมาชิกกลุ่มซึ่งอยู่ที่อุ้มผางแล้ว มูลนิธิสืบฯ กำลังวางแผนเพื่อดำเนินงานขยายกลุ่มในรูปแบบของเครือข่าย ประสานการทำงานกับกลุ่มทอผ้าท้องถิ่นกลุ่มอื่นๆ ทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก ซึ่งได้เริ่มสร้างเครือข่ายกับกลุ่มทอผ้าที่จังหวัดอุทัยธานีไปแล้ว และกำลังขยายไปสู่กลุ่มทอผ้าที่หมู่บ้านจะแก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่ง

เพื่อที่อนาคตจะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการทอผ้า ตลอดจนการบริหารจัดการ รวมถึงเป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

นี่เป็นเพียงการกล่าวเนื้อหานิทรรศการผ้าทอจอมป่าอย่างย่นย่อ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้ามาร่วมชมงานได้ใน งานแสดงนิทรรศการและผลงาน โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ตอน ผ้าทอจอมป่า จากภูมิปัญญาสู่การรักษาป่าใหญ่ ระหว่างวันที่ 23 – 27 เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ บริเวณหน้าหอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน

หรือติดตามผลงานต่างๆ ได้ที่ เฟสบุ๊ค ผ้าทอจอมป่า ผลิตภัณฑ์ชุมชนในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารของกลุ่ม รวมถึงสามารถสนับสนุนผลงานผ้าทอผ่านช่องทางนี้ได้อีกด้วย

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่ผ่านบัตรสะสมแต้มบางจาก

 


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร