สังคมป่าไผ่

สังคมป่าไผ่

ไผ่ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีลำต้นสูงและมักอยู่รวมกันเป็นกอขนาดใหญ่ ไผ่อยู่ในพืชตระกูลหญ้าและถือได้ว่าเป็นต้นหญ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั่วโลกมีไผ่มากกว่า 1,000 ชนิด ในประเทศไทยพบไผ่มากกว่า 60 ชนิด

ไผ่สืบพันธุ์โดยการแตกหน่อ หน่ออ่อนของไผ่เป็นอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งมนุษย์ นอกจากส่วนหน่อมนุษย์ยังนำส่วนใบมาห่อขนม ลำต้นสร้างบ้านทำหลังคา ต่อแพ หรือแม่แต่ทำข้าวหลาม ไผ่แต่ละกอมีอายุประมาณ 50-60 ปี สัตว์หลายชนิด เช่น หมู เม่น อ้น เก้ง กวาง กระทิง ชอบกินรากไผ่ ส่วนใบไผ่และยอดอ่อนเป็นอาหารหลักของช้าง เมื่อกอไผ่ออกดอกหรือที่เรียกกันว่าไผ่ออกขุย แสดงว่าไผ่จะตายลง เมล็ดไผ่จะดึงดูดบรรดาสัตว์กินเมล็ดให้มารวมกัน โดยเฉพาะไก่ป่าและไก่ฟ้ารวมถึงกระรอก เมื่อเมล็ดไผ่ลงสู่พื้นดินไผ่ทั้งกอจะค่อย ๆ เหี่ยวและตายลงทั้งหมด และบริเวณนั้นจะเต็มไปด้วยกล้าไผ่ขนาดเล็กขึ้นกันอย่างหนาแน่น ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์กินพืชหลายชนิด เช่น วัวแดง เก้ง กวาง และต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าไผ่ต้นเล็ก ๆ จะเติบโตขึ้นเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่า

ในปัจจุบันไผ่เป็นทรัพยากรป่าไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้น ตั้งแต่หน่อ ลำต้น ใบ ดอกและผล (เมล็ด) เช่น หน่อไม้ ใช้เป็นอาหาร ลำไม่ไผ่ใช้สร้างที่พักอาศัย ข้างของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือจับสัตว์น้ำหลายชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมโดยปลูกไผ่เพื่อส่งอุตสาหกรรมกระดาษ และยังช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ไผ่เป็นพืชที่เติบโตได้ในดินทุกประเภท แต่ที่เหมาะสมคือดินร่วนปนทราย การเพาะพันธุ์ไผ่นั้นทำได้ไม่ยากโดยมีขั้นตอนคร่าว ๆ ดังนี้

  1. เตรียมพื้นที่ในการปลูกในช่วงฤดูแล้ง ปรับพื้นที่ให้เรียบเตียน ไถพรวนกำจัดวัชพืช
  2. ลงมือปลูกในช่วงฤดูฝนจนถึงปลายเดือนมิถุนายน
  3. ระยะที่ปลูกขึ้นอยู่กับขนาดของไผ่และสภาพของดิน เช่น ไผ่ตง ระยะปลูกคือ 6-8 คูณ 6-8 เมตร
  4. เตรียมหลุมปลูก ขนาดหลุม กว้างxยาวxลึก ไม่น้อยกว่า 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
  5. 5. การปลูก ให้นำต้นกล้าไผ่ปลูกตรงกลางหลุมที่เตรียมไว้ ใช้ไม้ปักเป็นหลักยึดกล้าไผ่เพื่อป้องกันลมโยก แล้วรดน้ำตามทันทีเพื่อช่วยให้เม็ดดินกระชับราก

ไผ่เป็นพืชที่เหมาะสมในระบบเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นการพึ่งพาตนเองทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย รวมถึงยาและเครื่องนุ่งห่ม เป็นพืชที่ช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดป่าช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ และไผ่สามารถพัฒนาเป็นอาชีพจากระดับพอมีพอกินให้เป็นระดับอยู่ดีมีสุขในรูปแบบอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

 

 

ดูรายละเอียดเส้นทางศึกษาธรรมชาติมออีหืดเพิ่มเติม


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร